“เศรษฐา”แถลงนโยบาย เดินหน้า “เติมเงินหมื่น” ฟื้นศก. ขายฝัน 4 ปีเกษตรกรเป๋าตุง

นายกฯแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ให้คำมั่น‘รัฐบาล’จะทำหน้าที่ซื่อสัตย์สุจริต ยึดประโยชน์ส่วนรวม-ประเทศเป็นที่ตั้ง โวมองเป้ายาวอยู่ 4 ปีวางโครงสร้างประเทศใหม่ ยึดหลักนิติธรรมเข้ม-น่าเชื่อถือ ยันปกป้องพิทักษ์สถาบันฯ ลุยงานด่วนหลัก‘แจกเงินดิจิทัล1หมื่น – ทำประชามติรื้อแก้รธน.’ ตามด้วย‘ลดละกำลังพล-เกณฑ์ทหารแบบสมัครใจ’ ล้างบางอิทธิพล-ยาเสพติดจริงจัง ปลดล็อกสุราพื้นบ้าน-ฟื้นผู้ว่าซีอีโอ เปิด4นโยบายศก.เร่งด่วนทำทันที ฟุ้งเกษตรกรเป๋าตุงใน4ปี

วันที่ 11 ก.ย.2566 เวลา 09.33 น.ที่รัฐสภา การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่5 เพื่อพิจารณาเรื่อง คณะรัฐมนตรี(ครม.)แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 121 โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม โดยมีสส. และสว. เข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียง

เวลา09.43น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ขึ้นกล่าวคำแถลงนโยบาย ตอนหนึ่งว่า คณะรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีความสอดคล้องกับหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ และหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ ปี2560 ตลอดจนยุทธศาสตร์ชาติ พุทธศักราช 2561-2580 เรียบร้อยแล้ว คณะรัฐมนตรีจึงขอแถลงนโยบายต่อรัฐสภาให้ทราบถึงเจตนารมณ์ ยุทธศาสตร์ และนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งสร้างความสามัคคี ปรองดอง ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครองของประเทศ ให้ก้าวหน้าเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยทุกคน

วันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองภายในประเทศ ซึ่งถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้กลายเป็นภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง แม้แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และยังไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ปัญหาสังคมและการเมืองยังคงยืดเยื้อ ฝังรากลึก และยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจของประเทศไทยกว่าร้อยละ 30.9 ของจีดีพี อยู่ในภาคอุตสาหกรรม กระจุกตัวอยู่ในไม่กี่หมวดสินค้า ปัจจุบันภาคการส่งออก มีมูลค่าติดลบติดต่อกัน 3 ไตรมาส และยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องมาจากทั้งปัจจัยภายใน ที่เน้นการรับจ้างผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นต้นถึงขั้นกลางที่ล้าสมัย ซึ่งกำลังถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า อ่อนไหวต่อการมาถึงของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด รวมถึงปัจจัยภายนอกที่เกิดจากสภาวะการแข่งขันในภูมิภาคและสภาพเศรษฐกิจ ของประเทศคู่ค้าทั่วโลก

“ยุคสมัยของเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ กำลังสิ้นสุดลงและได้เปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจโลกแบบแบ่งขั้ว เป็นความท้าทายใหม่ของการเปิดเสรีทางการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนที่ประเทศไทยได้เคยพึ่งพาปัจจัยเหล่านี้มาในอดีตความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างประเทศของชาติมหาอำนาจจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เป็นโจทย์ท้าทายที่ประเทศไทยจะต้องกำหนดบทบาทและวางตัวอย่างเหมาะสมในเวทีโลก เพื่อปกป้องผลประโยชน์ ส่งเสริมสันติภาพและสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนคนไทย” นายเศรษฐา กล่าว และ ว่า

ไทยกำลังเผชิญภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่าร้อยละ 90 ของจีดีพี ถือเป็นความเปราะบางของภาคประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจ ตลอดจนระดับ ของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่สูงกว่าร้อยละ61 มีแนวโน้มที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงจนอาจจะกลายเป็น ข้อจำกัดทางด้านการคลังและการบริหารประเทศในอนาคต สะท้อนให้เห็นว่า ศักยภาพในการสร้างรายได้ยังต่ำกว่าการใช้จ่าย ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ความเหลื่อมล้ำที่ทวีความรุนแรงขึ้น จนมีประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่รอการช่วยเหลือจากรัฐมากกว่า 14 ล้านคน อีกด้านหนึ่งคือของระบบเศรษฐกิจคือภาคการเกษตร ของประเทศไทยกว่า 10 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของกำลังแรงงาน ทำงานหนัก เพื่อเลี้ยงชีพแต่กลับสะท้อนออกมาเป็นมูลค่าเพียงร้อยละ 7 ต่อจีดีพี สะท้อนว่ารูปแบบการทางการเกษตรที่ยังคงพึ่งพาวัฏจักรธรรมชาติและมีประสิทธิภาพของผลผลิตต่ำ แต่ค่าใช้จ่ายในการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้เกษตรกรไทยมีหนี้สินเฉลี่ย ครัวเรือนละกว่า 3 แสนบาท

