ถามคนไทยแบบจริงจังอีกที! ‘เอา – ไม่เอา’ เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์?

ชนะโหวต…ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ มาได้แค่เพียงวันเดียว “ครม.แพทองธาร” มีมติเห็นชอบในหลักการของ ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. … ฉบับ (พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์) ที่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตรวจพิจารณาแล้ว เมื่อการประชุม ครม. วันที่ 27 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา…

ทำเอาอึ้งกันทุกภาคส่วนของสังคมไทย เฉพาะฝ่ายค้าน…พรรคประชาชน

คร่าวๆ เกี่ยวกับ รายละเอียด ร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่ ครม. เตรียมจะชงต่อเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเร็วนี้…

วัตถุประสงค์ของ ร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ระบุเอาไว้ว่า… เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว อันประกอบด้วยสถานบันเทิงครบวงจรที่มีกาสิโน ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนและนำรายได้เข้าสู่ประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการจ้างแรงงานในประเทศด้วย

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง. ผู้ที่รับผิดชอบภารกิจนี้ กล่าวว่า การพัฒนาสถานบันเทิงครบวงจรเป็นการดึงเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศและเป็นเม็ดเงินใหม่จากนักลงทุนที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก (World Class) แบบครบวงจร รวมทั้งพื้นที่สาธารณะเพื่อการนันทนาการและการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย และทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการท่องเที่ยวในภูมิภาค ประกอบกับเป็นการนำธุรกิจกาสิโนและการพนันถูกกฎหมายให้เข้ามาอยู่ในระบบอย่างมีมาตรฐาน ภายใต้การควบคุมของกฎหมาย มีการจัดเก็บรายได้และภาษีอย่างถูกต้อง

ในการนี้ รัฐบาลได้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร เช่น ปัญหาทางการเงินและหนี้สิน ปัญหาอาชญากรรม เป็นต้น โดยได้มีการเตรียมการสำหรับการกำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และเยียวยาเพื่อบรรเทาผลกระทบข้างต้น เช่น การจำกัดคุณสมบัติของผู้เข้าใช้บริการเพื่อไม่ให้กระทบต่อเยาวชนและกลุ่มเปราะบาง การห้ามมิให้มีการเชิญชวน โฆษณา ประชาสัมพันธ์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเกี่ยวกับกาสิโน การกำหนดให้มีสำนักงานและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล ตรวจสอบ และติดตามผลการดำเนินธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรอย่างใกล้ชิด เป็นต้น รวมทั้งให้มีการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดจากการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร แล้วดำเนินการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบดังกล่าว

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ประกอบด้วย 7 หมวด 104 มาตรา โดยมีสาระสำคัญกล่าวคือ กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะนโยบายการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรต่อคณะรัฐมนตรี ออกประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร การควบคุมและมาตรการบังคับ รวมถึงการพิจารณาและออกคำสั่งเกี่ยวกับการออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการเพิกถอนใบอนุญาต นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงานควบคุมการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุม กำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบ ส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร

ทั้งนี้ สถานบันเทิงครบวงจรจะต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และต้องประกอบด้วยธุรกิจสถานบันเทิงตามบัญชีแนบท้ายร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม สถานบริการ สนามกีฬา ยอชต์และครูซซิ่งคลับ สถานที่เล่นเกม สระว่ายน้ำและสวนน้ำ สวนสนุก เป็นต้น อย่างน้อย 4 ประเภท ร่วมกับกาสิโน โดยกาสิโนต้องมีสัดส่วนไม่เกิน 10% ของที่ดินหรือพื้นที่ใช้สอยของอาคารอันเป็นที่ตั้งของสถานบันเทิงครบวงจร และอนุญาตให้มีการพนันได้เฉพาะประเภทที่คณะกรรมการนโยบายฯกำหนด

