ชำแหละ! นโยบายเศรษฐกิจการเมืองเน้น “ประชานิยม” ระวังหลุมพราง แบกหนี้ร่วมกัน

นับถอยหลังกับ “การเลือกตั้ง” ครั้งสำคัญของประเทศ ที่จะมาเปลี่ยนโฉมหน้าของรัฐบาลไทย ที่จะขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าต่อไป โดยเวลานี้พรรคการเมืองต่าง ๆ งัดนโยบายในการหาเสียงกันอย่างดุเดือดเลือดพล่าน ซึ่งหนีไม่พ้น คือ “นโยบายประชานิยม” ที่หวังมัดใจประชาชนให้เลือกพรรคของตนเอง เป็นรัฐบาล

เริ่มจาก “พรรคเพื่อไทย” สร้างเซอร์ไพรส์ ประกาศนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง เติมเงิน 10,000 บาท ในกระเป๋าเงินดิจิทัล ให้คนไทยอายุ 16 ขึ้นไป เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับประเทศ สร้างความเจริญเติบโตให้เศรษฐกิจไทย และลดช่องว่างรายได้ ขณะที่รัฐบาลจะได้รายได้กลับคืนมาในรูปแบบของภาษี และการยกระดับเศรษฐกิจทั้งระบบ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ชูนโยบายขึ้นค่าแรง 600 บาทต่อวัน รวมถึงเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือนภายในปี 2570 ,ส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ในครัวเรือน ทำครอบครัวมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน และใช้ซอฟต์พาวเวอร์ ( Soft Power) ทำให้มีรายได้คนละไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อปี

ตามด้วย “พรรคพลังประชารัฐ” เปิดนโยบายหาเสียงภายใต้การขับเคลื่อน 3 นโยบายหลัก คือ “สวัสดิการประชารัฐ เศรษฐกิจประชารัฐ และสังคมประชารัฐ” โดยเน้นย้ำเรื่องการสานต่อนโยบาย หลังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและบริหารประเทศมาเกือบ 4 ปี มุ่งเน้นแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้ได้สานต่อบัตรประชารัฐ โดยเพิ่มวงเงินเป็น 700 บาท มอบให้กับผู้มีรายได้น้อย (ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี) มอบสวัสดิการผู้สูงอายุ โดยผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป รับไปเลย 3,000 บาท , 70 ปี รับ 4,000 บาท และ 80 ปีขึ้นไป รับ 5,000 บาท จากทุกวันนี้ผู้สูงอายุได้รับสวัสดิการอยู่ที่ 600 – 1,000 บาท และการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันใหม่ ด้วยการลดราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินลงถึงลิตรละ 18 บาท และน้ำมันดีเซลลิตรละ 6 บาท

ส่วน “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ชูนโยบายสวัสดิการเพิ่มสิทธิบัตรสวัสดิการพลัสเป็น 1,000 บาทต่อเดือน เริ่มจากกลุ่มรายได้น้อย ปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากแบบขั้นบันไดเป็นให้เท่ากันทุกช่วงอายุ คนละ 1,000 บาทต่อเดือน และลดภาษีให้ผู้ประกอบการที่จ้างผู้สูงวัยทำงาน ,สานต่อโครงการคนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกัน ภาค 2 ,ทำประเทศไทยให้มีคุณภาพ เช่น มีโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย การตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และระเบียงเศรษฐกิจใหม่ 4 ภาค และตั้งกองทุนพยุงราคาสินค้าเกษตร ราคาข้าว ราคายาง เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีเงินหมุนเวียนเพิ่มเงินสนับสนุนต้นทุนปลูกข้าว จากที่เคยได้ไร่ละ 700 บาท เป็นไร่ละ 2,000 บาท ครอบครัวละ 5 ไร่ เพื่อให้ทันกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

สำหรับ “พรรคประชาธิปัตย์” ประกาศนโยบายประกันรายได้ จ่ายเงินส่วนต่าง ข้าว มัน ยาง ปาล์ม ข้าวโพด ,นโยบายสำหรับชาวนา ประมาณ 4.8 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับ 30,000 บาทต่อครัวเรือน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องชาวนา และเป็นการสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ,อินเตอร์เน็ตฟรี 1 ล้านจุด ทุกหมู่บ้าน ทุกห้องเรียน ,นโยบายสวัสดิการ ธนาคารหมู่บ้าน-ชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาท ,ปลดล็อค กบข. กองทุกเลี้ยงชีพให้ซื้อบ้านได้ โดยสมาชิกทั้ง 2 กองทุนสามารถนำเงินส่วนหนึ่งมาซื้อบ้าน หรือนำมาลดหนี้บ้าน ซึ่งจะช่วยทั้งข้าราชการและผู้ที่ทำประกันสังคม รวมไปถึงผู้ใช้แรงงาน

ขณะที่ “พรรคชาติพัฒนากล้า” เน้นนโยบายเรื่องการที่จะสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่จะมาหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่เม็ดเงินประมาณ 5 ล้านล้านบาทด้วยยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเฉดสี อาทิ สีเทา : เปลี่ยนส่วยเป็นภาษี เสนอให้มีกาสิโนในรีสอร์ตเหมือนสิงคโปร์ ที่มีรายได้ในส่วนนี้ 200,000 ล้านบาทต่อปี ,สีขาว : เศรษฐกิจสายมู ตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวสายมูที่เป็นเทรนด์ใหม่ในโลก จังหวัดละ 1,000 ล้านบาท ,สีน้ำเงิน : สร้างโอกาสด้านดิจิทัลอีโคโนมี 1.75 ล้านล้านบาท ให้คนไทยเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มที่ทำได้ก่อนคือการท่องเที่ยว และส่งท้ายลดภาษีบุคคลที่มีเงินเดือน 40,000 บาทแรกไม่ต้องเสียภาษี น้ำมันแก๊ส ไฟฟ้าราคาถูกลง รวมถึงยกเลิกแบล็กลิสต์เครดิตบูโร

