บี้ ‘สภา-รัฐบาลหน้า’ แก้เข้ม! กม.คุมเหล้า – สื่อชงคุม ‘ขรก.ผู้ใหญ่เกษียณ’ ผันตัวช่วย บ.ค้าน้ำเมา
วงถก 15 ปี กม.คุมเหล้า ชี้! ลดนักดื่มได้แค่ 2% แถมเจอทุนใหญ่ลักไก่ใช้ “ตราเสมือน” หลอกขายสินค้าแอลกอฮอล์ผ่านสื่อโฆษณา บี้สภา-รัฐบาลหน้า เดินเครื่องแก้กฎหมายห้ามใช้สัญลักษณ์เดียวกันส่วนปมอนุญาตการโฆษณา ส่วนใหญ่ยังเห็นต่าง หวั่นส่งผลให้คนดื่มมากขึ้น ด้านสื่อมวลชนเสนอห้ามข้าราชการเกษียณที่ทำงานด้านกำกับและจัดเก็บภาษี เป็นทีมที่ปรึกษาให้ธุรกิจแอลกอฮอล์ ส.ส.เท่าพิภพ ย้ำ! พร้อมผลักดันการแก้กฎหมายในสภา
เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ห้องราชเทวี 1 โรงแรมเอเซีย พญาไท กรุงเทพฯ, มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ร่วมกับ เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์เพื่อการขับเคลื่อนสังคม จัดประชุมเสวนาระดมความเห็นเรื่อง “มองหลากมุม 15 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง” เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยมีนักวิชาการ ภาคีภาคประชาสังคมและนักการเมือง รวมทั้งสื่อมวลชน เข้าร่วมอย่างคับคั่ง โดยมี นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส เป็นผู้ดำเนินรายการ และมี นายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธาน มสส. กล่าวเปิดงานเสวนาฯในครั้งนี้
ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นักวิจัยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า ข้อมูลการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผลกระทบเปรียบเทียบช่วงก่อนและหลัง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บังคับใช้ พบว่า สัดส่วนผู้บริโภคแอลกอฮอล์ในปี 2550 อยู่ที่ 30.0% ส่วนปี 2564 อยู่ที่ 28.0% ลดลง 2% โดย เพศชายลดจาก 52.3% เหลือ 46.4% หรือลดลง 5.9% ส่วนเพศหญิงกลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 1.7% เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มอายุ 15-19 ปี และอายุ 60 ปีขึ้นไป มีการดื่มลดลง ส่วนกลุ่มอายุ 20-49 ปี มีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนักคือน้อยกว่า 1% ในขณะที่ ผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์เช่นเมาแล้วขับช่วงเทศกาลปีใหม่ ลดลงจาก 37.8% ในปี 2551 เหลือ 25.6% ในปี 2565 หรือลดลง 12.2% ส่วนเมาแล้วขับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ลดลงจาก 35.5% ในปี 2551 เหลือ 26.0% ในปี 2565 หรือลดลง 9.5%
นักวิจัยจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวอีกว่า การมีกฎหมายฉบับนี้ส่งผลให้การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงและยังช่วยลดผลกระทบจากปัญหาการเมาแล้วขับด้วย ทั้งนี้ในการสำรวจความเห็นของประชาชนต่อมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยและสนับสนุนให้จำกัดสถานที่จำหน่ายถึง 94.5% จำกัดช่วงเวลาจำหน่าย 93.1% และจำกัดการโฆษณา 91% มีเพียง 5.5% ที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการจำกัดสถานที่จำหน่าย อีก 6.9% ไม่เห็นด้วยกับการจำกัดเวลาจำหน่าย และ 9% ไม่เห็นด้วยกับการจำกัดการโฆษณา อย่างไรก็ตามควรจะมีการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะปัจจุบันมีการเติบโตของโซเชียลมีเดียและการเกิดขึ้นของทุนขนาดเล็ก ซึ่งควรให้โอกาสได้เติมโต แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีมาตรการในการควบคุมทุนแอลกอฮอล์ขนาดใหญ่ให้มากขึ้น
ด้าน นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เมื่อ 15 ปีที่แล้ว แม้จะมีกลุ่มทุนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขนาดใหญ่เคลื่อนไหวคัดค้านการออก พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ภาคประชาชน รวมถึง ประชาชนกว่า 13 ล้านคน ได้ร่วมกันผลักดันจนกฎหมายออกมาบังคับใช้เมื่อปี 2551 เจตนารมณ์สำคัญคือการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ คุ้มครองสุขภาพประชาชน และลดผลกระทบทางสังคม สาระสำคัญนอกจากมีกลไกรับผิดชอบระดับนโยบายและปฏิบัติ รวมทั้งมีสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แล้วกฎหมายได้กำหนดสถานที่ห้ามขาย ห้ามขายให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปีและคนเมาครองสติไม่ได้ การจำกัดวิธีการขายและห้ามส่งเสริมการขาย การควบคุมการโฆษณา รวมถึงการบำบัดฟื้นฟูผู้ที่ติดสุราด้วย ส่งผลให้ลดจำนวนนักดื่มและจำกัดการดื่มให้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม รวมทั้งการจำกัดการเข้าถึงทำให้เพิ่มพื้นที่ปลอดภัยต่อสังคมโดยรวม
