นบข. ไฟเขียว “ปุ๋ยคนละครึ่ง” วงเงินเฉียด 3 หมื่นล้านบาท จ่อชง ครม. อนุมัติภายในมิ.ย.
“ภูมิธรรม เวชยชัย” ประชุม นบข. เห็นชอบโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยรัฐช่วยจ่ายครึ่งหนึ่งและเกษตรกรจ่ายครึ่งหนึ่ง มีปุ๋ยให้เลือกซื้อ 16 สูตร ซื้อผ่านแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. เพื่อดูแลเกษตรกร 4.68 ล้านครัวเรือน วงเงินเฉียด 3 หมื่นล้านบาท เตรียมนำเสนอ ครม.อนุมัติภายในเดือนนี้
วันที่ 13 มิ.ย. 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่ กระทรวงพาณิชย์ ว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ก็ต้องเสียเงินอุดหนุนเป็นจำนวนมาก จึงต้องหาวิธีการที่ดีที่สุดและลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร ทำให้มีการเสนอ “โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง” โดยรัฐบาลจะช่วยครึ่งหนึ่งและชาวนาจ่ายอีกครึ่งหนึ่ง ดำเนินการผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ใช้งานได้ง่ายและทั่วถึง แต่จะไม่จ่ายเป็นเงินสด ให้ซื้อผ่านแอปฯ ธ.ก.ส. และ จะเชิญชวนผู้ประกอบการ ผู้ค้าปุ๋ย ทุกบริษัทมาเข้าร่วมในราคาเดียวกันหมด เพื่อแก้ปัญหาชาวนาซื้อปุ๋ยแพง ซึ่งปุ๋ยที่ดำเนินการตามสูตรที่ระบุ จะช่วยเพิ่มผลผลิต โดยรัฐไม่ต้องดูแลค่าใช้จ่ายไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งต้องทำให้เร็วที่สุดและเพียงพอ เพื่อให้ทันฤดูกาลการผลิต และอาจมีคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลและตรวจสอบโครงการให้ชัดเจนโปร่งใสให้ประโยชน์สูงสุดเกิดกับชาวนา
“ที่ประชุม นบข. ได้มีมติเห็นชอบหลักการโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิตลดต้นทุนการผลิตข้าวแก่เกษตรกร โดยจะสนับสนุนปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์ ไม่เกินไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2567/68 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน วงเงินงบประมาณ 29,994.3445 ล้านบาท โดยมอบหมายให้กรมการข้าวนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วที่สุดภายในเดือนนี้” นายภูมิธรรมกล่าว
สำหรับปุ๋ยที่เข้าร่วมโครงการ เป็นปุ๋ยที่ได้รับการขึ้นทะเบียน หรือหนังสือสำคัญรับแจ้งถูกต้องตามพ.ร.บ.ปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถเลือกรับการสนับสนุนปุ๋ยสำหรับนาข้าวที่ขึ้นทะเบียน เบื้องต้นจำนวน 13 รายการ ได้แก่ 1.ปุ๋ยสูตร 25-7-14 2.ปุ๋ยสูตร 20-8-20 3.ปุ๋ยสูตร 20-10-12 4.ปุ๋ยสูตร 30-3-3 5.ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 6.ปุ๋ยสูตร 18-12-6 7.ปุ๋ยสูตร 16-8-8 8.ปุ๋ยสูตร 16-12-8 9.ปุ๋ยสูตร 16-16-8 10.ปุ๋ยสูตร 16-20-0 11.ปุ๋ยสูตร 20-20-0 12.ปุ๋ยอินทรีย์ที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรม หรือใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์ 13.ชีวภัณฑ์ที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย และเกษตรกรขอให้เพิ่มอีก 3 สูตร ได้แก่ 1.ปุ๋ยสูตร 16-16-16 2.ปุ๋ยสูตร 15-15-15 และ 3.ปุ๋ยสูตร 13-13-24
นอกจากนี้ ได้เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปี 2567 เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรจากผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ต่อไป
ทางด้านสถานการณ์ข้าวไทย ปี 2566/67 ผลผลิต 33.05 ล้านตัน ลดลง 0.58 ล้านตันข้าวเปลือก หรือลดลง 2% เป็นข้าวนาปี 26.83 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 0.12 ล้านตันข้าวเปลือก หรือเพิ่มขึ้น 0.4% ข้าวนาปรัง 6.22 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลง 0.70 ล้านตันข้าวเปลือก หรือลดลง 10% โดยราคาข้าวไทย (ณ วันที่ 10 มิ.ย.2567) ข้าวทุกชนิดราคาสูงกว่าปีที่ผ่านมา ขณะนี้ข้าวเปลือกทุกชนิดราคาสูง เนื่องจากรัฐบาลเร่งรัดการส่งออกเพิ่มขึ้น และช่วง มี.ค.-เม.ย. อากาศร้อนจัด ผลผลิตออกน้อย ขณะที่ความต้องการซื้อจากในประเทศและต่างประเทศมีต่อเนื่อง โดยราคาข้าวเปลือกต่อตัน ความชื้น 15% เทียบปีก่อน (10 มิ.ย.2566) ข้าวหอมมะลิ 15,000–16,500 บาท เพิ่ม 8% ข้าวปทุมธานี 14,600–16,000 บาท เพิ่ม 35% ข้าวเจ้า 11,700–12,600 บาท เพิ่ม 20% และข้าวเหนียว 13,800–14,600 เพิ่ม 8% และการส่งออกข้าวไทย 4 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-เม.ย.) ส่งออก 3.40 ล้านตัน คิดเป็น 43% ของเป้าหมาย 8.03 ล้านตัน โดยมีสัดส่วน ดังนี้ ข้าวขาว 65% ข้าวหอมมะลิไทย 16% ข้าวนึ่ง 9% ข้าว หอมไทย 6% ข้าวเหนียว 3% ข้าวกล้อง 1%