ในด้านการเมืองประเทศไทยได้เข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่านด้านกฎหมาย การเมือง และการปกครอง ที่ความเห็นต่าง การแบ่งแยกทางความคิด การไม่เคารพอัตลักษณ์และวัฒนธรรม ที่หลากหลาย ทาให้สังคมอยู่ในจุดที่น่ากังวล ข้อกฎหมายที่ไม่ทันต่อสถานการณ์บ้านเมืองกลายเป็นต้นเหตุของอุปสรรค ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันสินบน อาชญากรรม การหลอกลวงฉ้อฉล การพนัน และยาเสพติด ที่ทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นความสิ้นหวังของประชาชนที่มีต่อระบบการเมืองและระบบราชการ ของประเทศไทยเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาความยากจนความเหลื่อมล้า และความยากลาบากให้กับสังคมไทย ทำให้ประเทศไทยขาดความพร้อมที่จะเติบโต ได้อย่างเต็มศักยภาพ เกิดวิกฤตศรัทธาของประชาชน และกลายมาเป็นเป้าหมายของรัฐบาลนี้ ที่จะต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนสร้างความพร้อม และวางรากฐานเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า ให้กับคนไทยทุกคน

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายที่จะพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจ ที่ถูกต้อง และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งการดำเนินงานของประชาชนจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดาริอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนส่งเสริมสถาบันศาสนาให้เป็นกลไกในการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในการดาเนินชีวิต เพื่อแก้ปัญหา สร้างความพร้อม และวางรากฐานอนาคตให้กับคนไทยทุกคน รัฐบาลมีความจําเป็นที่จะต้องกระตุ้นการใช้จ่าย จุดประกายให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง เร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วนและรวดเร็ว กรอบระยะกลางและระยะยาว เสริมขีดความสามารถให้ประชาชนผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้า และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้กับประชาชนทุกคน

“สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประเทศไทยเปรียบเสมือนคนป่วยที่ได้รับผลกระทบ มากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในช่วงโควิด-19 ส่งผลให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของเราในหลากหลายส่วน ภาคการท่องเที่ยว การใช้จ่ายก็ฟื้นฟูได้ช้าจนมีความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย เป็นที่มา ของความจาเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย เพิ่มความเชื่อมั่นเพื่อดึงดูดการลงทุน และฟื้นฟูเครื่องยนต์เศรษฐกิจของเราอีกครั้ง”

นายเศรษฐา กล่าวถึงนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตว่า จะทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวน ที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง เราจะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ ที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าท่ีมากขึ้น นาไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ และเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกหลายรอบ รัฐบาลเองก็จะได้รับผลตอบแทน คืนมาในรูปแบบของภาษี

“นโยบายนี้จะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ เป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ สร้างโอกาสใหม่ๆให้กับประชาชน เปิดประตูให้ภาคธุรกิจได้เข้าถึงแหล่งทุนใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใสให้กับกลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล”

นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายเร่งด่วนอีก 4ข้อ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เร่งแก้ปัญหาช่วยเหลือประชาชนได้แก่ 1.การแก้ปัญหาหนี้สินภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนการเงิน สำหรับภาคประชาชนครอบคลุมถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนากลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ฟื้นตัวกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง

2.ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชน จะสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมทันที จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ วางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง และสำรวจแหล่งพลังเพิ่มเติม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

3.ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว สร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อสร้างงานให้ประชาชนจำนวนมาก จะเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวด้วยการอำนวยความสะดวกปรับปรุงขั้นตอนขอวีซ่า การยกเว้นเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่ากลุ่มนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเป้าหมาย การยกระดับประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้า งานเทศกาลระดับโลก ปรับปรุงสนามบิน และจัดการเที่ยวบินของสนามบินทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพ

4.การแก้ปัญหาความเห็นแตกต่างเรื่องรัฐธรรมนูญปี2560 ให้มีรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ รัฐบาลจะหารือแนวทางทำประชามติ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมออกแบบกติกาที่เป็นประชาธิปไตยทันสมัย เป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา ให้ประเทศเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงรัฐบาลจะสร้างความชอบธรรมการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง โปร่งใส เพราะการมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดและสังคมที่สำคัญของประเทศ ทำให้ประเทศมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือที่ใช้งบประมาณรัฐน้อยที่สุด แต่ได้ประสิทธิภาพมากสุดในการพัฒนาประเทศ

