เลขาฯ EEC คนใหม่ ไม่หวั่นรัฐบาลเปลี่ยนขั้ว พร้อมเดินหน้า พื้นที่ EEC สร้างการเติบโตประเทศ
เลขาธิการ EEC คนใหม่ เปิดแผนดันลงทุน สร้างความหวังเศรษฐกิจประเทศ หวังดึงลงทุนปีละ 4 แสนล้านบาท มุ่งลงทุนโฟกัส 5 อุตสาหกรรม เผยไม่หวั่นการเมืองเปลี่ยนขั้วกระทบการขับเคลื่อนอีอีซี มั่นใจรัฐบาลหน้าสานต่อนโยบาย ชี้เป็นของดีช่วยผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจประเทศ
วันที่ 9 เม.ย.2566 ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ “อีอีซี” เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการอีอีซีคนใหม่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นเลขาธิการอีอีซีคนที่ 2 ต่อจาก ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ที่หมดวาระไปเมื่อเดือน ส.ค.ปีที่ผ่านมา
ดร.จุฬาได้แถลงข่าวและแสดงวิสัยทัศน์ในการทำหน้าที่ในฐานะเลขาธิการอีอีซีโดยกล่าวว่าในการทำงานในตำแหน่งเลขาธิการอีอีซีต้องการให้อีอีซีเป็นความหวังของคนไทยในการยกระดับและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งให้อีอีซีเป็นเป้าหมายในการลงทุนของนานาชาติในภูมิภาคอย่างแท้จริง
เมื่อถามว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงการเมืองหลังเลือกตั้งแล้วรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศนั้นเป็นขั้วการเมืองกับคนละขั้วในปัจจุบันมีความเป็นห่วงเรื่องความต่อเนื่องของนโยบายอีอีซีหรือไม่ เพราะขณะนี้มีบางพรรคการเมืองที่มีนโยบายที่จะสนับสนุนการพัฒนาเชิงพื้นที่ในโครงการอื่นๆ โดยไม่ได้สนับสนุนพื้นที่อีอีซีเท่าที่ควร
ดร.จุฬาระบุว่าไม่กังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้เพราะมั่นใจว่าจะสามารถอธิบายให้รัฐบาลใหม่เข้าใจได้ถึงความจำเป็น และความสำคัญของโครงการอีอีซีได้เพราะถือว่าเป็นโครงการที่สร้างเม็ดเงินและการลงทุนจากภายนอกเข้าสู่ประเทศ และช่วยส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุนของบริษัทไทยได้เรียนรู้ และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งถือว่าเป็นผลดีต่อประเทศ
“การที่แกนนำทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลข้างหน้าอาจเป็นคนละขั้วกับปัจจุบัน และต้องการยกเลิกอีอีซี ก็ต้องบอกว่าอีอีซีเป็นของดีที่สามารถนำไปต่อยอดสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย นอกจากนี้อีอีซีถือเป็นกฎหมายที่ต้องดำเนินการต่อ หากรัฐบาลใหม่จะยกเลิกอีอีซีก็ต้องฉีกกฎหมายทิ้ง เพราะอีอีซีเป็นกฎหมาย หรือไม่ก็ต้องทำกฎหมายขึ้นมาอีกฉบับเพื่อยกเลิกออีอีซี แต่คงไม่เป็นแบบนั้นเพราะอีอีซีเป็นของดีพอ หากจะทิ้งกันง่ายๆ คนในภาคตะวันออก และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยก็คงไม่ยอมแน่เพราะมีหลายนโนบายที่เป็นประโยชน์กับประเทศที่ควรต้องทำต่อเนื่องต่อไป โดยรัฐบาลสามารถที่จะนำรูปแบบความสำเร็จจากการพัฒนาอีอีซีไปใช้ในการทำเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่อื่นๆอีกก็ได้” ดร.จุฬา กล่าว และว่า
มีเป้าหมายที่จะดึงการลงทุนในพื้นที่อีอีซีในช่วงปี 2566 – 2570 หรืออีก 5 ปีข้างหน้าให้ได้ตามเป้าหมาย 2.2 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 4 แสนล้านบาทต่อปี โดยเป้าหมายสำคัญนอกจากสานต่อโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในอนาคตอย่างเช่นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก รวมทั้งท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ยังตั้งเป้าหมายในการดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญและเป็นศักยภาพของประเทศไทยเข้ามาลงทุนในอีอีซีเพิ่มขึ้น
โดยโฟกัสไปในอุตสาหกรรม 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ การแพทย์และสุขภาพ นวัตกรรมดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เศรษฐกิจ BCG และภาคบริการ โดยในปี 2566 นี้ จะเป็นปีแห่งการลงทุนเจาะกลุ่มเป้าหมายนักลงทุนยิ่งขึ้น การจัดคลัสเตอร์แต่ละอุตสาหกรรมที่จะเห็นได้ชัดโดยต้องมีการเจรจาการลงทุนต่อเนื่องในพื้นที่อีอีซี
โดยจะทบทวนแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาอีอีซี ให้สอดคล้องกับบริบทโลกในอนาคต ที่จะศึกษาถึงปัจจัยจากสถานการณ์ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน เช่น ผลกระทบจากโควิด 19 ความเสี่ยงจากการถดถอยของเศรษฐกิจโลก การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมไปถึงแนวโน้มและทิศทางของเทรนด์อุตสาหกรรมในอนาคตด้วย
สำหรับรายละเอียดของการขับเคลื่อนการลงทุนให้ได้ปีละ 4 แสนล้านบาท หรือปี 2.2 ล้านล้าน ในอีก 5 ปีข้างหน้า ได้แก่
1.การลงทุนในฐานปกติ ปีละ 250,000 ล้านบาท
2.การลงทุนในส่วนเพิ่มที่อีอีซี เน้นการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น การแพทย์สมัยใหม่ โลจิสติกส์ นวัตกรรมด้านเกษตร ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG โดยจะเน้นดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศที่มีศักยภาพตรง รวมปีละ 150,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ จะผลักดันแผนงานที่สำคัญให้เกิดเป็นรูปธรรมให้พื้นที่ อีอีซี เป็นเป้าหมายสำหรับนักลงทุนเพิ่มขึ้น เช่น การจัดกิจกรรมชักจูงนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (โรด์โชว์) ส่งเสริมการลงทุนในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษและกิจการพิเศษ กำหนดเขตส่งเสริมพิเศษเพื่อกิจการพิเศษเพิ่มเติม เช่น โรงพยาบาลปลวกแดง 2 การพัฒนาระบบ OSS เชื่อมโยงกับหน่วยงานผู้มีอำนาจอนุมัติ เพื่อให้บริการอย่างเบ็ดเสร็จครบวงจรอย่างแท้จริง.