รัฐดึง ปปง. ร่วมภารกิจสกัดฟอกเงินในตลาดทุน – คลังชงแบงก์เอกชน ‘แฮร์คัต’ หนี้คนไทย
คลังขานรับสัญญาณจาก “ทักษิณ” ชงเรื่อง “แฮร์คัต’ หนี้ภาคประชาชนให้ “เจ้าหนี้” แบงก์พาณิชย์พิจารณาแล้ว ย้ำ! การดึง ปปง. ร่วม ตลท.และ ก.ล.ต. ช่วยเร่งดำเนินการแก้ปัญหาฟอกเงินในตลาดทุนแบบทันท่วงที เผย! ถอดบทเรียนปม “หุ้นมอร์ – สตาร์ค” เป็นแม่แบบป้องกันฉ้อฉลจากตลาดหุ้นในอนาคต รองฯพิชัย ระบุ! หลายแบงก์และบริษัทประกันภัยสนใจลงทุนในกองทุนวายุภักษ์ 1
เมื่อช่วงสายวันที่ 26 สิงหาคม 2567 ณ หอประชุมศุกรีย์ แก้วเจริญ ชั้น 3 อาคาร B ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการการคลัง เป็นประธานและสักขีพยานในพิธี ลงนามบันทึกความตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ อันเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยมี ศ.พิเศษ กิติพงษ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลท. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธาน ปปง. ศ.พิเศษ วิศิษฐ์ วิศิษฐ์สรอรรถ ประธานคณะการ ก.ล.ต. รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของทั้ง 3 หน่วยงาน เข้าร่วมงานนี้
นายพิชัย ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า การทำงานร่วมกันระหว่าง สำนักงาน ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ปปง. ที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงในการประสานความร่วมมือเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ อันเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน จะช่วยให้วิธีการทำงานระหว่าง 3 หน่วยงาน ลดขั้นตอนการทำงานได้เร็วขึ้น ทำให้ลดช่องว่างในการส่งข้อมูลแต่ละหน่วยงาน เพราะสามารถทำงานเป็นคู่ขนานไปด้วยกันได้ โดยมีการตั้งคณะทำงานในการประสานร่วมกันและทำงานเป็นทีม
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมีหน้าที่ดูแลตลาดทุนอยู่แล้ว โดยเน้นเรื่องนโยบายและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงวิธีการที่จะกระตุ้นตลาดทุนให้เติบโต ซึ่งผลจากการทำงานร่วมกันของ 3 หน่วยงาน ทำให้เห็นว่าต่อไปจะมีผลิตภัณฑ์แห่งอนาคตเข้ามาลงทุนใหม่ๆ เพิ่มขึ้น โดยที่ผ่านมากฎหมายมีอยู่แล้ว เพียงแต่ 3 หน่วยงานไม่ได้ตกลงกันหรือเน้นย้ำร่วมกัน สมัยก่อนหน่วยงานใดเจออะไรก็จะส่งเนื้อหาไปให้อีกหน่วยงานรับทราบ กว่าจะดูในรายละเอียดกว่าจะทำความเข้าใจกัน ใช้เวลานาน แต่ตอนนี้หากมีการส่งข้อมูลระหว่าง 3 หน่วยงาน ต้องคุยกันทันที
ดังนั้น ต่อไปแต่ละหน่วยงานไม่ต้องมาเสียเวลาใส่ข้อมูลซ้ำๆ ซ้อนๆ กัน ต้องเห็นในเรื่องเดียวกัน คุยกัน และย้อนดูจากปัญหาเดิมๆ ที่เคยประสบ ไม่ต้องรอสิ้นวัน สิ้นเดือนหรือสิ้นสัปดาห์ สามารถ Action เรื่องทั้งหมดได้ระหว่างวัน เพื่อระงับความเสียหายกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงเรื่องอื่นๆ เช่น กรณีหุ้นมอร์ชัดเจนว่ากว่าจะ Action ก็เลยเวลาไป 3 วันแล้ว รวมถึงหุ้นสตาร์คด้วย