กอน.เคาะราคาอ้อยขั้นต้นปี 65/66 ที่ 1,080 บาทต่อตัน

กอน. เคาะราคาอ้อยขั้นต้นปี 65/66 ที่ 1,080 บาท/ตัน ดันรายได้ชาวไร่ กังวลเปิดหีบไปแล้ว 64 วัน พบลอบเผาอ้อยกว่า 15 ล้านตัน

นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ได้จัดการประชุมเพื่อขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ในการดูแลชาวไร่ตลอดจนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ รวมทั้งเร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองของประเทศที่เกิดจากการเผาอ้อย ตามนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยในที่ประชุมได้มีมติรับรองการประกาศราคาอ้อยขั้นต้นปีการผลิต 2565/66 ที่ราคา 1,080 บาทต่อตัน ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. อัตราขึ้นลง อยู่ที่ 64.80 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ที่ราคา 462.86 บาทต่อตัน

ทั้งนี้ ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นหรือประชาพิจารณ์จากเกษตรกรชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เรียบร้อยแล้ว โดยจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเร็วๆนี้ ก่อนที่จะประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
.
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กอน. ยังได้มีการเน้นย้ำถึงการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองของประเทศ
ที่เกิดจากการเผาอ้อย ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ของประเทศไทยค่อนข้างวิกฤต และสาเหตุหนึ่งมาจาก
การลักลอบเผาอ้อยก่อนตัดส่งโรงงาน ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงกำหนดเป้าหมายลดการเผาอ้อยในฤดูการผลิตปี 2565/2566 เป็น 0%

พร้อมเน้นย้ำให้ชาวไร่และโรงงานน้ำตาลร่วมมือกับภาครัฐเพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์ให้กับคนไทยในช่วงที่ต้องเผชิญกับโควิด-19 และยังเป็นการหนุนภาคเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว ข้อมูลล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 – 2 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้วกว่า 52 ล้านตัน และในจำนวนนี้เป็นอ้อยที่ถูกลักลอบเผากว่า 15 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 29.93% พบว่ามี 5 จังหวัดที่เผาอ้อยสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 2.03 ล้านตัน อุดรธานี 1.25 ล้านตัน กาฬสินธุ์ 1.21 ล้านตัน เพชรบูรณ์ 1.09 ล้านตัน และสุพรรณบุรี 1.03 ล้านตัน ในขณะที่มี 5 กลุ่มบริษัทที่รับอ้อยเผามากสุด ได้แก่ กลุ่มบริษัทไทยรุ่งเรือง (10 โรง) 3.06 ล้านตัน กลุ่มบริษัทมิตรผล (7 โรง) 2.87 ล้านตัน กลุ่มบริษัทน้ำตาลขอนแก่น (5 โรง) 1.57 ล้านตัน กลุ่มบริษัทวังขนาย (4 โรง) 1.33 ล้านตัน และกลุ่มบริษัทเกษตรไทย (3 โรง) 0.90 ล้านตัน
.
“จากสัดส่วนการลักลอบเผาอ้อยที่เพิ่มขึ้นถือเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างวิกฤต ทั้งสถานการณ์ด้านสภาพอากาศที่ได้รับผลกระทบจากการเผาไหม้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและภาคการท่องเที่ยว อีกทั้งยังสะท้อนได้อย่างชัดเจนว่ามีชาวไร่และโรงงานน้ำตาลจำนวนหนึ่งที่ไม่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการลดปริมาณอ้อยที่ถูกลักลอบเผา กระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการกับเกษตรกรชาวไร่ที่ลักลอบเผา และโรงงานน้ำตาลที่สนับสนุนการเผา” นายภานุวัฒน์กล่าว

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password