โอกาสประเทศไทย? ผ่านเวที WEF AM25 – เจรจาทวีภาคี – ‘TH – EFTA FTA’

การยกคณะของ “ทีมรัฐไทย” ภายใต้การนำของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum ประจำปี 2568 (WEF Annual Meeting 2025: WEF AM25) จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 55
ภายใต้หัวข้อหลัก “Collaboration for the Intelligent Age” เพื่อหารือเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูงให้เกิดคุณประโยชน์สูงสุด ในการสนับสนุนการค้าการลงทุนซึ่งจะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ในบริบทของสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกในปัจจุบันที่สลับซับซ้อนและท้าทาย ระหว่างวันที่ 20-25 มกราคม 2568 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส
ได้อะไรมากกว่าที่คิดและคาดหวังเอาไว้หรือไม่????
ไม่เพียงเป้าหมายที่ “ผู้นำไทย” ที่ได้ใช้ เวที WEF AM25 โชว์วิสัยทัศน์และนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลไทย เพื่อตอกย้ำถึงศักยภาพและความพร้อมของไทยที่จะขับเคลื่อนไปสู่ยุคดิจิทัล สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และขยายโอกาสของภาคเอกชนไทยในตลาดโลก
แต่พราะเวทีนี้ ถือว่า มีอิทธิพลสูงมากต่อความตระหนักรู้ของสาธารณชนและสื่อมวลชนชั้นนำระดับโลก อีกทั้งยังจะมีการพบหารือทวิภาคีกับระหว่างผู้แทนระดับสูงจากภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศ และผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทชั้นนำของโลก โดยเฉพาะจากภูมิภาคยุโรป
จึงทำให้บทบาทของไทยในเวทีระดับนานาชาติ กลายเป็นความสนใจของผู้นำและรัฐบาลหลายๆ ประเทศ
เช่นกัน หลายเวที ที่ “นายกฯแพทองธาร” และคณะ แยกไปหารือในระดับทวิภาคี บนภาคพื้นยุโรปในรอบนี้ ล้วนสร้างโอกาสใหม่อันดีต่อทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายไทย ที่ทุกภาคส่วนจะต้องขยายผลเชิงลึกกัน ต่อไป
ล่าสุด สิ่งที่ได้ริเริ่มในสมัยของ “รัฐบาลลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะ ความตกลง FTA ระหว่าง “ไทย – EFTA” ถึงวันนี้…ได้เห็นผลเป็นรูปธรรม และจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจของไทยในวันข้างหน้าได้เป็นอย่างดี
โดยเมื่อช่วงสายของวันที่ 23 มกราคม 2568 ตามเวลาท้องถิ่นเมืองดาวอส ณ House of Switzerland, “นายกฯแพทองธาร” ได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน การลงนามความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศ (EFTA) (TH-EFTA FTA) กับผู้แทนจากรัฐบาลไทยและประเทศสมาชิก EFTA หรือ สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ซึ่งประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์
นับเป็น…ครั้งแรกของไทย ใน FTA ระดับโลก และเป็น FTA ฉบับแรกที่สำเร็จภายใต้รัฐบาลนี้ ซึ่งนอกจากจะช่วย เสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับ EFTA แล้ว FTA นี้ยังจะส่งเสริมความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในสาขาต่างๆ เช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง การพัฒนาทุนมนุษย์ การส่งเสริม SME และการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกด้วย
โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย… (1) นายกี ปาร์เมอแล็ง รองประธานาธิบดีและรมว. กระทรวงเศรษฐกิจ การศึกษาและวิจัย สมาพันธรัฐสวิส ในฐานะเจ้าภาพ และโฆษกการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (2) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประเทศไทย(3) นางสาวเซซิเลีย มีร์เซท รมว. ด้านการค้าและอุตสาหกรรม ราชอาณาจักรนอร์เวย์ ในฐานะประธาน รมว. สมาคมการค้าเสรี แห่งยุโรป (EFTA) ปี ค.ศ. 2025
(4) นาย Martin Eyjolfsson ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ไอซ์แลนด์ (5) นางสาวดอมีนิก ฮัสเลอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศ การศึกษา และกีฬา ลิกเตนสไตน์ และ (6) นายเคิร์ท เยเกอร์ เลขาธิการ EFTA
ทั้งหมดที่เข้าร่วม พิธีลงนามความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน ถือว่าเป็น “บุคคลสำคัญ” ที่จะส่งผลต่อความร่วมมือทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ฯลฯ รวมถึงด้านการท่องเที่ยว ที่จะก่อประโยชน์ต่อประเทศไทย จำเป็นที่ฝ่ายไทยจะต้องรักษาสถานภาพนี้เอาไว้ และขยายผลเชิงสร้างสรรค์กันต่อ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า…ในยุคของ “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์” ได้ปูทาง สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ผ่านการรเจรจาเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) หลายฉบับ และก็มีความคืบหน้าอย่างมากและต่อเนื่อง จนมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน
หลายฝ่ายเชื่อมั่นว่า…ผลพวงจากวันวาน จะมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพและความสามารถทางการแข่งขันของไทยท่ามกลางความท้าทายเศรษฐกิจโลก
จำเป็นอย่างยิ่งที่ “รัฐบาลแพทองธาร” และผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย อย่าง…นายทักษิณ ชินวัตร จะต้องตระหนักรู้ถึงสิ่งเหล่านี้
ร่วมกันนำพาประเทศไทยและระบบเศรษฐกิจไทย ก้าวไปให้พ้นจากวังวนแห่งหลุมดำการเมืองและเศรษฐกิจ อย่าให้ซ้ำรอยอดีตอย่างเด็ดขาด!!!.