ด้าน “พรรคภูมิใจไทย” เน้นนโยบายแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยเพิ่มจํานวนนักท่องเที่ยวสู่ 80 ล้านคน เพื่อเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว สู่ 6 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570 ,พักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอกคนละไม่เกิน 1 ล้านบาท เกษตรร่ำรวย ด้วย Contract Farming รู้ราคาก่อนปลูก รับเงินก่อนขาย เสียหายมีประกัน เน้นพลังงานสะอาด ลดรายจ่ายประชาชนฟรีหลังคาโซลาiNเซลล์ ลดค่าไฟฟ้า หลังคาเรือนละ 450 บาท มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ผ่อนเดือนละ 100 บาท 60 งวด และผลักดันศูนย์ฉายรังสีมะเร็งฟรี 1 จังหวัด 1 ศูนย์ รวมถึงตั้งศูนย์ฟอกไตฟรี โดยจะมีการจัดตั้งศูนย์ฟอกไต 1 เขต 1 ศูนย์ ให้บริการประชาชนลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและญาติ

เช่นเดียวกับ “พรรคก้าวไกล” ชูนโยบายสวัสดิการก้าวหน้าตั้งแต่เกิดจนตาย คาดว่าต้องใช้งบประมาณมาดำเนินการวงเงิน 650,000 ล้านบาท อาทิ ปรับขึ้นค่าแรงทุกปี เริ่มทันทีขั้นต่ำ 450 บาท ออกหวยใบเสร็จเพื่อเอสเอ็มอีไทย ทุกการซื้อสินค้า 500 บาท จากร้านเอสเอ็มอี มีสิทธิแลกรับสลากกินแบ่งรัฐบาลทันที 1 ใบ และจัดงบประมาณอุดหนุน 10,000 ล้านบาท ให้ประชาชนทุกเขตเมืองในไทยมีรถเมล์ไฟฟ้าใช้ในราคาถูก และเข้าถึงได้ พร้อมช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีใน 6 เดือนแรก ใช้งบประมาณ 16,000 ล้าน และโครงการบ้านตั้งตัว โดยรัฐช่วยค่าเช่าบ้าน 1,000 บาทต่อเดือน ส่วนผู้ที่มีรายได้ 15,000 บาท ต้องการซื้อบ้านราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท รัฐจะช่วยผ่อนบ้านให้ 2,500 บาทต่อเดือน รวม 350,000 หลัง ใช้งบ 6,000 ล้านบาท และลดค่าไฟฟ้าทันที 70 สต.ต่อหน่วย พร้อมเปิดเสรีการขายไฟ

ปิดท้ายที่ “พรรคไทยสร้างไทย” ชูนโยบายเศรษฐกิจ อาทิ บัตรเครดิตประชาชน เพื่อช่วยลดภาระหนี้สินครัวเรือน ล้างหนี้นอกระบบและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีเงินทุนที่จะตั้งตัวได้ โดยให้ประชาชน กู้ได้ตั้งแต่ 5,000 ถึง 50,000 บาท ดอกเบี้ยไม่เกิน 1% ต่อเดือน ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่ต้องมีบุคคลค้ำประกัน ใช้ความซื่อสัตย์เป็นเครดิตตัวเองค้ำ ติดเครดิตบูโรก็กู้ได้ และพักหนี้เสีย ให้ธุรกิจSMEs ที่ได้รับผลกระทบโควิดไว้ 3 ปี ปรับโครงสร้างหนี้และงดจ่ายดอกเบี้ย 2 ปี เปลี่ยนสถานะหนี้เสียในช่วงโควิดให้กลับมาอยู่ในสถานะปกติ

รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีมุมมองต่อนโยบายเศรษฐกิจของแต่ละพรรคการเมืองว่า หากเปรียบเทียบรัฐบาลเป็นธุรกิจ ประเทศไทยกำลังเป็นธุรกิจที่หาเงินได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย พึ่งพาการสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง มากว่าสิบปี รัฐบาลไทยขาดดุลการคลังหรือมีงบประมาณรายจ่ายสูงกว่ารายรับที่จัดเก็บได้ เฉลี่ยประมาณ 3% ต่อ GDP ดังนั้นอุบัติเหตุทางเศรษฐกิจอาจเกิดขึ้นซ้ำอีกได้

สิ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งของการเลือกตั้งครั้งนี้คือ หลายนโยบายมีแนวโน้มสร้างภาระการคลังอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งถ้านโยบายเหล่านั้นไม่ได้มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่เข้มแข็งพอ และการหางบประมาณที่สะท้อนความเป็นไปได้จริง อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อวินัยการคลัง และความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลไทยในระยะยาว

นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังเน้นยิงตรงเรื่องปากท้อง ทั้งการเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน การแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร จัดสวัสดิการถ้วนหน้าประชานิยมแบบเต็มแม็ก เพราะบางนโยบายต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ซึ่งงบที่รัฐบาลใหม่นำมาใช้ส่วนใหญ่ก็จะมาจากการจัดเก็บภาษีประชาชน หรือเป็นการก่อหนี้ที่ประชาชนทั้งประเทศต้องร่วมกันแบกภาระต่อไปในอนาคต.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password