ปลื้ม! ไทยขยับขึ้น 2 อันดับ ‘ชาตินวัตกรรม’ พ่วง 41 ของโลก  – พร้อมมุ่งสู่ ‘ผู้นำด้านนวัตกรรม’ ของอาเซียน

กระทรวงพาณิชย์ เผย! องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ประกาศผลการจัดอันดับ “ดัชนีนวัตกรรมโลก” ประจำปี 2567 ชูไทยขยับอันดับขึ้นเป็น41 จาก 133 ประเทศทั่วโลก สะท้อนความก้าวหน้าของประเทศในหลายภาคส่วน ย้ำ! เป็นสัญญาณที่ดีต่อการพัฒนานวัตกรรมของไทย โดยเฉพาะผลจากการสนับสนุนที่เข้มข้นขึ้นในด้านการวิจัยและพัฒนา  

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีนวัตกรรมโลก” หรือ GII เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่สะท้อนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในตลาดโลก ดังนั้น การขยับอันดับขึ้นของไทยจากเดิมอันดับ 43 มาอยู่อันดับที่ 41 จากทั้งหมด 133 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ แสดงถึงความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาที่มุ่งมั่นส่งเสริมการวิจัยและการสร้างทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้ไทยเป็น “ผู้นำด้านนวัตกรรม” ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมี จุดแข็งที่โดดเด่นในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยเฉพาะจาก ภาคธุรกิจ ซึ่งทำให้ไทยครองอันดับ 1 ของโลกในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีการ “พัฒนาทุนมนุษย์” โดยเฉพาะใน ด้านการศึกษา ซึ่งไทยมี ผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม ในสัดส่วนที่สูง ส่งผลให้ประเทศอยู่ในอันดับที่ 14 ของโลก รวมทั้งศักยภาพของนักวิจัยในภาคธุรกิจไทยยังได้รับการยอมรับในอันดับที่ 13 ของโลก

ทั้งหมดนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีของประเทศ และมีการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาซื้อสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาจากต่างประเทศ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้และพัฒนาภายในประเทศ การพัฒนาเหล่านี้แสดงถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องของไทยในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันผ่านการลงทุนในเทคโนโลยีและทรัพยากรมนุษย์ ขณะเดียวกันก็เน้นการนำเข้าความรู้จากภายนอกเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ตนได้มอบหมายให้ นางสาวนุสรา กาญจนกูล ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วม งานแถลงข่าวผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index: GII) ประจำปี 2567 และร่วมเสวนา ซึ่งจัดขึ้นโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ กรมทรัพย์สินทางปัญญา หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมในประเทศ รวมถึงพันธมิตรระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ

นอกจากนี้ ภายในงานมีการจัดเสวนาในหัวข้อ การพัฒนาระบบนวัตกรรมและการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ชาตินวัตกรรมนำโดย ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์ และ นาย Sacha Wunsch-Vincent หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจและบรรณาธิการร่วมของดัชนี GII จาก WIPO เป็นผู้บรรยายพิเศษ ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงานสำคัญ ร่วมให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมในระดับนานานาชาติและของประเทศไทยในหลากหลายมิติ

ด้าน นางสาวนุสรา กาญจนกูล ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับดัชนี GII ของไทย โดยได้เน้นย้ำถึงบทบาทของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งในรายงาน GII 2024 ไทยยังมีอันดับตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาที่น่าสนใจอีกหลายด้าน อาทิ จำนวนคำขอรับอนุสิทธิบัตรในประเทศ สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก จากเดิมอันดับที่ 6 ในปีที่ผ่านมา จำนวนการยื่นคำขอสิทธิบัตรออกแบบของไทย สูงเป็นอันดับที่ 33 ของโลก

โดยสิ่งนี้ ได้แสดงถึงการเติบโตของนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการตระหนักรู้ของประชาชนในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาภายในประเทศที่มีมากขึ้น ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในปีนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านนวัตกรรมของไทยที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และพร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมของภูมิภาคอาเซียนด้วยเป้าหมายที่จะสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาที่มั่นคงและยั่งยืนในอนาคต

ทั้งนี้ ผลจากตัวชี้วัด GII สะท้อนให้เห็นว่า ไทยมีจุดเด่นที่ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมของไทย โดยนำเทคโนโลยี AI มาช่วยพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มประสิทธิภาพงานบริการประชาชนและ ภาคธุรกิจให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ตลอดจน การร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมให้มีการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ในเชิงพาณิชย์ตามนโยบายรัฐบาลรวมถึงการยกระดับการบริการ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการไทยในการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ได้ต่อไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password