เฮ! คลังขยับเป้าจีดีพีไทยเพิ่มเป็น 2.7% รับอานิสงส์จากท่องเที่ยวและส่งออกเป็นหลัก

กระทรวงการคลังทำคนไทย-ธุรกิจไทยมีความหวัง แจงผลปรับจีดีพีใหม่จากเดิม 2.4% เป็น 2.7% เหตุจาก 3 ปัจจัยบวก “ท่องเที่ยว – ภาคส่งออก – การบริโภคเอกชน” ขยายตัว ด้าน รมช.คลัง หวังดันจีดีพีไทยช่วงที่เหลือโตได้มากกว่านี้ โฟกัสที่ภาคการท่องเที่ยว เหตุเติบโตทั้งเชิงปริมาณ (จำนวน) และคุณภาพ (ค่าใช้จ่ายต่อหัว) มั่นใจโครงการแจกเงินหมื่นดิจิทัล วอลเล็ต ดันจีดีพีเพิ่มได้อีก 1.2%

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะ โฆษกกระทรวงการคลัง และ คณะผู้บริหาร สศค. ร่วมแถลงข่าว การปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ณ ห้องวายุภักดิ์ 1 กระทรวงการคลัง เมื่อช่วงสายวันที่ 26 กรกฎาคม 2567

รมช.คลัง ระบุว่า จากปัจจัยบวกในช่วงที่ผ่านมา ทำให้กระทรวงการคลังได้ปรับคาดการณ์จีดีพีใหม่จากเดิม  2.4% เป็น 2.7% เนื่องรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ 36 ล้านคน สร้างรายได้ 1.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นใช้จ่ายต่อหัวต่อทริป 47,000 บาท เป็นผลมาจากมาตรการยกเว้นวีซ่าให้กับหลายประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ ภาคการส่งออกของไทยยังคงขยายต่อเนื่องที่ 2.7% เพิ่มจากเดิม 2.3% เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค่าหลัก เช่น สหรัฐ จีน ยุโรป มีการฟื้นตัว สร้างกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย

ขณะเดียวกัน การบริโภคของภาคเอกชน ยังคงขยายตัวเนื่องนี้ เชื่อว่าทั้งปีน่าจะขยายตัวที่ 4.5% จากเดิม 3.5% เนื่องจากรายได้จากภาคเกษตรเพิ่ม 8% อีกทั้ง ยังมีการขยายตัวของภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคภายในประเทศ เมื่อรวมกับการออกมาตรการของรัฐบาล อาทิ สินเชื่อซอล์ฟโลน 1 แสนล้านบาทให้กับเอสเอ็มอีและรายย่อย และมาตรการทางภาษีอื่นๆ

สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 1 หมื่นบาทนั้น เชื่อว่าทั้งโครงการจะมีส่วนผลักดันให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มอีกขึ้น 1.2% แต่ไม่ควรระบุว่าจะไปเพิ่มจีดีพีให้กับปี 2567 หรือ 2568 ซึ่งการขยายตัวนั้น  ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการใช้จ่าย พฤติกรรมการใช้เงินซื้อสินค้า แหล่งที่มาของเงินรองรับทั้งโครงการ

อย่างไรก็ตาม “รัฐบาลเศรษฐา” มีเป้าหมายจะเพิ่มจีดีพีให้มากกว่า 2.7% หนึ่งในนั้น คือ การให้กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไปพิจารณาปรับเพิ่มคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวให้มากกว่า 36 ล้านคน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การปรับคาดการณ์จีดีพีเป็น 2.7% หรือมากกว่านั้น จะส่งผลอย่างไรต่อสัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือน ซึ่ง นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง คาดหวังจะเห็นตัวเลขต่ำกว่าปัจจุบันที่ 90% ของจีดีพี นายเผ่าภูมิ ตอบว่า การปรับประมาณจีดีพีเป็นเรื่องของภาพรวมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้สะท้อนว่าเมื่อภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น รายได้ของประชาชนก็น่าจะดีขึ้น กำลังซื้อก็น่าจะสูงขึ้น เชื่อว่าจะมีผลต่อปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน

