“ไทย-ซาอุฯ”บรรลุข้อตกลงส่งแรงงานไทยไปทำงานสำเร็จ

รมว.แรงงาน นำคณะเดินทางไปลงนามว่าด้วยการจัดหาแรงงานไทยไปทำงานในซาอุเดียอารเบีย อย่างเป็นทางการ โดยบรรลุข้อตกลงร่วมกัน 2 ฉบับ ต่อยอดการสานสัมพันธภาพอันดีของ2ประเทศ

วันที่ 28 มี.ค.2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน พร้อมคณะ ร่วมพิธี ลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านแรงงาน กับ นายอะห์หมัด บิน สุไลมาน อัลรอยิฮี รมว.ทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมซาอุดีอาระเบีย โดยมี นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผช.รมต.ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน และ นายสธน เกษมสันต์ ณ อยุธยา อุปทูต ณ กรุงริยาด เข้าร่วมพิธี ณ กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมซาอุดีอาระเบีย

นายสุชาติ กล่าวว่า สืบเนื่องจากการหารือระหว่างกระทรวงแรงงาน และ กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมซาอุดีอาระเบีย ในระหว่างการเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25-26 ม.ค.2565 ซึ่งซาอุดีอาระเบียมีความต้องการแรงงานไทยไปทำงาน กระทรวงแรงงาน ได้ขานรับนโยบายจากนายกรัฐมนตรี จนนำไปสู่การบรรลุข้อตกลงด้านแรงงาน ซึ่งในวันนี้ (28 มี.ค.)ตนและคณะจึงได้เดินทางมาลงนามจำนวน 2 ฉบับ คือ 1.ความตกลงว่าด้วยการจัดหาแรงงานระหว่างกระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และ 2. ความตกลงว่าด้วยการจัดหาแรงงานในบ้านระหว่างกระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

สำหรับสาระสำคัญของความตกลงด้านแรงงานทั้งสองฉบับนี้ เป็นการกำหนดกระบวนการจัดหางานตามกฎหมายของคู่ภาคี ตั้งแต่การจัดหาจนถึงการส่งกลับประเทศ ให้ความสำคัญลำดับแรกกับการจัดหาแรงงาน โดยการจัดการหรือกำกับโดยรัฐบาลของประเทศคู่ภาคี ทั้งนี้ หากต้องจัดหาแรงงานโดยหน่วยงานจัดส่งที่ได้รับการจดทะเบียนและมีจริยธรรม มีการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด ห้ามการหักค่าใช้จ่ายจากการตัดเงินเดือนของแรงงาน และมีการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการคุ้มครองแรงงานที่เคร่งครัด รวมทั้งทั้งสองประเทศต้องร่วมมือกันเร่งรัดการยุติปัญหาอันเกิดจากการปฏิบัติตามและการบังคับใช้บทบัญญัติแห่งข้อตกลงทั้งสองฉบับนี้

“การลงนามความตกลงด้านแรงงานในครั้งนี้ นับเป็นก้าวประวัติศาสตร์สำคัญที่จะทำให้การจัดหาแรงงานไทยไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยคำนึงถึงพันธกรณีระหว่างประเทศด้านแรงงานของทั้งสองประเทศ และความร่วมมือในการต่อต้าน การค้ามนุษย์ ปกป้องคุ้มครองสิทธิของนายจ้างและแรงงาน รวมถึงการบังคับใช้กฎระเบียบ สัญญาจ้างงานระหว่างกันที่เป็นธรรม แรงงานได้รับค่าจ้าง สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย รวมทั้งจะทำให้ภาคแรงงานของไทยสามารถเดินทางกลับซาอุฯได้อีกครั้ง ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการทำงานให้แรงงานไทย รวมถึงช่วยพัฒนาทักษะแรงงานไทย ต่อยอดไปยังความร่วมมือด้านอื่น ๆ และยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย” รมว.แรงงาน กล่าว.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password