แต่ต่อไปถ้าเห็นหุ้นตัวไหนผิดปกติ สามารถ Action ได้ระหว่างวันทันที นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังมองว่าควรมีมาตรการสนับสนุนตลาดหุ้นไทยอีกเล็กน้อย ซึ่งรวมถึงแนวทางการคุ้มครองและเฝ้าระวังการทุจริตที่ครอบคลุมถึงต่างประเทศด้วย กรณีหุ้นมอร์ถือเป็นบทเรียนสำคัญในการช่วยกันป้องกันการทุจริตไม่ให้เกิดความเสียหายบานปลาย เพราะการไล่ตามคดีทีหลังเป็นเรื่องยาก
สำหรับเรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดทุนไทย หลังจากที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ไม่ได้สร้างความตกใจให้แก่ผู้ลงทุนมากเท่าไหร่นัก เนื่องจากนักลงทุนและนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ในหลายภาคส่วนมีการวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกัน วอลุ่มที่หายไปกับวอลุ่มการเทรดที่เหลืออยู่ แสดงให้เห็นว่าเป็นการเทรดจริงๆ เป็นนักลงทุนที่เทรดระยะกลางและระยะยาว ทำให้ตลาดหุ้นไทยเริ่มเสถียรภาพและเข้าสู่ความนิ่ง นักลงทุนก็จะมองว่ารัฐบาลจะกำกับอย่างไร สิ่งที่เคยเป็นจุดอ่อนในอดีต มาร์เก็ตแคปการลงทุนหากปรับขึ้นตามพื้นฐานที่แท้จริง ความมั่งคั่งจะเกิดกับนักลงทุนด้วย ดังนั้น
รองนายกฯและรมว.คลัง ยังกล่าวถึงความคืบหน้าของ “กองทุนวายุภักษ์หนึ่ง” โดยย้ำว่า ขณะนี้ มีสถาบันการเงินทั้งธนาคารเฉพาะกิจของรัฐและธนาคารพาณิชย์เกือบทุกแห่ง รวมทั้งบริษัทประกันภัยสำหรับรายย่อย ให้ความสนใจเข้าร่วมลงทุน ก็ต้องมาดูว่าด้วยจำนวนหน่วยลงทุนที่มีจำกัด จะมีวิธีการจัดสรรอย่างไรให้นักลงทุนทั้งที่เป็นสถาบันและนักลงทุนรายย่อยได้รับหน่วยลงทุนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ขณะนี้ก็มีคำถามเกี่ยวกับวิธีการบริหารจัดการกองทุนวายุภักษ์ทั้งหน่วยลงทุน ก.และหน่วยลงทุน ข.เข้ามาหารือ คาดว่าปลายเดือน ก.ย.หรือต้นเดือน ต.ค.จะเปิดให้มีการซื้อขายได้
ส่วนกรณี อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร พูดบนเวที Vission for Thailand 2024 ของเครือเนชั่นก่อนหน้านี้ ถึงข้อเสนอให้มีการแคร์คัตหนี้ภาคประชาชน นายพิชัย กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้เริ่มทำการบ้านแล้ว ได้เริ่มทำในส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐไปแล้ว ต่อไปจะมุ่งไปในส่วนของหนี้ภาคธนาคารพาณิชย์ ขณะนี้ได้หารือกับธนาคารพาณิชย์ในเบื้องต้นโดยให้ทำโจทย์กลับมาหารือกันต่อในจุดที่ผมได้วางลำดับเรื่องราวไว้ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้รายย่อยต้องทำอย่างไรบ้าง ต้องแยกประเภทลงมาว่ามีหนี้อะไรบ้าง แต่ละแบงก์ต้องร่วมมือกัน
สำหรับเรื่องน้ำท่วมในหลายจังหวัดนั้น กระทรวงการคลังได้รับรายงานพบว่า สถานการณ์น้ำท่วมยังไม่รุนแรงไปกว่าสถานการณ์ในปีก่อนๆ ที่เกิดขึ้น เนื่องจากระดับน้ำในเชื่อนแต่ละแห่งยังพอรองรับปัญหาได้ ซึ่งธนาคารเฉพาะกิจของรัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตนได้รับรายงานการดำเนินงานของธนาคารแต่ละแห่งมาโดยตลอด และตนเองเตรียมเรียกหารือธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเป็นการเพิ่มเติมด้วย การเข้าไปช่วยเหลือหากมีการแก้ไขปัญหาได้เร็วและกระชับจำกัดพื้นที่ดำเนินการ