ด้าน นายพรชัย กล่าวว่า การปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย 2.7%  (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.2%  ถึง 3.2%) ขยายตัวจากปี 2566 ที่ขยายร้อยละ 1.9 เป็นเพราะได้รับแรงสนับสนุนจากภาคบริการและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นสำคัญ โดยพบว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณดีขึ้นสะท้อนได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริงขยายตัวต่อเนื่อง 2 ไตรมาสและนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น 26.3%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยคาดว่าภาคการท่องเที่ยวในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 36.0 ล้านคน ค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปของนักท่องเที่ยวต่างประเทศปรับตัวดีขึ้นเป็น 47,000 บาทต่อคนต่อทริป ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (วีซ่าฟรี) เพิ่มเป็น 93 ประเทศ/ดินแดน ระยะเวลาพำนักไม่เกิน 60 วัน ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่  4.5%  ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 4.0%  ถึง 5.0%) การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.6%  ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.1%  ถึง 4.1%)

สำหรับการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ 2.7%  ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.2%  ถึง 3.2%) ขยายตัวได้ในไตรมาสที่ 2 แล้ว และมูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวที่ 3.1% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.6%  ถึง 3.6%) โดยเฉพาะสินค้าทุนที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการลงทุนภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต 

ทั้งนี้ ผลประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งนี้ได้ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผลประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เมษายน 2567 ที่ 2.4%  เนื่องจาก 1) การส่งออกสินค้ามีสัญญาณขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ รวมถึงอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าสำคัญคาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 3.2% 2) จำนวนและรายได้ที่ได้รับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูงกว่าที่คาดการณ์ สะท้อนผลตอบรับที่ดีจากมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวของภาครัฐ และ 3) การเบิกจ่ายภาครัฐที่ดีกว่าที่คาดการณ์จากการเตรียมความพร้อมเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐ และมีทิศทางเร่งขึ้นต่อเนื่องในช่วงท้ายของปีงบประมาณ 2567

ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศอยู่ในระดับมั่นคง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.6% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 0.1%  ถึง 1.1%) ตามการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าอาหารบางกลุ่ม อีกทั้งราคาสินค้าในหมวดพลังงานที่ลดลงจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2567 มีแนวโน้ม ที่จะเกินดุล 11.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2.4% ของ GDP

ผลประมาณการนี้ไม่ได้นับรวมผลที่คาดว่าจะได้รับในระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (โครงการฯ) ต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ประเมินเบื้องต้น ณ วันที่ 10 เมษายน 2567 ว่าหากพิจารณาเฉพาะโครงการฯ จะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณ 1.2%  – 1.8%  ตลอดทั้งโครงการฯ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของเงิน เงื่อนไขโครงการฯ จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการฯ และพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้รับสิทธิเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ยังควรติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด อาทิ 1) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่านที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา และความกังวลเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้เกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์หลังมีการซ้อมรบของกองทัพเรือจีนและรัสเซียในบริเวณดังกล่าว 2) ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป 3) ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาและทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ 4) การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะประเทศจีนจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และ 5) ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่จะบั่นทอนการใช้จ่ายในระยะต่อไป

“ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงที่เหลือของปี 2567 ได้แก่  1) การใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งรายจ่ายลงทุนที่ต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายในทุกหน่วยงาน 2) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ประเทศ โดยเฉพาะในช่วง High Season และ 3) การเร่งรัดการลงทุนของโครงการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ 8 ด้านภายใต้กรอบนโยบาย Ignite Thailand ของรัฐบาล โดยการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางในหลาย ๆ ด้าน ด้วยการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 กระทรวงการคลังได้จัดโครงการศูนย์กลางการเงิน (Financial Hub) ภายใต้หัวข้อ Ignite Finance: Thailand’s Vision for a Global Financial Hub เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการเงินโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป การสนับสนุนประเด็นที่สำคัญเหล่านี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง ก้าวสู่การเป็นผู้นำในเวทีระดับภูมิภาคในอนาคต” โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวทิ้งท้าย.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password