Krungthai COMPASS แนะผู้ประกอบการ ศึกษาระบบนิเวศ “ป่าชายเลน” ใช้เป็น “คาร์บอนเครดิต”

Krungthai COMPASS สรุปภาพรวม ระบบนิเวศ BCE ป่าชายเลน เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนตามชาติที่สำคัญ แนะ ผู้ประกอบการที่ต้องการ “คาร์บอนเครดิต” ใช้ประโยชน์จาก ป่าชายเลน ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นายชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ จนท.Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ระบบนิเวศ Blue Carbon Ecosystem (BCE) ทั้งป่าชายเลนและหญ้าทะเล เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติที่น่าสนใจ ทั้งในแง่ปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บได้ และ ต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับที่แข่งขันได้เมื่อเทียบกับระบบนิเวศบนบก ขณะที่ราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิต หรือ Blue Carbon Credits ที่ได้จากการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net-Zero GHG Emissions

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ต้องการคาร์บอนเครดิตจากระบบนิเวศ BCE เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิตอาจเริ่มต้นด้วยการเข้าร่วมโครงการปลูกป่าชายเลนของกรมทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่ง หากโครงการดำเนินการได้ตามเป้าหมาย 3 แสนไร่และปริมาณคาร์บอนที่กับเก็บได้ในระยะเวลาอย่างน้อย 10 ปีอยู่ที่ระดับค่าเฉลี่ยศักยภาพฯ คาดว่าจะเกิดคาร์บอนเครดิตอย่างต่ำ 28 MtCO2 การฟื้นฟูระบบนิเวศ BCE ยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) หลายประการ อาทิ รายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และธรรมชาติ การทำประมงที่มีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งอาจสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉลี่ยมากกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี

ปัจจุบัน ภาคส่วนต่างๆ ทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศมีความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero GHG Emissions) ในระยะข้างหน้า สอดคล้องกับวาระของโลกที่มุ่งลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้จะมีความพยายามที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยตัวเอง แต่ก็ทำได้ไม่ทั้งหมดเพราะต้นทุนส่วนเพิ่มในการลดก๊าซเรือนกระจกสูงมาก จึงทำให้ยังมีความต้องการปริมาณคาร์บอนเครดิตจำนวนมาก เพื่อใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น บทความฉบับนี้จะชวนทุกท่านมาทำความรู้จักกับทางเลือกใหม่ในการกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพสูงผ่านระบบนิเวศชายฝั่งหรือ Blue Carbon Ecosystem (BCE) และโอกาสในการสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากโครงการฟื้นฟูหรืออนุรักษ์ระบบนิเวศ Blue Carbon รวมไปถึงการใช้ในกิจกรรมชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือที่เรียกว่ากิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

Blue Carbon Ecosystem เป็นระบบนิเวศตามป่าชายเลน ที่ลุ่มน้ำเค็ม ที่ราบน้ำท่วมถึง และหญ้าทะเล ที่มีประสิทธิภาพสูงในการทำหน้าที่ดูดซับและกักเก็บคาร์บอนในรูปของมวลชีวภาพและการทับถมของตะกอนลงสู่ชั้นดินลึกหลายเมตร โดยที่คาร์บอนจะถูกกักเก็บได้นานนับพันปีในชั้นตะกอนหากสภาพแวดล้อมของระบบนิเวศไม่ได้ถูกทำลายจากภัยธรรมชาติหรือกิจกรรมของคน (WEF, 2021) ต่างจากระบบนิเวศบนบก (Terrestrial Ecosystem) เช่น ป่าฝน ที่แม้ว่าจะกักเก็บคาร์บอนในชีวมวลได้เช่นกัน แต่จะปล่อยคาร์บอนกลับออกมาเมื่อต้นไม้ตาย ที่ผ่านมา การวิจัยต่างๆ ชี้ว่าระบบนิเวศ Blue Carbon มีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนได้สูงกว่าป่าไม้ราว 5-10 เท่า เนื่องจากสามารถดึงคาร์บอนประมาณ 50-90% ไปกักเก็บไว้ในใต้ดินที่มีน้ำทะเลท่วมขังซึ่งช่วยชะลอการเน่าเปื่อยของอินทรีย์วัตถุและช่วยเพิ่มปริมาณการสะสมคาร์บอนในดิน

