กลาโหมไทยร่วมถก ‘กลาโหมอาเซียน’ หนุนสร้างเสถียรภาพภูมิภาค ภายใต้ ‘ภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนเร็ว!’

กลาโหมไทยร่วมประชุม ADMM ครั้งที่ 18 และการประชุมรมว.กลาโหม ประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 11 ณ สปป.ลาว 19 – 22 พ.ย.2567 หวัง 10 ชาติอาเซียน คลายปมทางใจ พร้อมร่วมกำหนดแนวทางและขับเคลื่อนความมั่นคงในภูมิภาค สร้างเสถียรภาพ ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างรวดเร็ว

พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยถึง การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน หรือ ASEAN Defence Ministers’ Meeting (ADMM) ครั้งที่ 18 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 22 พฤศจิกายน 2567 ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่า เป็นกลไกการหารือที่สำคัญของรัฐมนตรีกลาโหมประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ โดยถือเป็นกรอบความร่วมมือที่สำคัญยิ่งในภูมิภาค เนื่องจากเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้นำระดับสูงฝ่ายกระทรวงกลาโหมของประเทศสมาชิกอาเซียนได้ทำความคุ้นเคย สร้างความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างความเป็นมิตร เพิ่มความไว้วางใจ และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นกลไกสร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาความมั่นคงอีกหลายด้าน อาทิ การพัฒนาขีดความสามารถในการช่วยเหลือประชาชนในยามเกิดภัยพิบัติ การแพทย์ทหาร ความมั่นคงทางไซเบอร์ การต่อต้านการก่อการร้าย และการแพร่ขยายแนวคิดรุนแรง เป็นต้น

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการประชุม ADMM เป็นไปเพื่อสร้างสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงในภูมิภาค สร้างความเชื่อมั่นและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศ 10 ประเทศในอาเซียน สาระสำคัญของการประชุมเพื่อยกระดับความร่วมมือทางทหารของอาเซียนให้เทียบเท่ากับความร่วมมือด้านการต่างประเทศและด้านเศรษฐกิจ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยรัฐมนตรีกลาโหมประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และเลขาธิการอาเซียน (ปัจจุบันราชอาณาจักรกัมพูชาดำรงตำแหน่งอยู่) ตัวแทนฝ่ายไทยที่เข้าร่วมประชุมฯ คือ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ซึ่งนอกจากเวทีการประชุม ADMM ครั้งที่ 18 ยังมีการประชุม ADMM-Plus ครั้งที่ 11 ซึ่งที่ประชุมจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองโดยตระหนักถึงความท้าทายด้านความมั่นคง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์การแข่งขันของประเทศมหาอำนาจและภัยคุกคามรูปแบบใหม่

โฆษกกระทรวงกลาโหม ระบุว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และผลักดันความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา รวมทั้งมีการปฏิสัมพันธ์กับภาคีภายนอกภูมิภาคอย่างครอบคลุมและสมดุล เพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นและความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนได้ให้การรับรองแถลงการณ์ร่วม ของการประชุมว่าด้วยเรื่องของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ยังได้เข้าร่วมงานเฉลิมฉลองความสัมพันธ์อาเซียน-เครือรัฐออสเตรเลีย ครบรอบ 50 ปี และความสัมพันธ์อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีครบรอบ 35 ปี รวมทั้งเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐอเมริกา และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีน (อย่างไม่เป็นทางการ)

รวมถึงการหารือทวิภาคีร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประเทศสมาชิกอาเซียนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประเทศคู่เจรจา ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา มาเลเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐเกาหลี สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน และเครือรัฐออสเตรเลีย รวมทั้งเลขาธิการอาเซียน ในการส่งเสริมความสัมพันธ์และเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้จากการประชุมครั้ง ดังนี้

1.ทำให้มีการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในการใช้ทรัพยากรทางทหาร เพื่อรับมือกับความท้าทายรูปแบบใหม่ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อสวัสดิภาพ และความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน อาทิ การบรรเทาภัยพิบัติและการสนับสนุนทางการแพทย์ ความมั่นคงทางไซเบอร์ การต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดรุนแรงสุดโต่ง เป็นต้น

2.การประชุม ADMM เป็นกลไกสำคัญของการเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่น และความเป็นศูนย์รวมของอาเซียน รักษาความเป็นมิตรและการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่ายอย่างสมดุล หลีกเลี่ยงการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ทำให้อาเซียนเป็นพื้นที่ซึ่งทุกฝ่ายสามารถเข้ามามีปฏิสัมพันธ์อย่างสะดวกใจ เพื่อส่งเสริมให้อาเซียนสามารถเป็นภูมิภาคแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และการสร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน อันจะส่งผลดี ต่อความมั่นคงปลอดภัย และการกินดีอยู่ดีของประชาชนในภูมิภาค

และ3.การประชุม ADMM-Plus เสริมสร้างความสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา และระหว่างประเทศคู่เจรจาด้วยกัน ซึ่งภายใต้บริบทการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะระหว่างประเทศมหาอำนาจเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพ ความมั่นคง การอยู่ดีกินดีและการสร้างความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคและประชาชนในภูมิภาค

อนึ่ง มาเลเซียจะรับไม้ต่อเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password