‘รมช.คลัง’ มุ่งดึง ‘กลไกภาษีสรรพากร’ กระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว

“จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” ยอมรับการจัดเก็บรายได้ต่อจีดีพีมีแนวโน้มหดตัวลง มอบกรมสรรพากรสร้างกลไกภาษีแก้ปัญหานี้ รวมถึงช่วยส่องแนวทางลดรายจ่าย “งบ 30 บาทรักษาทุกโรค(ทุกที่)” ที่หมดปีละกว่า 1 แสนล้านบาท พร้อมสร้างแรงจูงใจดึงบุคลากรร่วมงานในตำแหน่งขาดแคลน ย้ำ! กลไกทางภาษีช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทั้งในระยะสั่นและระยะยาว

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ผู้บริหารกรมสรรพากรว่า ตนได้รับฟังถึงแนวทางที่กรมสรรพสากรมีแผนจะดำเนินการในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยี Zero Tax มาใช้จัดเก็บรายได้ สอดรับกับข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น Pillar 2 หรือความร่วมมือเพื่อหยุดการแข่งขันลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของแต่ละประเทศ สำหรับดึงดูดเงินลงทุนต่างประเทศ ซึ่งทำให้ฐานภาษีมีความไม่มั่นคงและได้รายของรัฐบาลที่จะนำมาพัฒนาประเทศก็ไม่ยั่งยืน

“ที่ผ่านมาพบว่าสัดส่วนการจัดเก็บรายได้ภาษีต่อจีดีพีมีอัตราที่ต่ำลง ซึ่งกลไกที่จะนำมาใช้แก้ไขคือ การลดการใช้ดุลพินิจในการจัดเก็บภาษี” รมช.คลัง ระบุและว่า ส่วนการขยายฐานภาษี จำเป็นจะต้องสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชน ว่าการเสียภาษีให้กับรัฐบาล ประชาชนจะได้รับประโยชน์อะไรกลับคืนไป ซึ่งประเทศไทยอาจดูรูปแบบการดำเนินการของต่างประเทศ ที่ประชาชนยอมจ่ายภาษีแพงแลกกับการได้ใช้ชีวิตในพื้นที่ที่มีการอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการหารือในเรื่องการยื่นแบบเสียภาษีของประชาชน ที่กรมสรรพากรจะไปหาแนวทางอำนวยความสะดวก โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยในการดำเนินงาน รวมถึงการลดหย่อนภาษีที่จำเป็นจะต้องกำหนดกรอบเวลาและสร้างเครื่องชี้วัดที่ชัดเจน เพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์การดำเนินงานและไม่มีภาระต่อการจัดเก็บรายได้ รวมถึงเป็นความยั่งยืนในการจัดเก็บภาษีในอนาคต

นายจุลพันธ์ ย้ำว่า ตนได้ฝากให้กรมสรรพากรพิจารณาแนวทางในการที่จะสร้างกลไกทางภาษี เพื่อช่วยลดภาษีด้านงบประมาณและประหยัดรายจ่ายของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค (ทุกที่) ที่แต่ละปีมีการใช้จ่ายงบประมาณส่วนนี้เป็นจำนวนเงินที่สูงมาก ราวกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

“ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอีกเรื่องที่ผมได้ให้นโยบายกับกรมสรรพากรและกรมภาษีอื่นๆ ในการนำกลไกทางภาษีมาดำเนินการ รวมถึงเรื่องของการคืนภาษี ที่ต้องทำให้รวดเร็วทั้งกับประชาชน ภาคธุรกิจ และชาวต่างชาติในประเทศไทย แต่ก็ต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบ”

รมช.คลัง ย้ำว่า เรื่องที่สำคัญและสอดรับกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะเร่งนำโครงการดิจิทัล วอลเลตมาใช้ ส่วนในระยะยาว จำเป็นที่กรมสรรพากรจะต้องพิจารณาใช้กลไกทางภาษีมาช่วยกระตุ้นและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล โดยเฉพาะ S-CUVE หรือธุรกิจ/อุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต

สำหรับปัญหากรมสรรพากรกำลังประสบอยู่ โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนบุคลากร (HR) ที่พบว่าเมื่อคนรุ่นเก่าทยอยเกษียณอายุกันไป ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็อยู่กับกรมฯได้ไม่นาน โดยจะปรับกลยุทธ์รองรับการสร้างแรงดึงดูดใจเพื่อให้มีบุคลากรพอเพียงต่อการบริการประชาชน ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสวัสดิการและสวัสดิภาพของข้าราชการ เพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในการทำงาน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้พวกเขาได้มีกำลังใจในการทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน  เช่น การเพิ่มเงินประจำตำแหน่งที่ขาดแคลน ซึ่งตนจะรับเรื่องไปหารือต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาที่กรมจัดเก็บภาษีมีเหมือนกันคือการฉ้อฉลทางภาษี ทั้งเรื่องการลักลอบส่งออกและนำเข้าสินค้าที่ไม่เสียภาษี หรือสิ่งผิดกฎหมาย รวมถึงการปลอมแปลงเอกสารทางภาษี จะมีการบูรณาการในการทำงานร่วมกันอย่างไร นายจุลพันธ์ ตอบว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของการบูรณาการ แต่ตนได้สั่งการให้ทุกกรมภาษีดำเนินงานเพื่อป้องกันปัญหาการฉ้อฉลทางภาษีตามลักษณะการดำเนินงานที่แตกต่างกันไปแล้ว โดยในส่วนของกรมสรรพากร ได้หยิบยกเรื่องใบกำกับภาษีปลอมมาหารือ ซึ่งกรมสรรพากรได้ดำเนินการป้องกันปัญหานี้ โดยเฉพาะในเรื่องการตรวจจับเป็นต้น

ส่วนเรื่องการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรที่ได้รับมอบหมายให้จัดเก็บรายได้ในปีนี้จำนวน 2.76 ล้านบาทนั้น ถือว่าอยู่ในกรอบที่สามารถดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันพบว่า 2 กรมภาษีคือ กรมสรรพากรและกรมศุลกากรสามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ยกเว้น กรมสรรพสามิตที่จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลเข้าใจได้ เพราะรายได้ที่ลดลงมาจากนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะการลดราคาน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ทำให้กรมสรรพสามิตที่มีรายได้หลักจากภาษีน้ำมันลดลงเป็นจำนวนมาก

อนึ่ง นอกจากรายได้ภาษีสรรพสามิตน้ำมันแล้ว อีกหนึ่งรายได้ที่ลดลงของกรมสรรพสามิต คือ การจัดเก็บภาษีรถยนต์ เนื่องจากรัฐบาลก่อนหน้านี้และรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้มุ่งเน้นการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ผ่านมาตรการ 3.0 และ 3.5 ทำให้รายได้ภาษีรถยนต์ของกรมสรรพสามิตลดต่ำลงเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ หากรวม 2 ภาษี (ภาษีน้ำมันและภาษีรถยนต์) พบว่า รายได้ของกรมสรรพสามิตหายไปรวมกันราว 60,000 ล้านบาท.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password