รวมทั้งต้องจัดให้มีเขตบริเวณของสถานประกอบการกาสิโนที่แยกห่างจากสถานประกอบธุรกิจสถานบันเทิงอื่นอย่างชัดเจน และห้ามบุคคลที่อายุน้อยกว่า 20 ปี เข้ากาสิโน นอกจากนี้ สถานบันเทิงครบวงจรจะต้องประกอบด้วยพื้นที่สำหรับส่งเสริมสินค้า บริการและศิลปวัฒนธรรมไทย ไม่น้อยกว่า 10% ของพื้นที่ทั้งหมดอีกด้วย

นายจุลพันธ์ ย้ำว่า จากนี้ ในการดำเนินการในลำดับต่อไป จะมีการนำร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ฉบับดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2568 ช่วงเวลานั้น ครม.ได้มีมติ อนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวที่จัดทำโดยกระทรวงการคลัง และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายังคงมีหลักการตามที่ ครม.อนุมัติไว้ แต่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น 4 ประเด็นหลัก ดังนี้

1.กำหนดให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายร่วมกัน (เดิมกำหนดให้เป็นนายกรัฐมนตรี)

2.เพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการนโยบาย ในการพิจารณาเรื่องสำคัญที่ต้องเสนอ ครม. เช่น เสนอแนะนโยบายการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือการกำหนดพื้นที่ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร เพื่อประกอบการ พิจารณาของ ครม.

3.แก้ไขกลไกการได้มาซึ่งผู้อำนวยการ โดยให้คณะกรรมการนโยบายแต่งตั้ง (จากเดิมคณะกรรมการนโยบายแต่งตั้ง โดยความเห็นชอบของ ครม.)

4.กำหนดกรอบนโยบายสถานบันเทิงครบวงจรที่คณะกรรมการนโยบายเสนอแนะต่อ ครม.อย่างน้อยต้องประกอบด้วย…

-1.การกำหนดจำนวนใบอนุญาต

-2.พื้นที่ที่จะอนุญาตให้ตั้งสถานบันเทิงครบวงจร

-3.หลักเกณฑ์การพิจารณาร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน

-4.มาตรการป้องกัน แก้ไข และเยียวยาผลกระทบอันอาจเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร

-5.กำหนดเพิ่มเติมให้พื้นที่ที่จะอนุญาตให้ตั้งสถานบันเทิงครบวงจรต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ประกอบด้วย

-6 (กำหนดใหม่) ให้กำหนดสัดส่วนพื้นที่ของกาสิโน โดยเฉพาะสถานที่จัดให้มีการเล่นพนันซึ่งจะต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของที่ดินหรือพื้นที่ใช้สอยของอาคารอันเป็นที่ตั้งของสถานบันเทิงครบวงจร แล้วแต่กรณีใดจะน้อยกว่ากัน

-7.(กำหนดใหม่) กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถานบันเทิงถือว่าเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเกี่ยวกับการก่อสร้างและใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจตามประเภทธุรกิจที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และให้ถือว่าผู้ได้รับใบอนุญาตที่จัดให้มีกาสิโนเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

-8.(กำหนดใหม่) กำหนดให้คณะกรรมการนโยบาย กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อควบคุมการประกอบการกาสิโนโดยต้องมี (8.1) การจัดให้มีมาตรการป้องกันการฟอกเงิน (8.2) ระบบควบคุมกาสิโน ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และ (8.3) มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากกาสิโน (เดิมไม่มี)

-9. กำหนดให้บุคคลสัญชาติไทยซึ่งจะเล่นพนันในกาสิโนต้องมีเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท ต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน และผ่านการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ คณะกรรมการบริหาร กำหนด (เดิมกำหนด ห้ามเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยซึ่งยังมิได้ลงทะเบียนและชำระค่าธรรมเนียมตามที่คณะกรรมการกำหนด)

-10.(กำหนดใหม่) ห้ามผู้รับใบอนุญาตหรือบุคคลใดจ้างหรือให้ผลประโยชน์ตอบแทนอื่นใดแก่บุคคลอื่น หรือเพิ่มยอดหรือจำนวนคนเล่นพนันในกาสิโน หรือเพื่อเพิ่มจำนวนเงินที่ใช้จ่ายในการเล่นพนันในกาสิโน (เดิมไม่มี)