อย่างไรก็ตาม นายธีรภัทร์ ยอมรับว่า 15 ปีที่ผ่านมาแม้กฎหมายจะมีข้อดีหลายอย่าง แต่ก็พบปัญหาในทางปฏิบัติที่ทุกฝ่ายต้องหาทางป้องกันแก้ไขต่อไป เช่น ธุรกิจแอลกอฮอล์ใช้ตราสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปโฆษณาสินค้าประเภทอื่นเช่นน้ำดื่ม โซดาหรือที่เรียกกันว่าตราเสมือน ทำให้คนนึกถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ดี การขาดแนวปฏิบัติหรือเกณฑ์พิจารณาลักษณะผู้ซื้อที่เข้าข่ายเมาครองสติไม่ได้ การขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่ยังพบได้ทั่วไปในร้านค้ารายย่อยและผับบาร์ รวมทั้งการเข้าถึงการบำบัดฟื้นฟูของผู้ติดสุรายังมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร ดังนั้นถึงเวลาที่ต้องปรับปรุงพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ทันกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปแต่ยังคงรักษาเจตนารมณ์เดิมไว้อย่างเคร่งครัดไม่ทำให้กฎหมายอ่อนแอลง ซึ่งจากการพูดคุยกับกลุ่มผลักดันพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ก็พบจุดร่วมในหลายประเด็น เช่น การลดทุนผูกขาด การจัดการเรื่องตราเสมือนซึ่งเป็นความฉ้อฉลที่ทุนสุรารายใหญ่ได้เปรียบ รวมทั้งการอบรมผู้ขายให้มีทักษะมากขึ้น
นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส. กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นกฎหมายที่ดีในแง่ของการควบคุม แต่ยังมีปัญหาในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ส่วนเนื้อหาที่อยากจะให้มีการแก้ไขคือให้มีการโฆษณาได้ โดยห้ามโฆษณาที่เข้าถึงเด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปีลงมา หรืออาจจะกำหนดวงเงินในการโฆษณาของธุรกิจแอลกอฮอล์รายใหญ่ เช่น 5-10% ของยอดขาย และ/หรือไม่เกินวงเงิน 5-10 ล้านบาท เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกับผู้ผลิตรายย่อย ส่วนเรื่องข้อเสนอให้มีการแก้กฎหมายห้ามใช้สัญลักษณ์หรือตราเสมือนเดียวกัน สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำดื่ม โซดา นั้น ตนเห็นด้วยกับประเด็นเหล่านี้ จากเวทีเสวนาในวันนี้ เห็นได้ชัดว่าทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าทำอย่างไรถึงจะจำกัดบทบาทของธุรกิจแอลกอฮอล์ที่เป็นทุนขนาดใหญ่ แล้วเปิดโอกาสให้คนเล็กคนน้อยที่เป็นทุนขนาดเล็กได้มีบทบาทมากขึ้น เพื่อลดการผูกขาด ส่วนการขับเคลื่อน หลังจากนี้ก็ต้องรอผลการเลือกตั้ง สส. และสภาชุดใหม่ จะเป็นอย่างไร โดยส่วนตัวถ้าได้กลับมาเป็น สส. ก็จะผลักดันเรื่องนี้ร่วมกับ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้าน สื่อมวลชนที่เข้าร่วมประชุมเสวนาได้แสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจ เช่น นายเทพสิทธิ์ โมฬีชาติ บรรณาธิการบริหาร ชมรมคอลัมนีสต์ นักจัดรายการวิทยุฯ กล่าวว่า การมีกฎหมายฉบับนี้เป็นสิ่งที่ดีแล้ว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำงานได้ผล เพราะคนดื่มแอลกอฮอล์ไม่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัญหาเรื่องบังคับใช้กฎหมาย และเห็นด้วยกับการห้ามใช้ตราสัญลักษณ์เดียวกัน
ส่วน นายสุเมธ จันสุตะ บรรณาธิการข่าว สำนักข่าวยุทธศาสตร์ออนไลน์ เสนอว่า ควรมีกฎหมายหรือข้อห้าม ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีบทบาทในการกำกับดูแลเรื่องแอลกอฮอล์ ไปรับตำแหน่งต่าง ๆ ในธุรกิจแอลกอฮอล์หลังเกษียณอายุราชการ เพราะเป็นผู้ที่รู้เรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ ที่จะมีผลต่อการเอื้อประโยชน์ของธุรกิจแอลกอฮอล์
ในขณะที่ นายศักดา แซ่เอียว หรือ “เซียร์” การ์ตูนนีสต์ จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แสดงความเห็นว่า กฎหมายดีอยู่แล้ว แต่จะต้องทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ โดยการบังคับใช้กฎหมาย ควบคู่ไปกับการให้ความรู้เรื่องสุขภาพ เห็นด้วยกับการห้ามใช้ตราเสมือน ส่วนเรื่องข้อเสนอให้โฆษณาได้ ตนมองว่า ยิ่งโฆษณามาก จะทำให้คนหันมาดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น.