ล่าช้า!!!

ประเทศไทยควรมีความเด็ดขาด! ต่อการจะปกป้องอธิปไตยอย่างทันท่วงทีไหม? สิ่งนี้…กลายเป็น “คำถามโลกแตก!” ที่คนไทยเฝ้าถาม…1.รัฐบาลแพทองธาร 2.กระทรวงการต่างประเทศ และ 3. กองทัพไทย มาโดยตลอด นับแต่มีประเด็นข้อพิพาทกับกัมพูชา???

มันสะท้อนอะไร? ลองไปฟังบางส่วนของการวิเคราะห์ ที่ นายสุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการเมืองระหว่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์ “หมาแก่” นายดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ในรายการ เจาะลึกทั่วไทย (Inside Thailand) เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2568 ที่ผ่านมา…

สั้น….กระชับ…เข้าใจง่าย นั่นคือ…

เหตุการณ์ลอบวางทุ่นระเบิด! จน 1 ใน 3 ของทหารไทยที่บาดเจ็บ ถึงขั้นขาขาด! สิ่งนี้…มันพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเป็น “ทุ่นชนิดใหม่” (PMN‑2 จากรัสเซีย) และข้ามฝั่งมาจากกัมพูชา

แต่…แต่…แต่…!!!

รัฐบาลไทย กลับมีท่าที “ล่าช้า…รีๆ รอๆ” แทนที่จะเปิดแถลงการณ์ทันทีต่อประชาคมโลก กลับไปรอพิสูจน์ที่ต้องใช้เวลานานถึง 3 วัน

ด้าน กระทรวงการต่างประเทศ ก็ดูเหมือนจะ เงียบหายกันไป และไม่ได้แสดงบทบาทเชิงรุก! อย่างทันท่วงที และอย่างที่ควรจะทำ…

โดยเฉพาะ การแถลงข่าวฟ้องโลก (ยูเอ็น) หรือแม้แต่การเชิญทูตฝรั่งมาพูดคุยในเรื่องนี้

“กระทรวงการต่างประเทศกลับยังไม่ได้แถลงเชิงรุก ทั้งที่ควรรีบดำเนินการทางการทูตทันที ไม่ใช่ปล่อยให้ข่าวสารล่าช้า”

ขณะที่ กองทัพไทย เอง ก็มี “ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิด” แทนที่จะออกแถลงการณ์แจงข้อเท็จจริง และจัดส่งข้อมูลไปยังพันธมิตร 10 ประเทศ รวมถึงองค์กรด้านกู้ทุ่นระเบิดระดับนานาชาติ

แต่ก็ไม่ทำ!!!

ไม่แปลก! หาก นายสุรชาติ จะมองว่า  “เหมือนทัพบก มีช่องว่างให้ถูกตั้งคำถามถึงบทบาทความรับผิดชอบในช่วงที่ข่าวเงียบไป!!!”

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังอึงมี่ กรณี…รัฐบาลไทย กระทรวงการต่างประเทศ และกองทัพไทย ที่ได้ดำเนินการในเรื่องนี้ ด้วยความล่าช้า แทนที่จะเปิดเกมรุกโดยเร็ว นั่นเพราะ…

1.ต้องการความชัวร์ เพื่อจะจัดทำ Narrative (เรื่องเล่า) ที่สามารถสื่อสารกับประชาคมโลกได้

2.รอข้อมูลทางเทคนิคของทุ่นระเบิด อันจะเป็นการสร้างความชอบธรรมทางหลักฐาน ก่อนดำเนินมาตรการระหว่างประเทศ

และ 3.รัฐบาลไทยไม่ต้องการกระทบความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดชายแดน

ก็ถ้าจะมี คำถามปนข้อสงสัย ที่ว่า…รัฐบาล, กระทรวงการต่างประเทศ และกองทัพ หวังจะใช้ชีวิตของ “ทหารชั้นผู้น้อย” เป็นเครื่องมือต่อรองในเวทีระหว่างประเทศ??? ก็อย่าได้โทษคนไทยเลย

เพราะกรรมเป็นเครื่องแสดงเจตนา!!??

ความไม่เด็ดขาดต่อการปกป้องอธิปไตยอย่างทันท่วงที ก็มิต่างจากการไร้ประสิทธิภาพ ดังนั้น หากจะมีสื่อมวลชนและประชาชนบางฝ่าย จะแสดงความรู้สึก “อึดอัด” กับท่าทีเชิงรับของรัฐบาล กระทรวงการต่างประเทศ และกองทัพไทย จนอาจลดความเชื่อมั่นในทุกมิติ

ก็มิใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด???

