กรมธนารักษ์ผุด 3 แผนยุทธศาสตร์ อัพทรัพย์สินทั่วไทย ทั้งเชิงปริมาณ/คุณภาพ

“อธิบดีกรมธนารักษ์” เร่งระดมสมองสร้าง “3 แผนยุทธศาสตร์” หวังอัพทรัพย์สินทั่วประเทศ ทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ เผย! สัปดาห์หน้า นัดถกทำ “มาสเตอร์แพลน” สร้าง “นครนายกโมเดล” เป็นต้นแบบการพัฒนาที่ราชพัสดุให้กับธนารักษ์ทั่วไทย

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมฯอยู่ระหว่างการระดมความคิดในการจัดทำ แผนยุทธศาสตร์เพื่อยกระดับการจัดการทรัพย์สินของรัฐจากที่ราชพัสดุทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการวางแผนและดำเนินงาน และ จะเร่งดำเนินการประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ระดับสูงตลอด 2-3 เดือนนับจากนี้ โดยมีแผนจะจัดประชุมฯที่จังหวัดนครนายกในสัปดาห์หน้า เพื่อกำหนดแผนยุทธศาสตร์ของกรมฯ ผ่านการจัดทำเป็น “มาสเตอร์แพลน” ในการบริหารจัดการทรัพย์สินของกรมธนารักษ์ พร้อมกันนี้ จะให้ ธนารักษ์พื้นที่ทุกแห่งเสนอแผนงานเชิงยุทธศาสตร์ในพื้นที่ตัวเองโดยอิงระบบนิเวศน์ที่เป็นอยู่ เข้าสู่ที่ประชุมฯ เพื่อสร้างเป็น “นครนายกโมเดล” หรือ “ต้นแบบ” ในการบริหารที่ราชพัสดุให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ธนารักษ์พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะตอบโจทย์ใน 4 ประเด็นหลักสำคัญ กล่าวคือ…

1. ยกระดับสินทรัพย์ในมิติวัฒนธรรม เช่น ”พิพิธตลาดน้อย” รวมถึง พิพิธภัณฑ์กรมธนารักษ์อื่นๆ อีก 4 แห่ง และ พื้นที่ราชพัสดุอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยจะต้อง ดึงเอาความร่วมมือจากคนในชุมชนมาร่วมในการพัฒนาและสร้างเรื่องราวที่น่าสนใจ ส่งผ่านจากวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนในชุมชน ไปสู่การผลิตสินค้า อาหาร/เครื่องดื่ม และการท่องเที่ยวที่เน้นอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงาม เนื่องจากแต่ละพื้นที่ล้วนมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ดังนั้น ธนารักษ์พื้นที่แต่ละแห่งจะต้องดึงเอาจุดเด่นของชุมชนต่างๆ มาสร้างสรรค์เพื่อยกระดับสินทรัพย์เชิงวัฒนธรรม ต่อไป

2. ยกระดับสินทรัพย์ในมิติสังคม โดยนำที่ราชพัสดุ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดราว 12.5 ล้านบาท แต่ส่วนใหญ่อยู่ในความรับผิดชอบของส่วนราชการอื่นๆ เหลือเป็นที่ดินที่อยู่ในความดูแลของกรมฯเพียงกว่า 9 แสนไร่ ทั้งนี้ มีที่ราชพัสดุหลายแห่งที่ส่วนราชการไม่ได้ใช้งานและประสงค์จะคืนให้กับกรมฯ โดยจะนำที่ราชพัสดุดังกล่าวมาจัดสรรเพื่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัย รองรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย รายได้ปานกลางในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาบ้านอยู่อาศัยให้กับประชาชน

3.ยกระดับสินทรัพย์ในมิติเศรษฐกิจ เนื่องจากปัจจุบัน มีการตัดถนนเส้นใหม่ๆ ผ่านที่ราชพัสดุ ทำให้ราคาที่ดินเปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อวัตถุประสงค์ของการให้เช่าที่ดินและการกำหนดราคาเช่าฯ ทั้งนี้ เมื่อครบกำหนดเวลาสัญญาเช่าฯ กรมฯจะนำที่ราชพัสดุดังกล่าวมาพิจารณาเพื่อยกระดับสินค้าเชิงเศรษฐกิจต่อไป พร้อมกันนี้ กรมฯได้ปรับเปลี่ยนวิธีการประเมินที่ดินทั่วประเทศใหม่ โดยใช้เทคโนโลดิจิทัล มาช่วยในการพิสูจน์พื้นที่ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ สอดคล้องกับราคาตลาดที่แท้จริง ซึ่งปัจจุบัน กรมฯได้ทำการประเมินราคาที่ดินเป็นรายแปลง แทนที่เดิมที่ใช้วิธีสุ่มรวม โดยได้ดำเนินการมาแล้วร้อยละ 50 ของที่ดินทั้งหมดทั่วประเทศ ทั้งนี้ การประกาศราคาประเมินที่ดินที่รอบใหม่ของกรมฯในปี 2570 นี้ เชื่อว่าจะใกล้เคียงกับราคาตลาด ณ ปัจจุบัน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ใช้เป็นราคาอ้างอิงในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดิน ซึ่งราคาประเมินที่ดินใหม่ จะช่วยเพิ่มวงเงินในการทำนิติกรรมสัญญาและทำให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีจากวงเงินที่เพิ่มขึ้น อีกด้วย

อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวอีกว่า กรมฯยังมีแนวคิดในการยกระดับตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญกษาปณ์ เนื่องจากปัจจุบัน เหรียญกษาปณ์ของไทยเป็นที่ต้องการต้องนักสะสมทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยขณะนี้  ภาคเอกชนได้สร้างตลาดรองและกำหนดราคาซื้อขายเหรียญกษาปณ์ เพื่อการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันมานานแล้ว โดยมีทั้ง เหรียญกษาปณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน นับแต่อดีตเป็นต้นมา จนถึง เหรียญที่ระลึกในวาระสำคัญและพิเศษ อีกเป็นจำนวนมาก โดยในส่วนของ กรมธนารักษ์จะเข้าดูแลในเรื่องการสร้างมาตรฐานและจัดประเภทของเหรียญกษาปณ์ เพื่อให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของสากล ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักสะสม ส่วนการซื้อขายและสร้างตลาดรองขึ้นมารองรับ ปล่อยให้เป็นเรื่องของภาคเอกชน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password