‘รองฯพิชัย’ โว! หุ้นไทยยังมีหวัง! เร่งฟื้นเชื่อมั่นต่างชาติ ดึงเข้าจดทะเบียนในไทย

“รองนายกฯพิชัย” โชว์วิชั่นกลางเวที Thailand’s Capital Market Forum 2025 ฉายภาพอนาคตเศรษฐกิจไทย เชื่อ! ตลาดหุ้นไทยยังมีหวัง เร่งฟื้นความเชื่อมั่น ดึงบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุน-จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่ยุคดิจิทัล ชี้! ปรับโครงสร้างใหม่ อาจเปลี่ยนโอกาสตลาดทุนไทยในอนาคต

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Thailand’s Capital Market Forum 2025 หัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจไทย” จัดโดย หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2568 โดยยืนยันว่า ตลาดหุ้นไทย “ไม่มีอะไรที่สิ้นหวัง” หากดูย้อนหลังไป 50 ปีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เคยลดลงจาก 1,700-1,800 จุด เหลือแค่ 200-300 จุด ซึ่งเมื่อตกลงมา 2-3 ครั้ง ตกลงก็จะขึ้นได้ ถ้าตราบใด Capital Market (ตลาดทุน) ยังเป็นสิ่งจำเป็นของการดูแลเศรษฐกิจอยู่ แปลว่าทุกอย่างมีทางแก้ไขเสมอ
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นดัชนีแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 1,100-1,200 จุด และนับตั้งแต่ต้นปีปรับตัวลงค่อนข้างมาก แต่หากพิจารณาตั้งแต่ วาระที่สองของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเห็นได้ว่า ตลาดทุนไทยปรับตัวลงน้อยกว่าหลายประเทศ ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ ตลาดเงินและตลาดทุนของไทยจะมีเงินไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และเงินบาทแข็งค่าชั่วคราว แปลว่าคนเชื่อใจประเทศไทยสะท้อนถึงความมั่นใจของนักลงทุนว่าไทยสามารถจ่ายคืนได้แน่นอน นักลงทุนพร้อมถอนเงินออกหรือลงทุนต่อดังนั้นคำถามที่น่าคิดอนาคตของตลาดทุนไทยจะขึ้นอยู่กับอนาคตของเศรษฐกิจไทย

รองนายกฯพิชัย กล่าวว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) ที่ปรับตัวลงมาตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมา จากระดับ 1,700 จนถึงปัจจุบันที่ระดับ 1,200 จุด ซึ่งยอมรับว่า SET Index ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่าของประเทศอื่นๆ แต่ Fundamental ยังอธิบายได้ เพราะยังมีนักลงทุนรายย่อยกลับเข้ามาบ้าง อนาคตตลาดทุนจะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการลงทุนที่ถูกต้องและแก้ปัญหาที่ถูกจุด เพื่อให้การลงทุนไหลลื่น เกิดการผลิตและการจ้างงาน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เกิดการบริโภคและการส่งออก เสริมจุดแข็งและแก้จุดอ่อน
“ณ ระดับปัจจุบัน SET Index มันมีความนิ่งแล้ว มันไม่มีอะไรทำให้นักลงทุนตกใจจนกระทั่งตัดสินใจถอย และในช่วงครึ่งปีหลัง 2568 จะยังไม่ออกมาตรากระตุ้นตลาดทุนเป็นการเพิ่มเติม ยังใช้กลไกตลาดทุนที่มีอยู่เดินเครื่องต่อไป ส่วนเรื่องการเพิ่มบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์คงไม่ต้องวางเป้าเพิ่มเติมแต่อย่างใด เพราะเป็นสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินการอยู่แล้วตามปกติ” รองนายกฯพิชัย ระบุและว่า..
อย่าลืมว่าตลาดหุ้นเป็นตลาดที่นักลงทุนมองไปอนาคต โดยภาพรวมโครงสร้างของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไม่ตอบสนองต่ออนาคต อาทิ การผลิตสินค้า ทำให้ไทยจำเป็นต้องดึงการลงทุนใหม่ๆ ในเชิงเทคโนโลยี ทั้งนี้ หากไม่นับรวมสงครามการค้ากำแพงภาษีสหรัฐ ไทยมีการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมากเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้น การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในระยะต่อไป จะเน้นการคัดเลือกเพื่อให้นักลงทุนต่างชาติตอบสนองการสร้างอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดย่อยให้เกิดขึ้นในไทย

รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวอีกว่า ส่วนใหญ่บริษัทต่างชาติไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย เพราะเขาไม่ได้ทำธุรกิจแบบครบวงจรในไทย บริษัทที่มาส่วนใหญ่เป็นแค่ส่วนเดียวของบริษัทของเขาที่มีทั่วโลก ทำให้คุณสมบัติไม่เข้าจะจดทะเบียนฯ ในไทย ซึ่งผมมองว่าอยากให้บริษัทข้ามชาติเหล่านี้มาลงทุนแบบเต็มตัว ดึงเอาการวิจัยและพัฒนาที่มีคนไทยเข้าร่วมปฏิบัติการด้วย สนับสนุนการจัดตั้งโรงงาน และสรุปฟันธงว่าสิ่งไหนที่บริษัทต่างชาติจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตในเรื่องนั้นๆ ใช้ไทยเป็นที่เดียวเพื่อจะกระจายสินค้าไปทั่วโลก หากดำเนินการครบถ้วนลักษณะนี้ ก็เหมาะจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ไทยและใช้เงินตราไทย เขาก็จะ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ไทยได้
ส่วนการไล่เรียงมิติของภาคส่วนต่าง ๆ ของเศรษฐกิจไทยนั้น พบว่า โครงสร้างการผลิตยังไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และมีการขยายตัวในอัตราที่ลดลง โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม ซึ่งครอบคลุมกว่า 80% ของพื้นที่ประเทศ แต่ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ทำให้ประชาชนในภาคส่วนนี้ไม่มีกำลังซื้อ
ขณะที่ ภาคอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะด้านการผลิตรถยนต์ ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีฐานการผลิตมายาวนานกว่า 65-70 ปี แต่วันนี้จีนเข้ามาพร้อมอุตสาหกรรม EV จึงต้องมีนโยบายให้หุ้นกับคนไทย รถยนต์รุ่นเก่ายังไม่หมดอนาคต ควรพัฒนาเป็นไฮบริด และรักษาบริษัทผู้ผลิตเดิมกว่า 60 แห่งให้อยู่รอดให้ได้ เพราะการลงทุนจะต้องทำทั้งของเก่าและของใหม่ควบคู่กันไป

นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ดิจิทัลจะเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะการจัดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งมีการใช้พลังงานไฟฟ้าสูง ประเทศไทยมีพื้นที่กว่า 300 ล้านไร่ และไฟฟ้าสำรองกว่า 9,000-10,000 เมกะวัตต์ นักลงทุนจึงเลือกไทย แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องสามารถจัดหาไฟฟ้าสีเขียว ได้เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ นายพิชัย กล่าวว่า ปัจจุบันไทยยังอยู่เพียงระดับ “กลางน้ำ” จึงควรเร่งดึงการวิจัยและการผลิตต้นน้ำเข้ามาให้ได้ โดยเฉพาะจากประเทศสหรัฐฯ ซึ่งแม้จะมีบางช่วงที่ต้องสะดุด แต่รัฐบาลต้องปรับแผนการใช้เงินให้เหมาะสม และเดินหน้าต่อเนื่อง ด้าน โครงสร้างพื้นฐานทางรัฐบาลได้ดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ไปแล้วเกือบ 1,000 กิโลเมตร และตั้งเป้าขยายเพิ่มเป็น 2,000 กิโลเมตรในเฟสที่สอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่ง โดยมองว่าไทยกำลังก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาแลนด์บริดจ์จากกรุงเทพฯ สู่ระนอง

