ส.อ.ท. จับมือ สกสว. ยกระดับงานวิจัย สู่ภาคอุตสาหกรรม

ส.อ.ท. จับมือ สกสว. จัดงาน “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม TRIUP FAIR 2023” เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับอุตสาหกรรมไทย ระหว่างวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2566

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมงานแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม TRIUP FAIR 2023” เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับอุตสาหกรรมไทย

ในช่วงที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การแพร่ระบาดของโควิด-19 กฎกติกาทางการค้าระหว่างประเทศในรูปแบบใหม่ โครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัย และเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าในระยะหลังเศรษฐกิจโลกจะมีการฟื้นตัวและคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ว่าจะมีการเติบโตประมาณ 3.0% ถึง 3.5% อย่างไรก็ตามภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาระต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง (ล่าสุดปรับขึ้นอีก 0.25% เป็น 2%) และมีแนวโน้มว่าจะยังปรับขึ้นต่อไปด้วยเหตุเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับสูง

อีกทั้งความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ มีโอกาสสร้างความเสี่ยงของภาวะสุญญากาศการเมือง โดยเฉพาะการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ล่าช้ามากขึ้นไปอีก ส่งผลให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ยังไม่สามารถฟื้นตัวไม่เต็มที่

การยกระดับอุตสาหกรรมไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้เติบโตอย่างยั่งยืนนั้น การต่อยอดและการประยุกต์ใช้ผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ากับกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพและคุณภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังช่วยลดระยะเวลา และลดต้นทุนการผลิต ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันและเท่าทันต่อความผันผวนและความต้องการของผู้บริโภคและรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ในการนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดงาน “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม TRIUP FAIR 2023” เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับอุตสาหกรรมไทย ระหว่างวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2566 ณ รอยัล พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวถึงงาน TRIUP Fair 2023 ว่าเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการภาคเอกชนที่จะได้พบกับผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ใช้ได้จริงกว่า 300 ผลงาน และได้พบปะพูดคุยกับหน่วยงานในระบบนิเวศที่มีกลไกสนับสนุนภาคธุรกิจทั้งด้านการเงิน ด้านการลงทุน และด้านสิทธิประโยชน์อื่นๆ รวมทั้งการจับคู่เจรจาธุรกิจ (Business matching) กับนักวิจัยเจ้าของผลงานเพื่อต่อยอดผลงานวิจัย นอกจากนี้ ยังได้พบกับบูธของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยที่มีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอีกกว่า 70 บูธ

“ผมขอขอบคุณ สกสว. ที่ให้เกียรติ ส.อ.ท. ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคอุตสหากรรม ร่วมเป็นพันธมิตรหลักในการจัดงาน TRIUP Fair 2023 ผมเชื่อมั่นว่าการจัดงานในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยจากการต่อยอดและการประยุกต์ใช้ผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ภาคอุตสาหกรรมไทยต่อไป” นายเกรียงไกร กล่าว

นอกจากความร่วมมือในการจัดงาน TRIUP Fair แล้ว ส.อ.ท. ยังเป็นภาคเอกชนรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจำนวน 1 พันล้านบาทจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของ สกสว. ในการดำเนินโครงการ ‘กองทุนอินโนเวชั่นวัน’ ภายในกรอบระยะเวลา 3 ปี และ ส.อ.ท. ยังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินโครงการให้เกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวเสริมว่า “ส.อ.ท. พร้อมเดินหน้าดำเนินโครงการ ‘กองทุนอินโนเวชั่นวัน’ เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ และมีฝีมือด้านเทคโนโลยีให้เติบโตได้ภายในประเทศ และสามารถก้าวไปแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ โดยจะเชื่อมต่อธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมเข้ากับ SMEs ภาคอุตสาหกรรมในเครือข่ายสมาชิกของเราที่ต้องการนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับนโยบาย ONE FTI ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในวาระปี 2565-2567 นี้ และเรามุ่งมั่นขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติงานที่มีเป้าหมายในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม”