-11.เพิ่มเติมมาตรการปรับเป็นพินัย เช่น ผู้รับใบอนุญาตที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้อำนวยการที่สั่งให้ปฏิบัติข้อกำหนด และปล่อยปละละเลยหรือยินยอมให้บุคคลต้องห้ามเข้าไปในกาสิโน

-12.เพิ่มเติมลักษณะการกระทำความผิดที่จะได้รับโทษทางอาญา เช่น การจัดให้มีการเล่นพนันในกาสิโนผ่านการเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์ หรือถ่ายทอดการเล่นพนันในกาสิโน และกระทำการที่เป็นการเพิ่มยอดหรือเพิ่มจำนวนคนเล่นพนันหรือเพิ่มจำนวนเงินที่ใช้จ่ายในการเล่นพนันในกาสิโน

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน มาแล้ว 3 ครั้ง ในช่วงที่ผ่านมา โดยครั้งที่ 4 ได้ดำเนินการตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-14 มีนาคม 2568 รวมเวลา 15 วันมีผู้แสดงความคิดเห็น 71,289 คน มีผู้เห็นด้วยร้อยละ 80 จำนวน 57,000 คน

ทั้งนี้ ได้นำความเห็นและข้อสังเกตของที่ประชุมที่เน้นให้ความสำคัญกับการกำหนดโครงสร้างของกฎหมายให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของนโยบายรัฐบาล การสร้างความชัดเจนในการกำกับดูแลและการป้องกันผลกระทบเชิงลบด้านสังคม การกำหนดพื้นที่สถานที่ตั้งสถานบันเทิงครบวงจรให้มีความเหมาะสม การกำหนดผู้รักษาการร่วมตามร่าง พ.ร.บ.ฯ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

การพิจารณาความคุ้มค่าในการจัดตั้ง สำนักงานกำกับสถานบันเทิงครบวงจร ความยืดหยุ่นในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร ความเหมาะสมขององค์ประกอบ คณะกรรมการบริหาร การบูรณาการประสานงานระหว่างหน่วยงาน และการสร้างการรับรู้ต่อสังคมในวงกว้างต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาต่อไป เพื่อพิจารณาในวาระรับหลักการ และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา และแปรญัตติภายในระยะเวลาที่สภากำหนด

“ยืนยันว่ารัฐบาลจะสนับสนุนส่งเสริมในส่วนของเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่จะส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยวของประเทศเป็นหลัก โดยจะไม่เน้นเรื่องกาสิโนที่มีอยู่เพียงแค่ 10% และจะดำเนินการตาม พ.ร.บ.อย่างเคร่งครัด” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ

อีกด้านหนึ่ง ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย อย่าง…นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน ที่ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “พริษฐ์ วัชรสินธุ – ไอติม – Parit Wacharasindhu” เมื่อช่วงเย็นวันเดียวกัน โดยระบุถึง 9 ข้อสังเกต : รัฐบาลแพทองธารกำลังเอาอะไรไป “แลก” กับการ “เร่งรัด” เรื่องกฎหมายกาสิโน? ว่า…

นับไม่ถึง 3 วัน หลังจากที่ผมได้อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี โดยชี้ให้เห็นถึงความ “เร่งรีบ” และความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นพิเศษของนายกฯ ในการผลักดันนโยบายกาสิโน ทาง ครม. วันนี้ก็ได้มีมติอนุมัติ ร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร (กาสิโน) ทันควัน โดยแย้มว่าจะพยายามเร่งรัดให้ร่างดังกล่าวได้รับการพิจารณาในวาระที่ 1 ของสภาผู้แทนราษฎร ทันภายในสมัยประชุมนี้ (ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดวันที่ 10 เมษายน) แม้จะต้องเลื่อนมาแซงหน้ากฎหมายอื่นที่รอคิวอยู่

