‘3 รมต.คมนาคม’ เร่งทุกหน่วยงานร่วมขับเคลื่อน ‘คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย’
“สุริยะ” ควง “2 รมช.” ร่วมกางแผนยุทธศาสตร์ “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย” ผ่านกลยุทธ์ “9 แนวทาง – 5 ด้าน – 3 ระยะ” สั่งทุกหน่วยงานในสังกัดฯผนึกกำลัง หนุนสร้างโอกาสให้ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน-การให้บริการตามมาตรฐานสากล ย้ำ! ทุกคนต้องเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ราคาเป็นธรรม สานต่อโครงการ “บก-ราง-น้ำ-อากาศ” พร้อมลุยโปรเจกต์ใหม่ครบทุกมิติ หวังยกระดับคุณภาพชีวิตคน – ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ตน พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี และ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้กับหน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในการกับกำดูแลของกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล ภายใต้การนำของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าโครงการสำคัญ โดยมีเป้าหมายให้การดำเนินการสำเร็จได้ตามแผนที่วางไว้ ภายใต้นโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย”
สำหรับ การดำเนินการภายใต้นโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย” นั้น กระทรวงคมนาคม มีความมุ่งหวังให้การดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง และการพัฒนาการให้บริการตามมาตรฐานสากล สร้างโอกาสและการเข้าถึงให้กับประชาชนจากการพัฒนาดังกล่าว พร้อมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกมิติอย่างครอบคลุม ทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม โดยมุ่งเน้นประชาชน และประเทศชาติเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ ยังจะผลักดันให้การคมนาคมของประเทศ เป็นไปด้วยความ “สะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา และราคาสมเหตุสมผล” สามารถลดต้นทุนโลจิสติส์ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมในภูมิภาค และประชาชนต้องได้รับโอกาสทุกภาคส่วนจากการดำเนินการทุกด้านของกระทรวงคมนาคม
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า แนวทางการดำเนินงานนับจากนี้ ภายใต้นโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย” มี 9 แนวทาง ได้แก่ 1. สานต่อโอกาสในโครงการคมนาคม โดยจะเร่งรัดโครงการลงทุนต่าง ๆ พร้อมสานต่อโครงการที่ได้ดำเนินการมาแล้วอย่างต่อเนื่อง และเดินหน้าโครงการใหม่ ๆ อย่างเต็มรูปแบบ 2. ส่งเสริมโอกาสคมนาคมไทย เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายระบบคมนาคมในทุกมิติและทุกรูปแบบ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายของประเทศไทยสู่นานาประเทศทั่วโลก
ขณะที่ 3. สร้างโอกาสในการลงทุน เพื่อเดินหน้าส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนในโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อช่วยประหยัดและลดภาระด้านงบประมาณ ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้สามารถนำเม็ดเงินลงทุน ไปพัฒนาโครงการอื่น ๆ ได้อีกจำนวนมาก 4. เพิ่มโอกาสประชาชนในการเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่ง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายในการลดต้นทุน การให้บริการในภาคคมนาคมและขนส่ง ทั้งการเดินทางของคน และการขนส่งสินค้า นำไปสู่การสร้างโอกาสในการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกทั้ง 5. เปิดโอกาสโลจิสติกส์ไทย ในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนของระบบโลจิสติกส์ 6. สนับสนุนโอกาสในการใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งหวังลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) 7. เปิดโอกาสด้านความปลอดภัยภาคคมนาคมขนส่งอย่างสูงสุด ทั้งในช่วงก่อสร้าง และระหว่างการให้บริการประชาชน โดยมุ่งเน้นการกำกับดูแลให้ได้มาตรฐาน 8. เพิ่มโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ระเบียบ กฎหมาย และหลักธรรมาภิบาล ที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และ 9. สร้างโอกาสการมีส่วนร่วมกับประชาชนในทุกมิติ เพื่อให้การดำเนินงานต่าง ๆ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นายสุริยะ ยังกล่าวต่อไปว่า ตนได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงาน เร่งดำเนินโครงการต่อเนื่องให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และเป็นไปตามกรอบเวลาที่ได้ให้สัญญากับพี่น้องประชาชนไว้ โดยให้ยึดถือประโยชน์สุขของประชาชนเป็นหลัก ทั้งนี้ ได้กำหนดการดำเนินการตามนโยบาย 3 ระยะ ได้แก่ 1. ระยะเร่งด่วน เร่งสานต่อโครงการต่อเนื่อง และดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ 2. ระยะกลาง (1-3 ปี) ให้ทุกหน่วยงานขับเคลื่อนการลงทุน และกำกับดูแลการก่อสร้างให้สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนงาน และ 3. ระยะยาว (5 ปี) ให้ทุกหน่วยงานขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ที่ได้จัดทำแผนแม่บทไว้ เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ อย่างยั่งยืน