แม้วานนี้ (22 ก.ค.) กองทัพบกไทย จะเชิญ “ผู้ช่วยทูตทหาร” จาก 47 ประเทศ (มาจริงน้อยกว่านั้นมาก) รวมถึง ผู้ช่วยทูตทหารกัมพูชา มารับฟังบรรยายที่กองบัญชาการทหารบกกรุงเทพฯ กรณีทหารไทย 3 นายบาดเจ็บจากทุ่นระเบิดฝั่งกัมพูชา เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา

กรณี “จุดเกิดเหตุ” อยู่ใกล้เส้นทางลาดตระเวนของทหารไทย และมีหลักฐานที่ได้จากขุดพบว่าเป็น “ทุ่นใหม่ชนิด PMN2”

นับเป็น “ละเมิด”อนุสัญญาออตตาวา ซึ่งทั้งฝ่ายไทย–กัมพูชา ได้ลงสัตยาบรรณา กันเอาไว้

เช่นกัน ในวันนี้ (23 ก.ค.) กระทรวงการต่างประเทศไทย ได้เชิญให้…เอกอัครราชทูต และบรรดาครูทหาร จากนานาชาติ มารับฟังบรรยายเรื่องเดียวกัน โดยมุ่งเน้นในเรื่อง ความรับผิดชอบนานาชาติและการดำเนินตามกฎหมายระหว่างประเทศ

แต่นั่นก็คือ…ความล่าช้า ไม่กระฉับกระเฉง อย่างที่ควรจะเป็น

ดังนั้น บทบาทของ กองทัพไทย โดย กองทัพบก และ กระทรวงการต่างประเทศ กับบริบท “ฟ้องโลก” บนความล่าช้า ในครั้งนี้…

แม้จะเป็น การประชาสัมพันธ์ “ระดับรัฐ” ด้วยหวังจะสร้างแรงกดดันระหว่างประเทศ โดยนำเสนอเป็นหลักฐานเชิงวิชาการว่า ฝ่ายกัมพูชา…ทำการฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศ” (Ottawa Convention) และ ไม่เคารพ “พันธสัญญาทวิภาคีระหว่าง 2 ประเทศ”

แต่เมื่อเหล็กไม่ถูกตีตอนร้อน ความแข็งแกร่งและคมกริบ! ย่อมต้องหายไปเป็นธรรมดา…

แต่ถึงจะ ล่าช้าและตั้งรับมากเกินไป ทว่า…รัฐบาล กระทรวงการต่างประเทศ อาจรวมถึง กองทัพไทย  ยังมีโอกาสจะแก้ตัว กล่าวคือ…

1. เร่งยกระดับการทูตเชิงรุก โดยการออก “หนังสือประท้วง” ทางการทูต…อย่างเป็นทางการ ไปถึงรัฐบาลกัมพูชา พร้อมกับ เร่งส่งเอกสารสรุปเหตุการณ์พร้อมหลักฐานให้ประเทศพันธมิตร โดยเฉพาะกลุ่ม ASEAN, UN, และกลุ่ม G77

รวมถึง การเรียก “ทูตกัมพูชา” เข้าชี้แจงอย่างไม่เป็นทางการ ทั้งนี้ เพื่อกดดันให้กัมพูชา “ยอมรับ” หรือ “อธิบาย” การกระทำ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกล่าวหาว่า “ลอบสังหารในเขตพิพาท”

2. จัดทำเอกสารทางเทคนิค-กฎหมายสำหรับเวทีนานาชาติ โดยฝ่ายไทยจะต้อง “ส่งเรื่อง” ไปยังองค์กรระหว่างประเทศ เช่น…คณะกรรมการเฉพาะกิจภายใต้อนุสัญญาออตตาวา และ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) กรณีมีหลักฐานเพียงพอว่า…ฝ่ายกัมพูชาได้แสดงการ “คุกคามข้ามพรมแดนไทย” และ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) หากต้องการใช้ข้อพิพาทชายแดนเป็นกรณีศึกษาภาคบังคับ

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ไทยในสายตานานาชาติ โดยแสดงว่า…ฝ่ายไทยกำลังดำเนินการ “ภายใต้กติกาโลก” อย่างจริงจังแล้ว