ผมอยากชวนให้ทุกคนตั้งข้อสังเกต ว่า ทั้งที่นโยบายนี้ไม่ได้เป็นนโยบายที่รัฐบาลหาเสียงไว้ช่วงการเลือกตั้ง แต่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดนี้กลับดูมีความพร้อมที่จะเหยียบคันเร่งและเดินลุยไฟเต็มที่ แม้ต้องแลกกับหลายอย่างที่เสี่ยงจะสร้างผลเสียต่อประเทศและประชาชน

1. เร่งรัด แม้จะต้องเลี่ยงบาลีและไม่สื่อสารตรงไปตรงมากับประชาชนตั้งแต่ต้น

– นายกรัฐมนตรีชอบพูดเสมอ (และพูดอีกรอบหลังประชุม ครม. วันนี้) ว่านโยบายนี้ของรัฐบาลเน้นไปที่ “สถานบันเทิงครบวงจร” (ไม่ใช่กาสิโน) และกาสิโนจะเป็นเพียงแค่ไม่เกิน 10% ของพื้นที่ในสถานบันเทิงครบวงจร

– แต่ร่างกฎหมายที่ ครม. อนุมัติวันนี้ (ร่างมาตรา 50) เขียนชัดว่ากาสิโนเป็น “หัวใจหลัก” ของสถานบันเทิงครบวงจร เพราะ “สถานบันเทิงครบวงจร” จะมีบริการต่างๆอะไรก็ได้อย่างน้อย 4 ประเภท (เช่น ห้าง / โรงแรม / สวนสนุก) แต่จะ “ขาด” หรือไม่มีกาสิโน *ไม่ได้* / ยังไม่นับว่าสถานบันเทิงครบวงจรในประเทศอื่นหลายแห่งที่มีพื้นที่กาสิโนไม่เกิน 10% ก็มีรายได้จากาสิโนคิดเป็นเกิน 80% ของรายได้ทั้งหมด จนเรียกได้ว่าเป็น “ธุรกิจหลัก” ในสถานบันเทิงครบวงจรดังกล่าว

2. เร่งรัด แม้จะกลับไปกลับมาเรื่องหลักการและวัตถุประสงค์ โดยไม่มีรายงานการศึกษาที่ละเอียดและน่าเชื่อถือเพียงพอมารองรับ

– รัฐบาลกลับไปกลับมาว่าจะเน้นผู้เล่นจากไหน : วันหนึ่งอ้างอิงรายงานต่าง ๆ (เช่น ของ กมธ.วิสามัญฯ ที่ รมช. เป็นประธาน) ที่บอกว่ารายได้ส่วนใหญ่ของกาสิโน (70-80%) จะมาจากผู้เล่นคนไทย / วันนี้พูดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเน้นดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก

– รัฐบาลกลับไปกลับมาว่าตั้งใจจะใช้กาสิโนเพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายหรือไม่ : วันหนึ่งบอกว่าจะเอากาสิโนมาแก้ปัญหาการพนัน โดยพยายามดึงคนไทยที่เล่นพนันผิดกฎหมายมาเล่นที่กาสิโนแทน / อีกวันกลับยอมเติมเงื่อนไขจากกฤษฎีกาที่ทำให้คนไทยเข้าเล่นกาสิโนไม่ได้ ยกเว้นเฉพาะเศรษฐีไม่กี่คนที่มีเงินฝากในบัญชีเกิน 50 ล้านบาท ต่อเนื่อง 6 เดือน

3. เร่งรัด แม้ประโยชน์เรื่องการท่องเที่ยวยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการประเมินความเสี่ยงเรื่องปฏิกิริยาของรัฐบาลจีนและผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวจีน

– ที่ผ่านมาเราเห็นถึงความพยายามของรัฐบาลจีนในการลดจำนวนนักท่องเที่ยวจีน ที่เดินทางไปเล่นกาสิโนที่ประเทศอื่น (เช่น นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปฟิลิปปินส์ลดลงอย่างมากเทียบกับก่อนโควิด / คนจีนในสิงคโปร์ก็เพิ่งถูกรัฐบาลจีน “เตือน” ว่าการเล่นพนันที่กาสิโนในสิงคโปร์ก็เสี่ยงจะผิดกฎหมายจีน)