ด้าน ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กล่าวว่า “ความสำคัญของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2564 คือ ช่วยปลดล็อกความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากงบประมาณสนับสนุนของภาครัฐจนเป็นผลสำเร็จ โดยรัฐที่มีหน้าที่ในการให้ทุนสนับสนุนวิจัย ผู้รับทุนหรือนักวิจัยมีสิทธิเป็นเจ้าของผลงาน กำหนดหลักเกณฑ์ในการโอนความเป็นเจ้าของผลงาน ส่วนผู้ที่ต้องการนำงานวิจัยไปใช้ ต้องเสนอเงื่อนไขการนำไปใช้และค่าตอบแทนให้แก่เจ้าของผลงาน เจ้าของผลงานต้องบริหารและสร้างประโยชน์จริงจากผลงาน และต้องรายงานให้ผู้ให้ทุนทราบ และภาครัฐอาจจะดึงผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่จำเป็นมาใช้ประโยชน์ได้ในกรณีฉุกเฉิน จากความสำคัญดังกล่าว จึงได้มีการกำหนดการจัดงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม TRIUP FAIR 2023 ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกที่ส่งเสริมให้เกิดระบบการผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์

รวมทั้งช่วยขับเคลื่อน พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ให้บรรลุเจตนารมณ์ ซึ่งในปีนี้มุ่งเน้นการผลักดันเชิงเศรษฐกิจ โดย ววน. จะเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมผ่านกลไกและการประชาสัมพันธ์ผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถและยกระดับการพัฒนาและการผลิต ให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตและประชากรมีรายได้สูงขึ้น

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า “ที่ผ่านมา สกสว. ได้ดำเนินการส่งเสริมงานวิจัยในด้านต่างๆ ให้เกิดการพัฒนาและใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เช่น การแพทย์และสุขภาพ การเกษตรและอาหารมูลค่าสูง พลังงานชีวภาพ ระบบราง รถยนต์อีวี เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างการเติบโตของประเทศที่ยั่งยืน และเพื่อเป็นการขยายผลงานวิจัยไปสู่การใช้จริงในวงกว้าง และเกิดประโยชน์ต่อภาคส่วนต่างๆ สกสว. จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ และเอกชน จัดงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม TRIUP FAIR 2023 ขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางจากงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตามแนวคิด JOURNEY TO IMPACT ซึ่งต่อยอดจาก พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 หรือ TRIUP ACT ที่ปลดล็อคงานวิจัยสู่การนำไปใช้จริง โดยในปีนี้ เราจะมีการเชิญชวนหน่วยงานต่างๆ ในระบบนิเวศซึ่งมีกลไกสนับสนุนแตกต่างกันมาร่วมกันตั้งเป้าหมายร่วมกันเพื่อยกระดับประเด็นเป้าหมาย ซึ่งได้แก่ การแพทย์และสุขภาพ เกษตรและอาหารมูลค่าสูงและ Net Zero Emission เพื่อสร้างผลกระทบขนาดใหญ่ภายใน 5 ปี โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมให้เกิดกระบวนการนำงานวิจัยไปสู่ภาคเอกชนให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ ต่อยอดธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว”

ภายในงานได้จัดให้มีกิจกรรมเจรจาธุรกิจระหว่างนักวิจัยเจ้าของผลงานกับผู้ประกอบการและนักลงทุนจากภาคเอกชน และมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 50 หน่วยงานที่เป็นกลไกสำคัญในกระบวนการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยขน์ พร้อมให้คำปรึกษาและสนับสนุนในทุกขั้นตอนภายในงานแบบครบจบที่เดียว

“สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ เชื่อว่าจะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการจับคู่ผลงานวิจัยเพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจได้ไม่น้อย และคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้จำนวนมาก รวมถึงการตระหนักถึงการนำผลงานวิจัยที่มีอยู่แล้วไปใช้ประโยชน์ให้สอดรับกับการธุรกิจ หรือสินค้า บริการ ของผู้ประกอบการได้” รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี กล่าว

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password