ส่วนนโยบายระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลมีแนวทางสร้างรายได้ โดยใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเปิดประตูสินค้าและการบริการของประเทศสู่ตลาดใหม่ๆอาทิ กลุ่มสหภาพยุโรป ประเทศตะวันออกกลาง อินเดียแอฟริกา อเมริกาใต้ การเร่งการเจรจากรอบความร่วมทางการค้าระหว่างประเทศ(FTA) ปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อดึงดูดการลงทุน การส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ อาทิ พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว การพัฒนาต่อยอดเขตเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจทั้ง4ภาค ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจกการค้าตามแนวชายแดน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางราง ทางอากาศ ตอบสนองความต้องการสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ของโลก ส่วนภาคการเกษตร จะสร้างรายได้ภาคการเกษตร โดยใช้หลักตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ โดยสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพภาคการเกษตร การหาตลาดให้สินค้าเกษตรได้ขายในราคาที่เหมาะสม การฟื้นอุตสาหกรรมประมงแก้ไขข้อกฎหมายให้เหมาะสม จะบริหารจัดการภาคการเกษตรที่ครบถ้วนทุกด้าน มีเป้าหมายทำให้รายได้เกษตรกรทั้งประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายใน 4ปี

นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายสร้างและขยายโอกาสให้ประชาชน โดยสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ เพื่อสร้างโอกาสการมีอาชีพ รายได้ จะเร่งดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดิน พิจารณาเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ให้เป็นโฉนด ให้นำไปต่อยอดเข้าถึงแหล่งทุนได้ รวมถึงการปลดล็อกแก้ไขกฎระเบียบ ข้อบังคับของรัฐที่เป็นข้อจำกัดของประชาชน เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนในการสร้างรายได้ เช่น การปลดล็อกกฎระเบียบสุราพื้นบ้านการบริหารรูปแบบการกระจายอำนาจ(ผู้ว่าฯซีอีโอ) เพื่อสร้างประสิทธิภาพการบริหารงานแต่ละจังหวัดให้ตอบสนองความต้องการประชาชนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยใช้เทคโนโลยีทันสมัยมาให้บริการ ขจัดช่องโหว่การทุจริตลดค่าใช้จ่าย ให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น การสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ (Solf Power)ของประเทศ ยกระดับพัฒนาความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้ จะสร้างรายได้ผ่านการส่งเสริม 1ครอบครัว 1ทักษะซอฟต์พาวเวอร์การปฏิรูปการศึกษา สร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ขณะเดียวกันรัฐบาลจะร่วมกันพัฒนากองทัพให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพประเทศจะปรับโครงสร้างหน่วยงานความมั่นคงให้ทันสมัย จะร่วมพัฒนากองทัพให้มีศักยภาพ โดยเปลี่ยนรูปแบบเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ ปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหารให้เป็นแบบสร้างสรรค์ ลดกำลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูง กำหนดอัตรากำลังในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) ให้สอดคล้องบทบาทภารกิจ ปรับปรุงการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานกระทรวงกลาโหมให้โปร่งใส ขณะที่ด้านความปลอดภัยจะปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดให้หมดจากสังคมไทย นอกจานี้รัฐบาลจะดำเนินนโยบายการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ การยกระดับนโยบาย 30บาท รักษาทุกโรค ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องเดินทางไกลไปโรงพยาบาลในเมือง ลดความแออัดและภาระบุคลากรทางการแพทย์ การผลักดันกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ

“ในอนาคต 4ปีข้างหน้า จะเป็น 4ปีที่รัฐบาลวางรากฐานและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ให้ประเทศ โดยยึดหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะกรณีการดำเนินงานที่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่วนการบริหารค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินนโยบายรัฐนั้น รัฐบาลจะดำเนินการอย่างมีเป้าหมายทั้งในด้านการเจริญเติบโต การลดความเหลื่อมล้ำ การรักษาเสถียรภาพ ให้ความสำคัญกับกรอบวินัยการเงินการคลังของประเทศอย่างเคร่งครัด รัฐบาลจะใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสม จะตระหนักถึงข้อจำกัดด้านรายได้ โดยเฉพาะรายได้จากภาษีประชาชน จะเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีควบคู่ไปกับการเร่งส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ประชาชน ท้ายที่สุดรัฐบาลขอให้ความเชื่อมั่นแก่ประชาชนว่าจะบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง จะตั้งใจทุ่มเทสรรพกำลังดำเนินนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิตประชาชน เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ประชาชนมีความเป็นอยู่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งต่ออนาคตที่ดีกว่าให้ลูกหลาน” นายกฯ ระบุ

ทั้งนี้นายเศรษฐาได้ใช้เวลาในการแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาไปทั้งสิ้น 50 นาที.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password