การฟื้นฟูระบบนิเวศ Blue Carbon หลายประเภทมีศักยภาพการลด CO2 ต่อหน่วยพื้นที่ สูงกว่าภาคป่าไม้ โดย ศักยภาพการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยพื้นที่ (Mitigation Potential) มีความแตกต่างกันตามประเภทกิจกรรมในแต่ละระบบนิเวศ โดยที่กิจกรรมการฟื้นฟูป่าชายเลน (Mangrove restoration) โดยเฉลี่ยมีศักยภาพสูงกว่ากิจกรรมการฟื้นฟูสภาพป่า (Reforestation) ในระบบนิเวศป่าไม้ และกิจกรรมการฟื้นฟูหญ้าทะเล (Seagrass restoration) ในการลดปริมาณ CO2 ต่อหน่วยพื้นที่ โดยรวมแล้ว Blue Carbon โดยเฉพาะที่เกิดจากกิจกรรมการฟื้นฟูป่าชายเลนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆ สามารถก้าวไปสู่การบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ และ จากงานวิจัยล่าสุดของ McKinsey & Company (2022) ประเมินว่ากิจกรรมการฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน หญ้าทะเล และที่ลุ่มน้ำเค็มโดยรวมทั้งโลกจะมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนราว 0.4-1.2 กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์ (GtCO2) ต่อปี ภายใน ปี 2050

ต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจกของ Blue Carbon อยู่ในระดับที่น่าสนใจเทียบกับราคาซื้อขายในตลาดคาร์บอน ซึ่งจากการศึกษาต้นทุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ McKinsey & Company (2022) พบว่าต้นทุนสุทธิที่ต้องจ่ายเพิ่มในการลดก๊าซเรือนกระจกต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ (tCO2) ของ Blue Carbon ในหลายประเภทกิจกรรม/โครงการ เช่น การฟื้นฟูป่าชายเลน การอนุรักษ์ป่าชายเลน การอนุรักษ์หญ้าทะเล ในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 18 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ tCO2 ซึ่งแข่งขันได้เมื่อเทียบกับกิจกรรมการกักเก็บคาร์บอนในระบบนิเวศบนบก และน่าสนใจเมื่อเทียบกับราคาซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิตหากผู้ที่พัฒนาโครงการขายคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ ทั้งนี้จากข้อมูลของ Abatable พบว่าราคาคาร์บอนเครดิตจาก Blue Carbon โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ tCO2 โดยที่บางประเภทโครงการมีราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตสูงถึง 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ tCO2

ชายฝั่งทะเลไทยก็มีระบบนิเวศป่าชายเลนและหญ้าทะเลเป็นอีกโอกาสสำคัญในการกักเก็บและดูดซับ CO2 ระบบนิเวศ Blue Carbon กระจายตัวอยู่ตามชายฝั่งทะเลทั่วโลก ครอบคลุมพื้นที่ราว 185 ล้านเฮกตาร์ และมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนสูงกว่า 30,000 TgC (Nature, 2021) สำหรับประเทศไทยนั้น มีระบบนิเวศ Blue Carbon ทั้งป่าชายเลนและหญ้าทะเลซึ่งอยู่ตามชายฝั่งทะเลในจังหวัดหรือหมู่เกาะต่างๆ ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งประเมินว่าไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพเป็นป่าอยู่ 1.74 ล้านไร่ โดยบางส่วนจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูจากการบุกรุกและใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ที่กระทบระบบนิเวศป่าชายเลน ขณะที่พื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นแหล่งหญ้าทะเลมีอยู่ราว 160,628 ไร่ แต่จากข้อมูลล่าสุดปี 2564 มีพื้นที่เพียง 99,325 ไร่ ซึ่งแสดงว่าไทยยังมีพื้นที่อีก 38% ที่สามารถฟื้นฟูหญ้าทะเลให้เป็นระบบนิเวศที่ช่วยกักเก็บคาร์บอนได้