3.ยกระดับ “Public Diplomacy” การทูตผ่านสื่อ โดย กระทรวงการต่างประเทศ ต้องจัดแถลงข่าวระดับนานาชาติ โดยเชิญ ผู้สื่อข่าวจากต่างประเทศ เช่น CNN, BBC, Reuters, AP, Al Jazeera ฯลฯ เข้าร่วม พร้อมทำการ เผยแพร่เอกสารข่าวผ่านสถานทูตไทยในต่างประเทศ

โดยที่ ตัวแทนรัฐบาล หรือผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทย จะต้อง “ออกรายการสื่อต่างชาติ” เพื่อสื่อสารเจตจำนงของไทย

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้กัมพูชาครอบงำ “สงครามข่าวสาร” เพียงฝ่ายเดียว เหมือนก่อนหน้านี้

และ 4. แสวงหาพันธมิตรในภูมิภาคและเวทีอาเซียน โดยเร่งผลักดันให้มี “เวทีหารือทวิภาคี” ไทย–กัมพูชา ภายใต้กรอบ ASEAN High Council หรือกลไก ASEAN-Political Security Community (APSC) โดยไทยอาจร้องขอให้อาเซียนส่งคณะผู้สังเกตการณ์หรือนักกฎหมายตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วม

ทั้งนี้ เพื่อสร้างแรงกดดันร่วม ไม่ให้ฝ่ายไทยต้องดำเนินการในลักษณะ “แยกเดี่ยว” แต่เป็นความห่วงใยของภูมิภาค

หรือ…หาก ฝ่ายไทยจะพลิกเกม…หันมาเล่นบทที่ “แข็งกร้าว” กว่าเดิม เนื่องเพราะที่ทำมาทั้งหมด “ไม่เวิร์ก!” เพราะมิอาจทำให้สถานการณ์คลี่คลายลง ขณะที่ ทางฝั่งกัมพูชา ยังคงแสดงท่าทีปฏิเสธอย่างแข็งกร้าวต่อข้อกล่าวหาร้ายแรงข้างต้น

ฝ่ายไทยสามารถจะเรียก “เอกอัครราชทูตไทย” กลับจากพนมเปญชั่วคราว เพื่อแสดงความไม่พอใจ พร้อมกับ…ระงับ! โครงการพหุภาคี ไทย–กัมพูชา ชั่วคราว เช่น ความร่วมมือชายแดน, ความร่วมมือตำรวจ-ทหาร

จำกัดการเข้าร่วมกิจกรรมระดับรัฐมนตรีที่กัมพูชาเป็นเจ้าภาพ

ออกมาตรการคว่ำบาตรเบา เช่น จำกัดวีซ่า, คัดค้านโครงการทุนร่วม เป็นต้น

กระนั้น ช่วงเวลาที่เหลือของรัฐบาลชุดนี้ ทั้งรัฐบาลไทยและกระทรวงการต่างประเทศเอง ก็ควรจะขยับบทบาทของตนเสียใหม่ เข้าสู่ระดับ  “การทูตตอบโต้” ภายใต้ 4 แนวทางหลัก นั่นคือ…

1.ใช้ ข้อมูล-หลักฐาน-ข้อเท็จจริง เป็นเครื่องมือ 2.สื่อสารต่อ นานาชาติอย่างมีชั้นเชิง 3.หลีกเลี่ยงการกระทำรุนแรงหรือตอบโต้ทางทหารโดยตรง และ 4.สร้าง แรงกดดันทางอ้อม ผ่านเวทีอาเซียนและองค์กรโลก

นำไปสู่กรณีที่ รัฐบาลไทย ได้สร้าง…“ฉันทามติจากโลก” ก่อนลงมือฟ้อง เพื่อให้การกระทำของกัมพูชา “ถูกประณามอย่างมีน้ำหนัก” โดยไม่ต้องยิงปืนแม้แต่นัดเดียว

ว่าแต่จะกล้าทำหรือไม่? ทำแล้วจะไปสุดทางหรือเปล่า? ที่สำคัญ…คนไทยจะเชื่อถือได้อย่างไร? ในเมื่อระดับความสัมพันธ์ทางครอบครัวของผู้นำฝ่ายและกัมพูชา มันแน่นแฟ้นมายาวนานกว่า 30 ปี

สำนวนที่ว่า…ความล่าช้า คือ ไร้ประสิทธิภาพ ก็น่าจะเป็นจริงอย่างที่สุด!!!

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password