นายกฯ ลั่น! ใช้ทุกช่องทางช่วย “ตัวประกัน” เช่าแอร์บัส 380 ขนคน สิ้นเดือนต้องกลับได้หมด
“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี เข้า กระทรวงต่างประเทศ เกาะติดอพยพคนไทยจากอิสราเอล ยอมรับสถานการณ์แย่ลง กำหนดแนวทางอพยพคนไทยให้ได้วันละ 200-400 คนต่อวัน ยืนยันเร่งช่วยเหยื่อตัวประกัน ประสานทุกช่องทางขออย่าหมดหวัง
วันที่ 15 ต.ค.2566 เวลา 15.10 น. ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางมายังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเป็นประธานการประชุมเพื่อเตรียมการอพยพคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลในเวลา 16.00 น. โดย นายเศรษฐาได้เดินทางมาถึงก่อนเวลา เพื่ออัพเดทสถานการณ์กับ นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนเริ่มประชุมอย่างเป็นทางการ ที่ได้เข้าสู่วันที่ 9 ของภาวะสงคราม และติดตามการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทย ที่ยังตกค้าง และได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามในพื้นที่ และกำลังรอการอพยพกลับประเทศไทย รวมถึงแนวทางความชัดเจนในการจัดเที่ยวบิน เพื่ออพยพคนไทยให้ได้วันละ 200-400 คน และแนวทางการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน
การประชุมในครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ ผู้แทน และ หน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมการประชุมด้วย อาทิ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, กองบัญชาการกองทัพไทย, กองทัพอากาศ, อธิบดีทุกกรมในสังกัดกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติเป็นต้น
ขณะเดียวกัน ยังมีการเชื่อมสัญญาณการประชุมทางออนไลน์ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเทลอาวีฟประเทศอิสราเอล รวมถึงสถานเอกอัครราชทูตไทย, สถานกงสุลใหญ่ไทยในบางประเทศแถบตะวันออกกลาง, ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล
นายกฯ กล่าวว่าถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่เราต้องติดตามงานอย่างใกล้ชิด และให้ความสำคัญเรื่องนี้สูงสุดไม่ว่าจะเป็นกระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศกระทรวงสาธารณสุข กองทัพไทยและเอกชนทุกรายไม่ว่าจะเป็น นกแอร์ แอร์เอเชียและการบินไทยและอีกหลายๆคนที่ไม่ได้กล่าวถึง
นายณัฐพล ขันธหิรัญ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ รายงานว่า วันนี้เป็นการประชุมเกี่ยวกับการอพยพคนไทยในสถานการณ์อิสราเอล ขอรายงานแผนอพยพ มีสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นโดยตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่ม 4 ราย รวมมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 28 รายผู้ได้รับบาดเจ็บ 16 รายและผู้ที่ถูกลักพาตัว 17 ราย
จากนั้นเวลา 16.30 น. นายเศรษฐา แถลงภายหลังการประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมสถานการณ์ความไม่สงบที่อิสราเอล มีตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 4 ราย การประชุมเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ว่าเราให้ความสำคัญสูงสุดกับการลำเลียงคนไทยที่มีความประสงค์จะเดินทางออกจากประเทศอิสราเอลให้ได้เร็วที่สุด และรายงานเที่ยวบินออกจากอิสราเอล ซึ่งตนเองมีตารางบินในมือ
โดยภายในสิ้นเดือนนี้ จะมีสายการบินรับคนไทยทั้ง นกแอร์ แอร์เอเชีย การบินไทย และสไปซ์เจ็ททั้งหมดทั้งสิ้น 32 เที่ยวบิน รวม 5,700 คน ซึ่งยังไม่พอเพราะตอนนี้มีคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับประมาณ 7 พันกว่าคนและตัวเลขมากขึ้นเรื่อยๆ จึงกังวลเรื่องการลำเลียงคนออกมายังเป็นปัญหาอยู่ เพราะการต่อสู่ยังไม่จบ ขณะนี้อิสราเอลยังเลื่อนการโจมตีทางบกไปอีกวันถึงสองวัน เป็นที่คาดว่าหากมีการโจมตีทางบก การต่อสู้ก็จะรุนแรงขึ้น ตรงนี้ต้องระมัดระวัง เรื่องการลำเลียงคนทางบก หรือ ทางเรือ เรียกว่าประตูปิดแล้ว เพราะท่าเรือที่อิสราเอลตอนนี้ปิดไปแล้ว ไม่สามารถออกมาได้ จึงต้องพึ่งทางอากาศอย่างเดียว ตอนนี้ทางสถานทูตไทยประจำอิสราเอลทำงานอย่างเต็มที่ สามารถนำคนมาอยู่ในศูนย์พักพิงได้วันละประมาณ 400 คน ฉะนั้นถือเป็นตัวเลขที่ดี แต่ถึงอย่างไรเรายังมีเครื่องบินไม่พอ เป็นอะไรที่น่าเป็นห่วงอยู่ ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ยังถือว่าสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่น่าไว้วางใจ เพราะสถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้นเลย
