ส.แบงก์ไทย ชี้! ไทยเสี่ยงรับมือ ‘Climate  Risk – เศรษฐกิจนอกระบบ’ ได้ยาก หนุนรัฐเร่งแก้เป็นระบบ

ประธานสมาคมธนาคารไทย “ผยง ศรีวณิช” ชี้ ไทยมี Climate  Risk สูง แถมมีเศรษฐกิจนอกระบบใหญ่มาก ก่อนเป็นความเสี่ยง – เปราะบางในการรับมือสูงกว่าเพื่อนร่วมอาเซียน หนุนรัฐเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบ พ่วงเดินหน้าขับเคลื่อน Green Transition ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส SMEs เติบโตยั่งยืน

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะ ประธานสมาคมธนาคารไทย ร่วมเวทีสัมมนาวิชาการ  Fiscal GreenPrint พิมพ์เขียวนโยบายการคลังสู่เศรษฐกิจสีเขียว” จัดโดย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และร่วมเสวนากับ ผู้บริหารองค์กรภาครัฐและเอกชนในหัวข้อ  “Fiscal GreenPrint: Bridging Policy and Practice เชื่อมนโยบายสู่การปฏิบัติ”  โดยระบุตอนหนึ่งว่า การขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Transition ให้มีประสิทธิภาพ ต้องคำนึงถึงบริบทเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบที่มีขนาดใหญ่เกือบ 50% ของ GDP

ความใหญ่ของเศรษฐกิจนอกระบบนั้น นำมาสู่ความท้าทายในหลายด้าน เช่น รายได้ของประเทศและความสามารถในการแข่งขันอยู่ในระดับต่ำ ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำสูง  โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำระหว่างรายใหญ่กับรายเล็ก ทำให้การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Impact) ทำได้ยากมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับข้อมูล World Bank และ IMF ที่ชี้ว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ มีแนวโน้มในการรับมือกับ Climate Risk ด้อยกว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดเล็ก ดังนั้น การเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบ จึงเป็นรากฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนสู่ Green Transition เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทย

ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มที่มี Climate  Risk สูง พร้อมๆกับมีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ ทำให้มีความเสี่ยง และความเปราะบางในการรับมือกับ Climate  Risk  สูงกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค ดังนั้นปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนในการจัดการ เพราะหากสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบจะทำให้ไทยมีฐานที่แข็งแรงในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Green Transition ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ประธานสมาคมธนาคารไทย ระบุ

ทั้งนี้ อยากให้ประเทศไทยมองเรื่อง Green Transition เป็นโจทย์เดียวกันกับโอกาสในการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ และแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวเนื่องกันไปในคราวเดียว โดยเฉพาะผ่านการเพิ่มการลงทุนใหม่ๆ ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาการลงทุนภาคเอกชนของไทยอยู่ในระดับต่ำมายาวนาน นับตั้งแต่วิกฤต 40 (ค่าเฉลี่ยปี 2533-2539 อยู่ที่ 41%) และคิดเป็นสัดส่วนเพียง 25% ของ GDP ต่ำกว่าหลายประเทศในเอเชีย

โดยทาง Bain & Company ประเมินว่า ภายในปี 2573 จะมีการลงทุนสีเขียว (Green Investment) ในภูมิภาค ASEAN ราว 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับประเทศไทยประเมินว่ามีความจำเป็นต้องมีการลงทุนสีเขียวมากถึง 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดโอกาสในการยกระดับรายได้และการจ้างงานของประชาชน จากความต้องการ Green Job ที่เพิ่มสูงขึ้น และยังจะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในยุค Future Economy อีกด้วย

นายผยง กล่าวอีกว่า สมาคมธนาคารไทยให้ความสำคัญกับ Green Transition โดยยกระดับประเด็น Sustainability เป็น 1 ใน 4 ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะร่วมกันผลักดัน โดยที่ในปีนี้ ธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ร่วมผลักดันโครงการ Financing the Transition เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ที่ช่วยให้ภาคธุรกิจปรับตัวสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ต่อยอดจากในปี 2566 ที่ธนาคารขนาดใหญ่ให้สินเชื่อเปลี่ยนผ่านเพื่อความยั่งยืนหรือ Transition Finance เกือบ 2 แสนล้านบาท หรือ 1.4% ของยอดคงค้างสินเชื่อรวม

นอกจากนี้ สมาคมธนาคารไทย ยังได้บรรจุเรื่อง Green Economy อยู่ในข้อเสนอที่ได้นำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อพิจารณาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเสนอให้เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ ด้วยการสนับสนุน Tax Incentive สำหรับ Transition Finance รวมถึงการลงทุนที่เกี่ยวกับ Green โดยมองว่า การมี Incentive ที่เหมาะสมให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs ในการปรับตัว จะมีส่วนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

​“ข้อมูล หรือ Data คือ สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อน Green Transition เพื่อให้สามารถเข้าใจปัญหาหรือสถานการณ์ที่แท้จริง นำไปสู่การตัดสินใจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยอาศัยข้อมูล (Data-Driven Economy) เปิดกว้าง โปร่งใส เชิญชวนให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งปัจจุบัน พบว่าข้อมูลเกี่ยวกับ Climate Risk และ Green Economy ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก  ทั้งในเรื่องระบบจัดเก็บและความน่าเชื่อถือของข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลของธุรกิจ SMEs และก๊าซเรือนกระจกใน Scope 3 ซึ่งทำให้การก้าวสู่ Net Zero Supply Chain เป็นไปได้ยาก รวมถึงการมี Verifier และมาตรฐานสำหรับ Carbon Credit ที่ตอบโจทย์ทั้งบริบทในประเทศและบริบทระหว่างประเทศ เพราะ Carbon Credit เป็น Global Asset Class ประเภทหนึ่ง” นายพยง กล่าว

นอกจากนี้ การขับเคลื่อนเรื่อง Green Economy ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน และต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้ Green Transition เป็น Inclusive Transition นำโดยภาครัฐที่ออกแบบและขับเคลื่อนนโยบายรวมทั้งสร้างแรงจูงใจด้วยเครื่องมือทางนโยบายทั้งด้านการเงินและด้านสภาพแวดล้อม (Operating Environment) ที่สนับสนุนให้เกิดการปรับตัวในทุกภาคส่วน ในแต่ละ Ecosystem อย่างสมดุล  เช่น  มาตรการทางด้านภาษี สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) รวมไปถึง การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐที่เพิ่มแต้มต่อให้กับสินค้าไทยที่ได้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ด้านผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ควรต้องร่วมมีบทบาทยกระดับ SMEs ที่อยู่ใน Supply Chain เดียวกัน ถือเป็นส่วนหนึ่งของ Corporate Responsibility ขณะที่ภาคประชาชน รวมถึงธุรกิจรายย่อย ควรต้องเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น อีกทั้งเพิ่มความตระหนักรู้ และปรับตัวเพื่อ Up-skill/Re-skill สอดรับโอกาสจาก Green หรือ Transition Job และได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น (Pay by Skill)

“ภาคการเงิน เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆฟันเฟืองที่จะร่วมขับเคลื่อน Green Transition ยังต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้การขับเคลื่อนมีประสิทธิภาพ  ซึ่งนโยบายของภาครัฐที่ตรงจุด และในเวลาที่เหมาะสม จะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ SMEs เข้าสู่ Green Transition  ขับเคลื่อนประเทศสู่ Green Economy อย่างยั่งยืน โดยมีความสมดุลระหว่างการลด Carbon Emission กับการส่งผ่าน Incentive เพื่อให้ชุมชนและภาคครัวเรือนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน” ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวสรุป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password