ค่าเงินบาทมีความสัมพันธ์กับอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการเงินของประเทศไทย ก็ต้องมาดูว่าเราจะวางทิศทางของประเทศไทยไปอย่างไร ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ขณะนี้เป็นธรรมชาติ ซึ่งตอนค่าเงินบาทลงก็มีคำอธิบาย สิ่งต่างๆ ไม่ใช่ไม่มีสาเหตุ เนื่องจากเป็นทิศทางเศรษฐกิจโลก ทิศทางของนโยบายการเงินโลก นักลงทุนทั่วโลกก็เข้าใจไปในทิศทางเดียวกันหมด แม้จะกระทบผู้ส่งออกบ้าง แต่ก็ต้องมาดูว่ากระทบอะไร เรื่องราคาการส่งออกก็ปรับตัวดีขึ้น
ด้าน ศ. ดร.พรอนงค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ปปง.ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับ ก.ล.ต.ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน นอกจากนี้ ปปง.ยังได้จับมือกับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ แต่ยังไม่ได้สร้างความร่วมมือบตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยตรง การร่วมมือครั้งนี้ ถือว่าครอบคลุมความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานที่สำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้ความเสียหายบานปลาย และทำให้ ก.ล.ต.สามารถมองหาช่องโหว่ทางกฎหมายที่จะเข้าไปแก้ไขให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ ซึ่งต่อไปโทษในการทุจริตเกี่ยวกับตลาดทุนอาจปรับให้โทษหนักขึ้นด้วย
ขณะที่ เลขาธิการ ปปง. กล่าวถึงกรณีเงินที่ได้จากธุรกิจสีเทาเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ว่า ต้องแยกเป็น 2 ส่วน ในส่วนของเงินสีเทา หากตรวจสอบพบก็จะนำเข้าสู่ฐานความผิดฐานฟอกเงิน และดำเนินการยึดทรัพย์ตามกฎหมายฟอกเงิน แต่สำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ ก็ต้องไปดูว่ามีพฤติกรรมอะไรที่ไปทำให้เกิดความผิดปกติหรือไม่อย่างไร หากไม่พบความผิดปกติก็ไม่จำเป็นจะต้องวิตกกังวล แต่หากพบว่ามีการกระทำที่ผิดปกติ เช่น มีการอินไซด์ข้อมูลในการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือมีการสร้างราคาหุ้นเกินความเป็นจริง ก็จะนำเข้าไปสู่ความผิดในส่วนที่เกี่ยวข้องของ กลต.แต่ไม่เข้าข่ายความผิดกฎหมายฟอกเงิน
ทั้งนี้ การลงนามเซ็น MOU ระหว่าง 3 หน่วยงาน แม้จะมีสำนักงาน ป.ป.ง. เข้ามาร่วมด้วย แต่การจะยึดทรัพย์กับผู้กระทำผิดใดๆ นั้น ขึ้นกับว่าเป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฟอกเงินหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่ของความผิดที่เกิดขึ้นกับการซื้อขายหลักทรัพย์ จะไม่เกี่ยวกับฐานความผิดกฎหมายฟอกเงินจนถึงกับจะต้องทำการยึดทรัพย์ ยกเว้นบางกรณีที่ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด การค้ามนุษย์ และตามกฎหมายฟอกเงิน.