นายเศรษฐา กล่าวว่า เรื่องของเอกสารของแรงงานชาวไทยอาจทำหายหรือมีมาไม่ครบ ทางสถานทูตได้อำนวยความสะดวกให้เข้ามาศูนย์พักพิงและทำเอกสารรับรองให้สามารถบินได้ เป็นการอำนวยความสะดวก ซึ่งทำได้วันละประมาณ 200 ราย ถือว่าเรื่องเอกสารไม่ใช่ปัญหา ส่วนการลำเลียงคนด้วยเครื่องบินขณะนี้มี 2 ช่องทาง คือ บินตรงจากอิสราเอลมากรุงเทพฯ กับการไปพักที่ดูไบ จอร์แดน สาธารณรัฐไซปรัส แล้วนำเครื่องบินไปรับอีกช่วงหนึ่งเพื่อเร่งนำคนออกจากอิสราเอลให้ได้โดยเร็ว สำหรับแรงงานที่เดินทางกลับมาไทยแล้วทางรมว.แรงงาน แจ้งแล้วว่าจะดูแลอย่างดีที่สุด มีเงินเยียวยา และพยายามหาแหล่งทำมาหากินแห่งใหม่ให้ได้โดยเร็วที่สุด
นายกฯ กล่าวถึงจำนวนตัวประกันว่ามี 17 คน เราใช้ 4 ช่องทางพยายามติดต่อนำตัวประกันกลับมาให้ได้อย่างปลอดภัยและเร็วที่สุด โดยใช้ช่องทางทางการทูต หน่วยข่าวกรอง ซึ่งมีการคุยกันระหว่างข่าวกรองต่างประเทศและการทหารนอกจากนี้ ยังใช้ช่องทางที่ไม่เป็นทางการ ภาคประชาคมหรือเอ็นจีโอ ที่มีเครือข่ายอยู่ในประเทศต่างๆ ตรงนี้เป็นเรื่องที่เราพูดคุยมาโดยตลอด โดยกต.พูดคุยกับทุกฝ่าย ทั้งปาเลสไตน์และอิสราเอล เพื่อขอคนของเราให้กลับมาได้ปลอดภัยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตามสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่เป็นที่ไว้วางใจ แต่ทุกคนที่อยู่ที่นี้และกองทัพไทย พยายามหาช่องทางเพิ่มมากขึ้น ในการเพิ่มเที่ยวบิน เอาคนไทยกลับมาให้ทันในสิ้นเดือนนี้ให้หมด
เมื่อถามว่า จนถึงขณะนี้มีปัญหาอะไรน่ากังวลใจที่สุด นายเศรษฐา กล่าวว่า มี 2-3 ปัญหา ปัญหาแรกคือการนำคนจากจุดเสี่ยงมาสู่ศูนย์พักพิงและเดินทางเข้าสู่สนามบินพร้อมออกเดินทาง และเรื่องของเที่ยวบินที่จะนำเข้าไปได้ ในที่ประชุมผู้ใหญ่หลายท่านเสนอเข้ามาให้เช่าเครื่องบินเพิ่มเติม และหลายคนที่ไปท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอาจเห็นเครื่องบินแอร์บัส 380 ที่จุคนได้ประมาณ 500 กว่าคน ถามว่าทำไมไม่เอาเครื่องดังกล่าวไปรับ ได้สอบถามการบินไทย ได้รับการชี้แจงว่าเครื่องบินเหล่านั้นจอดมานานต้องซ่อมบำรุง อีกทั้งนักบินไม่ได้บินนาน ตามกฎแล้วต้องไปฝึกอบรมเพิ่ม ต้องใช้เวลา จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่าเครื่องบิน 380 มา เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เราดูอยู่
เมื่อถามว่า ตัวประกันที่ถูกจับทั้ง 17 คน จากการประสานช่องทางการทูตกับอิสราเอล ทั้งหมดยังปลอดภัยใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ณ วันนี้ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ เมื่อถามย้ำว่ายังไม่ได้รับคำตอบว่าตัวประกันจะได้ปล่อยตัวเมื่อไหร่ใช่หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ใช่ครับ แต่มีการคุยกันโดยตลอด โดยวันนี้นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ จะคุยกับบางประเทศเพื่อให้มั่นใจว่าตัวประกันจะปลอดภัย
เมื่อถามว่า จะให้ความมั่นใจกับครอบครัวตัวประกันที่ถูกจับเป็นตัวประกันอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า เราเห็นใจ แต่เรายังติดต่อไม่ได้จริงๆ เราใช้ทุกช่องทางอยู่แล้ว การที่ยังติดต่อไม่ได้ และยังไม่มีข่าวร้ายออกมาก็ถือว่าเรายังมีความหวัง เราทำเต็มที่ไม่ได้สิ้นหวัง
เมื่อถามว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตคนไทยที่สูงขึ้น จะทำให้เรามีการปรับท่าทีหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงท่าที เราเป็นประเทศที่อยู่ตรงกลาง จะไม่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง แต่เป็นที่น่าเสียใจที่เราเกิดความสูญเสียอันดับต้นๆ เพราะเรามีแรงงานอยู่ในประเทศนั้นเยอะ เขาคงไม่ได้เจาะจงมาทำร้ายคนไทยหรอก ตนเองคิดเช่นนั้น เราไม่มีส่วนในความขัดแย้ง เราพยายามช่วยเจรจาทั้งสองฝ่าย จุดมุ่งหมายของเราคือนำคนไทยที่เป็นตัวประกันออกมาให้ได้อย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุด ส่วนคนที่ไม่ใช่ตัวประกันและต้องการเดินทางกลับก็ต้องให้กลับมาให้ได้โดยเร็วที่สุด
เมื่อถามย้ำว่ายืนยันได้ใช่หรือไม่ว่าเราไม่ใช่ประเทศเป้าหมาย นายเศรษฐา กล่าวย้ำว่า “ไม่ใช่ครับ” เมื่อถามอีกว่า แต่แรงงานไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรที่ผลิตเสบียงป้อนกองทัพอิสราเอล จะทำให้เป็นเป้าในการโจมตีหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า แรงงานไทยไม่ได้เป็นชาติเดียวที่อยู่ตรงนั้น เชื่อว่าทางฮามาสไม่ได้เจาะจงที่แรงงานไทยโดยเฉพาะ.