– นายกฯ เองก็ถูกประธานาธิบดีของจีนถามย้ำหลายรอบเรื่องกาสิโน ตอนเจอกันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งควรจะทำให้เราต้องประเมินและชั่งน้ำหนักกันดีๆ ว่าหากจีนมีแนวโน้มจะปรับนโยบายของเขาเพื่อคุมเข้มคนจีนให้เดินทางมาเที่ยวที่ไทยได้ยากขึ้นในวันที่ประเทศไทยมีกาสิโน รายได้การท่องเที่ยวที่เราจะได้เพิ่มขึ้นจากกาสิโนจะมากกว่าหรือน้อยกว่ารายได้ที่เราอาจจะเสียไปจากนักท่องเที่ยวจีน (ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นถึง 20% ของรายได้การท่องเที่ยวไทย) และเราจะรับมือหรือลดความเสี่ยงดังกล่าวอย่างไร?

– แน่นอนว่าเราต้องไม่ดำเนินนโยบายโดยไหลตามความต้องการประเทศอื่น แต่หากเราทำการต่างประเทศโดยเอาประโยชน์ของคนไทยและประเทศไทยเป็นตัวตั้ง ผมคงจำเป็นต้องตั้งคำถามจริงๆ ถึงวิจารณญาณของนายกฯ ที่พร้อมจะ “ยืนหยัดต่อจีน” เรื่องกาสิโน ทั้งที่มีความเสี่ยงจะสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวจีน แต่กลับพร้อมเป็น “เด็กดีที่เชื่อฟังจีน” ในเรื่องอื่น (เช่น กรณีอุยกูร์) ทั้งที่คนไทยเสี่ยงจะถูกกระทบเรื่องการค้าขายกับสหภาพยุโรปและสหรัฐ

4. เร่งรัด แม้จะต้อง “ตีเช็คเปล่า” เกี่ยวกับเรื่องสำคัญทั้งหมด ให้ไปเป็นการตัดสินใจในภายภาคหน้าของคณะกรรมการนโยบายของฝ่ายบริหาร โดยขาดหลักประกันในกฎหมายหรือการตรวจสอบของสภาฯ

– ร่างกฎหมายนี้ มีการเสนอให้ตั้งคณะกรรมการนโยบาย หรือ Super Board ที่อยู่ภายใต้การดูแลหรือการแต่งตั้งโดยนายกฯเกือบทั้งหมด โดยกำหนดให้เรื่องสำคัญส่วนใหญ่ตกไปเป็นอำนาจของคณะกรรมการในการตัดสินใจหรือเสนอแนะ ครม. (เช่น จำนวนกาสิโน / จังหวัดที่ตั้งกาสิโน / มาตรการป้องกันและเยียวยาผลกระทบ / ประเภทการพนันในกาสิโน / มาตรการป้องกันการฟอกเงิน / สัดส่วนการจ้างงานคนไทย / หลักเกณฑ์เรื่องการขอใบอนุญาต)

– บางเรื่องที่น่าจะกำหนดได้ในตัวบทกฎหมาย เพื่อเป็นหลักประกันให้กับสังคมและเพื่อให้สภามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ (เช่น เพดานเรื่องจำนวนกาสิโนที่จะอนุมัติในชุดแรก เพื่อทดลองนำร่องก่อน / มาตรการป้องกันหรือแจ้งเดือนตนเองหรือคนในครอบครัวจากการเล่นพนันเกินตัว

สัดส่วนขั้นต่ำในการจ้างงานคนไทย) กลับไม่มี

5. เร่งรัด แม้จะต้องทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนและการทำประชาพิจารณ์ในพื้นที่ แคบลง

