สอน. ปลื้ม มาตรการ ‘ฝุ่นลด – งดรับอ้อยเผา’ ช่วงวันหยุด คุมฝุ่น PM 2.5 ได้ผล
นายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยสถิติการรับอ้อยเผารายวันของโรงงานน้ำตาล 58 แห่งทั่วประเทศ ณ วันที่ 11 มกราคม 2568 พบว่า โรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือในการรับอ้อยเผาน้อยกว่า 10% จำนวน 22 แห่ง โรงงานน้ำตาลรับอ้อยเผาเกิน 10-25% จำนวน 32 แห่ง และยังมีโรงงานน้ำตาลที่ไม่ให้ความร่วมมือ ที่ยังคงรับอ้อยเผาเกิน 25% จำนวน 4 แห่ง เฉลี่ยการรับอ้อยเผารายวันทั่วประเทศ คิดเป็น 14.89% ของปริมาณการรับอ้อยเข้าหีบทั้งหมด
โดยภาพรวมเฉลี่ยโรงงานน้ำตาลรับอ้อยเผาสะสมตั้งแต่เปิดหีบอ้อยจนถึงปัจจุบันคิดเป็น 19.57% สะท้อนให้เห็นแล้วว่า มาตรการที่กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือร่วมกับโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศงดรับอ้อยเผาเข้าหีบในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ 2568 จวบจนถึงวันเด็กแห่งชาตินี้ มีประสิทธิผลและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยตัวเลขสถิติรับอ้อยเผาเข้าหีบในปัจจุบันที่ลดต่ำลงกว่า 20% ส่งผลให้ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index หรือ AQI) ในหลายพื้นที่ดีขึ้นตามลำดับ
นายใบน้อย กล่าวว่า แม้ว่าปริมาณการรับอ้อยเผาเข้าหีบจะลดลงทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น แต่ยังพบว่ามีโรงงานน้ำตาลใน จ.อุดรธานี และพื้นที่ใกล้เคียงที่ไม่ให้ความร่วมมือ และยังคงมีการรับอ้อยเผาเข้าหีบสูงเกิน 25% มาตั้งแต่วันเปิดหีบ ทำให้คุณภาพอากาศโดยรวมยังไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
สอน. จึงย้ำมายังผู้บริหารและเจ้าของโรงงานน้ำตาลใน จ.อุดรธานีและพื้นที่ใกล้เคียง ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างจริงจัง เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์ให้ประชาชนให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมกลางแจ้งได้อย่างปลอดภัย ตลอดจนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการ รวมถึงภาคการผลิตภายในประเทศให้เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดชะงักจากสภาวะฝุ่นพิษเกินเกณฑ์มาตรฐาน
จากข้อมูลของ สอน. พบว่า ถ้าโรงงานน้ำตาลรับอ้อยสดเข้าหีบได้กว่า 90% หรือสามารถลดการรับอ้อยเผาเฉลี่ยทั่วประเทศให้ไม่เกิน 10% ของปริมาณการรับอ้อยเข้าหีบทั้งหมดตลอดฤดูการผลิต 2567/68 จะทำให้สามารถลดการเผาอ้อยจากฤดูกาลผลิตที่แล้วลงได้กว่า 22 ล้านตัน หรือเทียบเท่าลดการเผาป่ากว่า 2.2 ล้านไร่ นอกจากนี้ ยังลดการปลดปล่อย PM2.5 ได้อีกกว่า 5,500 ตัน เมื่อเทียบปีก่อน ซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพอากาศทั่วประเทศดีขึ้นเป็นอย่างมาก
ดังนั้น ในฤดูการผลิตปี 2567/68 หากโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศให้ความร่วมมือในการรักษาระดับการรับอ้อยเผาเข้าหีบให้ไม่เกิน 10% ซึ่งเทียบเท่ากับการเผาไร่อ้อยไม่เกิน 10,000 ไร่ต่อวัน จะส่งผลให้ค่า AQI ของอากาศในภาคกลางภาคตะวันออกภาคตะวันออกเฉียงเหนือและกรุงเทพมหานคร อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ไม่ส่งกระทบกับสุขภาพคนไทย ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ในช่วงฤดูหีบอ้อย 4 เดือน คือ ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงมีนาคมของทุกปีได้อย่างแท้จริง และจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศบริสุทธิ์ อย่างที่ควรจะเป็น
“พวกเรา อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจะร่วมกัน คืน “ฟ้าใส ไร้ฝุ่น PM 2.5” ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ ยกระดับศักยภาพการผลิตสู่การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตลอดห่วงโซ่อุปทานให้สอดรับกับกติกาสากล ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ได้อย่างยั่งยืน” นายใบน้อย กล่าว.