สำหรับ พลังงานและสิ่งแวดล้อม รัฐบาลมีเป้าหมายให้ประเทศไทยลดการปล่อยคาร์บอนลง 30-40% ภายใน 5–10 ปี หากไม่สามารถดำเนินการได้ จะต้องมีการชำระค่าธรรมเนียมความต่าง โดยคาดว่าจะมีตลาดคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้นจริงภายใน 10 ปี ซึ่งจะสามารถจดทะเบียนและซื้อขายได้
ในส่วนของการท่องเที่ยว รองนายกฯพิชัย เห็นว่า ควรปรับจุดหมายปลายทาง (Destination) ใหม่ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากประเทศจีน ที่เปลี่ยนพฤติกรรมจากการใช้จ่ายสูง มาเป็นเน้นการบริโภคท้องถิ่น และใช้เงินน้อยลง พร้อมกันนี้ ยังเสนอให้เปิดทางด้านวีซ่าสำหรับบุคลากรที่มีศักยภาพ คนเก่งควรได้วีซ่าระยะยาว 10 ปี เพื่อดึงดูดให้เข้ามาทำงานและใช้ชีวิตในไทย หากเศรษฐกิจฟื้นตัวเมื่อใด อัตราการย้ายถิ่นฐานของคนไทยจะลดลงเอง
“ทุกครั้งที่เศรษฐกิจไม่ดี จะมีคนบ่น แต่อย่าบ่นเลย ถ้าคิดออก คิดในเชิงสร้างสรรค์ ก็จะดี” รองนายกฯ และ รมว.คลัง ย้ำและว่า…อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ คือ ข้อเสนอด้านสิทธิการใช้ที่ดินของต่างชาติ โดยเสนอให้ต่างชาติสามารถเช่าที่ดินระยะยาวได้ถึง 99 ปี ผ่านระบบที่สิทธิการใช้ถูกโอนให้รัฐถือไว้ก่อน เพื่อป้องกันการถือครองผ่านนอมินี

“เรื่องการเช่าที่ดินเกิดขึ้นทั่วโลก หากต่างชาติอยากลงทุนแต่ติดข้อจำกัด ควรอนุญาตให้โอนสิทธิการใช้ให้รัฐก่อน แล้วออกโฉนดการใช้สิทธิได้ คนเช่าสามารถนำไปกู้ธนาคารได้ พอครบ 99 ปี ที่ดินจะกลับมาเป็นของรัฐ ไม่ต้องหาตัวแทนปลอม สมบัติของชาติก็ไม่หาย และยังสามารถจัดตั้ง Property Fund ได้ในรูปแบบที่ปลอดภัย” นายพิชัย กล่าว พร้อมกับย้ำว่า หากกำหนดเงื่อนไขที่เหมาะสม ไทยจะสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในโครงการขนาดใหญ่ เช่น เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า อนาคตตลาดทุนจะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการลงทุนที่ถูกต้องและการแก้ปัญหาที่ถูกจุด เพื่อจะทำให้การลงทุนไหลลื่น เกิดการผลิต เกิดการจ้างงานที่มีขีดความสามารถให้การแข่งขัน และสามารถบริโภคและส่งออกได้ นั่นคือเป้าหมายที่ต้องการ ดังนั้นเมื่อเดินทิศทางนี้มีความเข้าใจและการสนับสนุน การทำงานในแนวทางนี้ไม่ว่าใครมาทำงานแล้วมีความเข้าใจ ให้เสริมตรงกับจุดแข็งและแก้จุดอ่อนของประเทศไทย ก็จะเป็นทางรอดของเศรษฐกิจ เมื่อเป็นทางรอดของเศรษฐกิจ ก็เป็นโอกาสของตลาดทุน เมื่อเป็นโอกาสของตลาดทุนก็เป็นโอกาสของนักลงทุน.