– ในมุมหนึ่ง เราเห็นแล้วถึงท่าทีของรัฐบาลในการปัดตกข้อเสนอที่จะให้ประชาชนตัดสินใจเองผ่านการทำประชามติ ทั้งๆ ที่ พ.ร.บ.ประชามติ ฉบับใหม่ที่จะคลอดได้ปีนี้ เพิ่มความยืดหยุ่นในการทำประชามติในบางพื้นที่ (โดยไม่จำเป็นต้องทำทั้งประเทศ) และในวิธีการออกเสียง (เช่น ออนไลน์ ไปรษณีย์)

– ในอีกมุมหนึ่ง แม้จะไม่พิจารณาถึงขั้นการทำประชามติ แต่กระบวนการในการทำประชาพิจารณ์ หรือ “รับฟังความเห็น” ประชาชนก่อนตั้งกาสิโน ก็ถูกกำหนดให้แคบลง – ในขณะที่ร่างกฎหมายของ กมธ วิสามัญฯ เมื่อปีที่แล้วระบุว่าต้องรับฟังความเห็นทั้ง “ประชาชนในท้องที่” และ “ประชาชนในท้องที่ใกล้เคียง” รวมถึงกำหนดว่าจะต้องรับฟังผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย แต่ร่างของ ครม. กลับเขียนแค่ให้รับฟังความเห็น “ประชาชนในพื้นที่”

6. เร่งรัด แม้จะถูกตั้งข้อสังเกตว่าไปทำ “ดีล” กับพรรคร่วมรัฐบาลมาหรือไม่ เพื่อแลกเรื่องพนันออนไลน์?

– ข้อสงสัยนี้เกิดขึ้นเพราะแม้พรรคภูมิใจไทยเคยตั้งโต๊ะแถลง (13 สิงหาคม 2567) ว่า “ไม่เห็นด้วย” กับ ร่างกฎหมายกาสิโน ใน 4 ประเด็น (การแก้ปัญหาการพนัน / ผลประโยชน์รัฐ / การกระตุ้นการท่องเที่ยว / การจ้างแรงงานไทย) แต่พอผ่านไปไม่กี่เดือน ท่าทีของหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยก็เปลี่ยนไป (เช่น การร่วมกับ ครม. อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ตอน 13 มกราคม 68) ทั้งๆ ที่ร่างกฎหมายในวันนี้ ไม่ได้แตะหรือแก้ไขใน 4 ประเด็นที่พรรคภูมิใจไทยเคยคัดค้านเลย

– สิ่งเดียวที่เปลี่ยนไปคือการโผล่ขึ้นมาของร่างแก้ไข พ.ร.บ.พนัน ที่ไปเพิ่มดุลพินิจอย่างมหาศาลในการออกใบอนุญาตการพนันออนไลน์อย่างถูกกฎหมายให้กระทรวงมหาดไทย (ภายใต้การนำของหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย) จนทำให้สังคมตั้งคำถามว่าตรงนี้เป็นการแลกกันภายในพรรคซีกรัฐบาลหรือไม่ ระหว่าง “การพนันในกาสิโน” กับ “การพนันออนไลน์”

7. เร่งรัด แม้ไม่มีการเสนอแนวทางการแก้ปัญหาการพนันคู่ขนาน

– หากรัฐบาลจะอ้างว่าแนวทางการแก้ปัญหาการพนันเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร (กาสิโน) คำถามที่ตามมาคือแล้วเหตุใดรัฐบาล ไม่เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.การพนัน ที่เป็นการปรับปรุงกลไกดังกล่าวมาควบคู่กัน แทนที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ.กาสิโนมาอย่างโดดๆ

– หากจะอ้างถึงร่างแก้ไข พ.ร.บ.การพนัน ฉบับที่มีการเปิดรับฟังความเห็นไปเรื่องพนันออนไลน์ ร่างดังกล่าวก็ยังขาดมาตรการสำคัญในการแก้ปัญหาการพนันออนไลน์ (เช่น การป้องกันการเข้าถึง การติดตามข้อมูลการเล่นของผู้เล่น การทบทวนองค์ประกอบของคณะกรรมการ) ที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องมี หากต้องการจะแก้ปัญหาพนันออนไลน์ได้จริง