สำหรับโครงการต่าง ๆ ที่จะดำเนินการภายใต้นโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย” ประกอบด้วย 5 ด้าน คือ
1. ด้านการคมนาคมทางบก เช่น ปิดตำนานถนน 7 ชั่วโคตร หรือถนนพระราม 2 ให้สำเร็จ ภายในเดือนมิถุนายน 2568, เปิดให้บริการมอเตอร์เวย์ M6 และ M81 ตามกำหนด, มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เร่งแก้ไขปัญหาประชาชนรอรถเมล์นานจากกรณีที่มีผู้ประกอบการรายเดียวในแต่ละเส้นทาง, ศึกษาและออกแบบมอเตอร์เวย์สายใหม่ ตามแผนแม่บท MR-MAP, พัฒนาระบบ Feeder, มอบหมายให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จัดหารถพลังงานไฟฟ้ามาวิ่งให้บริการประชาชน เป็นต้น
2. ด้านการคมนาคมทางราง เช่น เร่งขยายผลนโยบายรถไฟฟ้าในอัตรา 20 บาทตลอดเส้นทาง (20 บาทตลอดสาย) ไปเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ โดยให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)เร่งผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ.การขนส่งทางราง และ พ.ร.บ. ตั๋วร่วมฯ ให้ประกาศใช้โดยเร็ว เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม, เดินหน้ารถไฟทางคู่, รถไฟความเร็วสูง ทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2, แนวทางการเปลี่ยนถ่ายสินค้าจากถนนสู่ระบบราง, พัฒนาระบบรถไฟฟ้าในภูมิภาค เป็นต้น
3. ด้านการคมนาคมทางน้ำ เช่น เร่งรัดกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดให้บริการท่าเรือ Smart Pier พร้อมทั้งเร่งนำเสนอ โครงการพัฒนาท่าเรือ Cruise Terminal ที่เกาะสมุย ที่ฝั่งอันดามัน และที่อ่าวไทยตอนบนภายในต้นปี 2568, ให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เร่งก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ให้เป็นไปตามแผนงาน และเร่งแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณโดยรอบท่าเรือแหลมฉบัง, เดินหน้าพิจารณาแนวทางการส่งเสริมและกำกับดูแลเครื่องบินน้ำ และสนามบินน้ำ ร่วมกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ให้สามารถเริ่มเปิดให้บริการได้โดยเร็ว เป็นต้น
4. ด้านการคมนาคมทางอากาศ โดยให้ทุกหน่วยงานทางอากาศ ขับเคลื่อนนโยบายศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) ของรัฐบาล โดยกำหนดเป้าหมายให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นท่าอากาศยานอยู่ใน 20 อันดับของโลก (TOP 20) ภายในปี 2572 เช่น เร่งนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ในรูปแบบอัตโนมัติ และระบบ Biometrics มาใช้ในการเช็คอิน การโหลดสัมภาระ และการตรวจคนเข้าเมือง, ปรับปรุงอาคารสถานที่, ให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อการเดินทางกับการขนส่งภาคพื้น, เตรียมรับการตรวจจาก FAA เพื่อให้ไทยกลับเข้าสู่ Category I และเตรียมความพร้อมในการเข้าตรวจจาก ICAO, ให้ ทอท. เร่งดำเนินการก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยาย รวมทั้งพัฒนาท่าอากาศยานต่าง ๆ และเดินหน้าดำเนินการท่าอากาศยานใหม่ เป็นต้น
5. ภาพรวมของกระทรวงคมนาคม เช่น ให้ สนข. เร่งเดินหน้าโครงการ Landbridge ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว, ให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญสูงสุดกับความปลอดภัย ทั้งในมิติของความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง-การให้บริการประชาชน-โครงสร้างพื้นฐาน และในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้างให้ขยายผลมาตรการสมุดพกผู้รับเหมา โดยให้กรมทางหลวง (ทล.) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนประสานกับกรมบัญชีกลาง เพื่อให้นำไปสู่การกำหนดชั้นของผู้รับเหมาต่อไป, ให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ เป็นต้น
“จากกรอบแนวคิดการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม ภายใต้นโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย” ทั้ง 9 แนวทาง ครอบคลุม 5 ด้านดังกล่าวข้างต้นนั้น เพื่อสนองต่อความต้องการของประชาชน และสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกหน่วยงาน ทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ดำเนินภารกิจที่มอบให้ไป โดยยึดถือประโยชน์ของพี่น้องประชาชน และประเทศชาติเป็นสำคัญ พร้อมทั้งคำนึงถึงประชาชนและประเทศชาติเป็นศูนย์กลาง โดยต้องดำเนินงานอย่างถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย โปร่งใส และตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน” นายสุริยะ กล่าวสรุป.