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้จัดทำ “โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต” ในพื้นที่ 23 จังหวัด จำนวน 3 แสนไร่ในช่วง 2565-2574 โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องหลัก 3 ฝ่าย ได้แก่ (ก) ทช. เป็นเจ้าของโครงการและผู้พัฒนาโครงการ (ข) อบก. เป็นผู้ขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) หรือ T-VER มาตรฐานขั้นสูง (Premium T-VER) และรับรองคาร์บอนเครดิตให้กับผู้พัฒนาโครงการ (ค) องค์กรเอกชน ชุมชนท้องถิ่นหรือชายฝั่ง เป็นผู้พัฒนาโครงการ โดยสามารถเลือกกรอบระยะเวลาดำเนินการครั้งละ 10, 20, และ 30 ปี (ขอต่ออายุได้ครั้งละ 10 ปี ไม่จำกัดจำนวนครั้ง) อนึ่งในแต่ละปี ทช. จะประกาศเชิญเข้าร่วมโครงการปลูกป่าชายเลน กำหนดพื้นที่เป้าหมาย และพิจารณาจัดสรรพื้นที่ดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลนให้กับผู้ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ โดยในปีที่ผ่านมา ได้มีการจัดสรรพื้นที่ 4.1 หมื่นไร่ ให้กับองค์กรเอกชนจำนวน 14 ราย ในการดำเนินโครงการฯ สำหรับองค์กรเอกชนที่เข้าร่วมเป็นผู้พัฒนาโครงการปลูกป่าชายเลน จะได้ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นในระยะข้างหน้าหากการดำเนินโครงการเป็นไปตามระเบียบของ ทช. ที่เกี่ยวกับการปลูกและบำรุงป่าชายเลนและการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต อนึ่ง การแบ่งปันคาร์บอนเครดิตระหว่าง ทช. กับบุคคลภายนอก กำหนดสัดส่วนเท่ากับ 10 : 90 หรือตามที่ตกลง โดยที่ ทช. จะได้รับสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 จากโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต

Blue Carbon Credit สร้างโอกาสในเชิงเศรษฐกิจและธุรกิจ รวมถึง Co-benefits ต่อหลายภาคส่วน โดย ป่าชายเลนมีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิ 9.4 tCO2 ต่อไร่ต่อปี อ้างอิงจากผลการศึกษาศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนในป่าชายเลนในพื้นที่ 9 จังหวัดของไทยทั้งในโซนอ่าวไทยและโซนอันดามันของคณะทำงานร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยและหน่วยงานรัฐ ในเบื้องต้นสมมติว่าหาก ทช. สามารถดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลนได้ครบตามเป้าหมาย 3 แสนไร่พร้อมกับกักเก็บปริมาณคาร์บอนได้ที่ระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยศักยภาพข้างต้น และได้รับการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตอย่างน้อย 10 ปี คาดว่าจะเกิดคาร์บอนเครดิตอย่างต่ำ 28 MtCO2

นับเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจทั้งที่เป็นผู้พัฒนาโครงการเพื่อรับประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตหรือผู้ที่ต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตจากผู้ที่พัฒนาโครงการปลูกป่าชายเลนดังกล่าว เพื่อใช้ในกิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่องค์กรปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ประกอบการเข้าใกล้เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net-Zero GHG Emissions ได้อีกทางหนึ่ง และเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เช่น เป้าหมาย SDG ด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์มหาสมุทรและทรัพยากรทะเลอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับธุรกิจ ท่ามกลางกระแสความตื่นตัวของผู้บริโภคทั่วโลกที่ใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ซึ่ง ผู้ที่พัฒนาโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่ขึ้นทะเบียนโครงการกับ อบก. จะได้ประโยชน์จากมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการขายคาร์บอนเครดิตในประเทศเป็นระยะเวลา 3 รอบบัญชีต่อเนื่องกัน และยังสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตด้วย

นอกจากนี้ โครงการปลูกป่าชายเลนยังสร้างผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) หลายด้านที่นอกเหนือจากการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจและประเทศ เช่น เป็นแหล่งรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นจากรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเล (Marine Ecotourism) ปรับปรุงคุณภาพน้ำและระบบนิเวศชายฝั่งทะเล รวมถึงเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำซึ่งช่วยสนับสนุนด้านการทำประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยรวมแล้วนับเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจในชุมชนและอื่นๆ รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาอาชีพใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในเบื้องต้นระบบนิเวศทางทะเลดังกล่าวอาจสร้างมูลค่าเศรษฐกิจโดยรวมให้กับประเทศโดยเฉลี่ยปีละ 4.8 แสนล้านบาทในช่วง 20 ปี (2557-2576) อ้างอิงจากการประมาณการมูลค่าเศรษฐกิจรวมของระบบนิเวศป่าชายเลนและหญ้าทะเล (รวมถึงแนวปะการัง) ของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งปี 2557 ทั้งนี้ มูลค่าทางเศรษฐกิจโดยส่วนใหญ่เป็นรายได้จากภาคการท่องเที่ยวและการทำประมง ประโยชน์จากการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง การดูดซับและกักเก็บคาร์บอน อย่างไรก็ดี เนื่องจากการศึกษาดังกล่าวประเมินไว้ในปี 2557 ผ่านมา 9 ปี ประมาณการมูลค่าเศรษฐกิจโดยรวมอาจเปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปแต่อย่างน้อยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password