8. เร่งรัด แม้ไม่มีการเสนอแนวทางการแก้ปัญหาอื่นๆ ที่อาจถูกซ้ำเติมโดยกาสิโน (เช่น คอร์รัปชั่น)

– ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีกาสิโนย่อมมาพร้อมกับข้อกังวลหรือความเสี่ยงเรื่องปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันและปัญหาการฟอกเงิน ซึ่งควรจะต้องถูกแก้ไขอย่างจริงจังควบคู่กัน

– แม้รัฐบาลชอบอ้างอิงถึงกาสิโนในสิงคโปร์ แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลมักไม่พูดคือสถานการณ์เรื่องการทุจริตของสิงคโปร์กับไทยเราต่างกันมาก – ในขณะที่สิงคโปร์มีคะแนนความโปร่งใส (Corruption Perceptions Index 2024) สูงถึง 84/100 คิดเป็นอันดับ 3 ของโลก ประเทศไทยกลับมีคะแนนอยู่ที่ 34/100 (ต่ำสุดในรอบ 12 ปี) คิดเป็นอันดับ 107 ของโลก

– สิ่งที่น่ากังวลตอนนี้ คือการที่รัฐบาลตัดสินใจเดินหน้าเรื่องกาสิโนอย่างเร็ว แต่กลับยังไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเท่าที่ควร (เช่น ครม. ยังไม่ดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้ข้อมูลรัฐถูก “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” จนทำให้ประชาชน หรือ ส.ส. ทุกวันนี้ก็ยังเข้าไม่ถึงแม้กระทั่งข้อมูลขึ้นพื้นฐาน (เช่น จำนวนนายพลในกองทัพ รายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้าง Web App ประกันสังคม))

9. เร่งรัด แม้จะต้องลัดคิวกฎหมายอื่นๆ (เช่น โรงงาน / การแข่งขันทางการค้า / การยกเลิกเกณฑ์ทหาร)

– หากเรามองเวลาการประชุมสภาฯ เป็น “ทรัพยากร” ที่สำคัญในการพิจารณาการแก้ไขกฎหมาย รัฐบาลต้องจัดสรรเวลาดังกล่าวและจัดลำดับความสำคัญของร่างกฎหมายต่างๆ ให้สอดคล้องกับปัญหาประเทศ

– แม้เป็นที่เข้าใจได้ว่ากฎหมายที่ ครม.เสนอเข้ามา จะมี “ตั๋วพิเศษ” ที่ทำให้ลัดคิวกฎหมายอื่นๆ ที่ค้างอยู่ในระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา แต่ทุกครั้งที่ ครม.เสนอกฎหมายเข้ามาลัดคิว คือทุกโอกาสที่สูญเสียไปกับการพิจารณากฎหมายที่ ส.ส.เสนอ ที่ค้างอยู่ในระเบียบวาระ

– ตัวอย่างของร่างกฎหมายที่ ส.ส.พรรคต่างๆ เสนอ ที่จ่อคิวอยู่ใน 10 คิวแรก มีตั้งแต่เรื่องการควบคุมความปลอดภัยของโรงงาน / การแก้ปัญหาทุนผูกขาด / การยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร / การเปิดเผยข้อมูลรัฐให้โปร่งใส

– ดังนั้น หากรัฐบาลจะเสนอให้นำกฎหมายกาสิโนของ ครม. เข้ามาลัดคิวก่อนจะปิดสมัยประชุมในเดือนเมษายนนี้ ก็แสดงว่ารัฐบาลเห็นว่าเรื่องกาสิโนมีความเร่งด่วนกว่าเรื่องกฎหมายอื่นๆ ที่รัฐบาลเห็นว่าควรรอคิวต่อไป

ฟังข้อมูลจากการเมือง 2 ฝั่ง…คนไทยคิดกันเอง “เอา – ไม่เอา” กฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์!!!.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password