(อ้าง)เกียร์ว่าง?

สะเทือนไปทั้งบาง! สำหรับกระทรวงใหญ่ย่านคลองหลอด หลังวาทกรรม “เกียร์ว่าง” ถูก นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย “รักษาการนายกรัฐมนตรี” นำมาอ้างในการจัดการเชิงกลยุทธ์สำหรับแผนปฏิบัติการ “3S – Seal Stop Safe”
นั่นก็หมายควมว่า…ข้าราชการในทุกหน่วยงาน ใต้อาณัติ “มหาดไทย” จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้หมดไปภายใน 3 เดือน นับจากนี้…
พร้อมกับคำเตือนแรงๆ…“ถ้าใครไม่ขับเคลื่อนนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง อย่าคิดว่าตัวเองจะรอดจากการถูกโยกย้าย”
“เกียร์ว่าง” ในสถานการณ์นี้ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะ…การปล่อยปละละเลย แต่รวมถึงการไม่ขยับ ไม่กระตือรือร้น
รวมถึง พวกข้าราชการที่เข้าไปมีเอี่ยวกับ “เครือข่ายยาเสพติด”
คนในกลุ่มนี้…ล้วนอยู่ในข่าย “บัญชีดำ” ที่จะต้องได้รับการจัดการอย่างรุนแรงและรวดเร็ว
แผนปฏิบัติการ “3S – Seal Stop Safe” ภายใน 3 เดือน มีเป้าหมายสำคัญคือ “ปิดล้อม” เครือข่ายยาเสพติดแบบ “หยุดยั้ง-ปลอดภัย” ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านจนถึงจังหวัด
“หากพบข้าราชการไม่ดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่ว่าระดับใด ตั้งแต่ ผู้ว่าราชการจังหวัด, นายอำเภอ, ปลัดจังหวัด, ตำรวจ, หรือแม้แต่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน จะต้องรับผิดชอบ”
นี่ไม่ใช่คำขู่! แต่คือ…
สั่งย้ายจริง!!!
สัญญาณชัดๆ ที่ นายภูมิธรรม ส่งเตือนถึงบรรดาข้าราชการในอาณัติ ว่า…มันไม่ได้จบแค่คำขู่! แต่คือ…ย้ายจริง!
นั่นคือ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ได้มีการลงนามโยกย้ายข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ประกอบด้วย…อธิบดีกรมการปกครอง และอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
อีกทั้งยังมี…ผู้ว่าราชการจังหวัดบางจังหวัด ที่ถูกจับตาว่าจะถูก “สั่งย้าย” ตามมาในเร็ววันนี้!!!
“ไม่ใช่การย้ายเพราะใกล้เกษียณ ไม่เกี่ยวกับสายสีไหน แต่เป็นการเปลี่ยนคนที่ไม่แอ็กทีฟ ไม่ตอบโจทย์งาน” นั่นคือเหตุผลของ รักษาการนายกรัฐมนตรี
มีเสียววิพากษ์วิจารณ์ดังอึงมี่ ภายในกระทรวงมหาดไทย…ถึงวาทกรรม “เกียร์ว่าง” ในทำนอง…สิ่งนี้ได้สร้างผลทั้งเชิงจิตวิทยาและเชิงอำนาจ เพราะความหมายแท้จริงของมันก็คือ…
เกียร์ว่าง = เครื่องมือทางอำนาจ?
ด้านหนึ่ง คือ การเร่งให้ข้าราชการทำงานเชิงรุกกับนโยบาย และอีกด้านหนึ่ง คือ การเปิดช่องให้ “ย้ายคนได้อย่างมีเหตุผล” โดยไม่ถูกมองว่าเป็นการเมืองในกระทรวง
ยิ่งในช่วงที่ปัญหายาเสพติดเรื้อรังและถูกร้องเรียนจากประชาชนมากขึ้น การใช้เหตุผลเชิงนโยบายก็กลายเป็น “โล่บัง” ชั้นดีต่อการบริหารงานบุคคลในระดับสูง
โดยเฉพาะที่ “เนื้อแท้” ของเรื่องนี้ คือ การขยับหมากทั้งกระดาน โดยเฉพาะ “ตัวละครสำคัญ” ที่เกิดขึ้นในห้วงของ อดีตพรรคร่วมรัฐบาล? ได้วางเครือข่ายของตัวเอาไว้ ทอดยาวนานกว่า 5 ปี
ใครคือ “เป้าจริง!!???” ก็รู้ๆ กัน
เหมือนที่คนวงนอกในเชิงวิชาการวิเคราะห์กันไว้ ในทำนอง…“การขยับปรับเปลี่ยนข้าราชการครั้งนี้ มีนัยที่มากกว่าแค่การแก้ปัญหายาเสพติด เพราะในวงราชการต่างรู้กันดีว่า ฤดูกาลโยกย้ายประจำปีจะเริ่มในช่วงปลายไตรมาส 3 แต่การ “เร่งโยกย้ายก่อนเวลา” อาจเป็นสัญญาณของการรีเซ็ตโครงสร้างข้าราชการในกระทรวงมหาดไทย”
จึงตามด้วย คำถามภายใต้ข้อสังสัย? ที่ว่า…
การกล่าวหา “เกียร์ว่าง” จะกลายเป็น “ใบอนุญาตในการเปลี่ยนตัว” หรือไม่?
มีการตั้งเงื่อนไขแบบ “เอาไม่อยู่ = ถูกย้าย” โดยที่ไม่มีตัวชี้วัดอย่างเป็นระบบหรือเปล่า?
“ถ้าขยับแบบนี้จริง เราก็ต้องแอ็กทีฟขึ้น แต่ก็กลัวเหมือนกัน เพราะยาเสพติดไม่ใช่เรื่องที่แก้ง่ายในสามเดือน” นี่คือเสียงของ ข้าราชการระดับจังหวัด ที่ไม่ประสงค์ออกนาม
สอดรับความเห็นของข้าราชการอีกฝ่ายหนึ่งมองว่า…“ถ้าเอาข้อหาทำงานช้า มาเป็นเหตุย้าย มันก็ย้ายได้เรื่อยๆ แล้วแต่ผู้บริหารจะมอง”
มีความเห็นเชิงการวิเคราะห์ของ นักวิชาการด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ที่ชี้ว่า…นโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจและเห็นด้วย ดังนั้น เมื่อ “ฝ่ายบริหาร” ใช้เรื่องนี้เป็น “ธงนำ” เชื่อว่า…จะทำให้ได้รับการสนับสนุนจากสังคมไปโดยปริยาย
การโยกย้ายในกระทรวงมหาดไทย จึงไม่ใช่แค่เรื่องประสิทธิภาพงานเพียงอย่างเดียว!
แต่ยังมี “นัยทางอำนาจและการจัดวางตัวบุคคล” เพื่อให้สอดรับกับ นโยบายที่รัฐบาลชุดนี้ ต้องการผลักดันและจัดวางเกมการเมือง ในวันข้างหน้า.