ครม. หนุน บสย.ค้ำประกันให้ SME คลังตั้งงบฯ5หมื่นล.ปล่อยสินเชื่อช่วยรายละ40ล.

“ครม.เศรษฐกิจ” หนุนยกระดับค้ำประกันสินเชื่อ บสย. แก้เกมสถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยกู้ ด้าน ”นายกฯ“ สั่งเจาะหนักตลาดตะวันออกกลางเข้ามาเสริมช่วงโลว์ซีซั่นท่องเที่ยวของไทย ’จุลพันธ์‘ เผย ชง ครม.แก้กฎหมายเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติแล้ว หวังจูงใจนักลงทุนนอก

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง ให้สัมภาษณ์ หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจนัดแรก ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ว่า มีการเสนอมาตรการจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เห็นตรงกับกระทรวงการคลัง ในมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ (บสย.) จะช่วยให้ปัญหาที่ทำให้ธนาคารต่างๆ ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ เพราะเกรงว่า จะมีความเสี่ยง บสย.จะเข้ามาค้ำประกันสินเชื่อให้ผ่านจากงบประมาณรัฐบาล เข้ามาดูดซับความเสี่ยง SME ออกไป และทำให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับ SME ได้ โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องมีการพิจารณาการค้ำประกันสินเชื่อ หรือปล่อยสินเชื่อให้กับ SME รายใหม่เป็นอันดับแรก ส่วนวงเงินค้ำประกันขอพิจารณาเพิ่มเติม แต่ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า เป็นเรื่องสำคัญมาก จึงอาจมีการพิจารณาเพิ่มวงเงิน โดยจะนำเสนอเข้าครม.ภายใน 2-3 สัปดาห์นี้

นายเผ่าภูมิ กล่าวถึงเรื่องกรอบเงินเฟ้อด้วยว่า เราเห็นถึงความจำเป็น เพราะเงินเฟ้อมีปัญหา 2 มิติ คือเรื่องกรอบเงินเฟ้อที่ไม่สะท้อนสภาวะเศรษฐกิจจริง และเรื่องกรอบเงินเฟ้อที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง และธปท.ไม่พยายามผลักดันเงินเฟ้อเข้าไปอยู่ในกรอบ จึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันต้องพิจารณา

นายเผ่าภูมิ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง เร่งการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ และเม็ดเงินงบประมาณ ในส่วนสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ได้รับโจทย์ให้ไปเร่งรัดการปล่อยสินเชื่อที่เข้าถึงประชาชนได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ นายกฯยังมีข้อสั่งการไปยัง รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา หามาตราการ ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง เข้ามาเสริมช่วงโลว์ซีซั่นท่องเที่ยวของไทย และกระทรวงการคลัง จะช่วยสนับสนุนท่องเที่ยวในเมืองรอง
ด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ไม่ได้มีการตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจแบบในอดีต ทั้งนี้ เพื่อความคล่องตัวในการทํางาน ซึ่งทุกหน่วยงานได้เตรียทการบ้านมา เพื่อเสนอปัญหา และแนวทางการขับเคลื่อน และจะนําข้อหารือกลับไปคิดแนวนโยบาย เพื่อนำกลับมาเสนอ ที่ประชุมในอีก 2 สัปดาห์

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ในส่วนมาตราการด้านภาษี ตนได้เรียนกลไกด้านภาษีสรรพสามิตร เพื่อขับเคลื่อนในการรองรับคาร์บอนเครดิต ให้เป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงหารือเรื่องการลุงทุนจากต่างประเทศ ที่เขามีข้อกังวลใหญ่คือ โครงสร้างการจัดเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ ดังนั้นต้องมีกลไกในการปรับแก้กฎหมาย ซึ่งได้นําส่ง ครม.แล้ว และคงจะส่งให้สภาผู้แทนราษฎร เร็วๆนี้

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ นายพิชัย ได้เสนอให้ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นเลขาธิการร่วม ในการประสานงานกัน นอกจากนี้ ทางปลัดกระทรวงการคลัง ได้เสนอว่า ระหว่างรอโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็ต้องมีกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจ ในระหว่างนี้ จนถึงช่วงปลายปี ซึ่งเป็นโจทย์ที่กระทรวงการคลังและกระทรวงต่างๆ รับกลับไป เพื่อมาหารือกันอีกครั้ง.

ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 67 ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ของธุรกิจขนาดใหญ่ (เกิน 500 ล้านบาท) ขยายตัว 3.3% แต่สินเชื่อที่มีวงเงินน้อยกว่า 500 ล้านบาท หดตัว -5.1% โดยระดับเงินกองทุน (BIS Ratio) อยู่ที่ 20.1% ระดับสภาพคล่อง Liquidity Coverage Ratio อยู่ที่ 202.5% และระดับ NPL coverage ratio อยู่ที่ 176.1%

เหล่านี้สะท้อนภาวะธนาคารมีเสถียรภาพมาก แต่เลือกปล่อยสินเชื่อเฉพาะธุรกิจใหญ่ แต่ SME กลับถูกจำกัดสินเชื่อ เพราะธนาคารไม่อยากรับความเสี่ยง ภาวะนี้ทำให้ SMEs ขาดน้ำหล่อเลี้ยง จนต้องปิดตัว ชะลอการผลิต หยุดการจ้างงาน กระทบเศรษฐกิจภาพรวม

กระทรวงการคลังต้องการต่อสู้กับภาวะนี้ ต้องการช่วยเหลือ SMEs โดยเตรียมมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme (PGS11) โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อสร้างหลักประกันให้ธนาคารในการปล่อยสินเชื่อและอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินโดยด่วน กลไกนี้จะลดความเสี่ยงและเพิ่มหลักประกันให้กับ SMEs ในการประเมินของธนาคาร และช่วย SMEs ที่ไม่มีหลักประกันหรือมีไม่เพียงพอ ให้เข้าถึงสินเชื่อได้ทันที

มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ PGS11 นี้มีวงเงินโครงการ 50,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี ค้ำประกันตลอดโครงการไม่เกินร้อยละ 30 และให้ความสำคัญในการค้ำประกัน “SMEs รายใหม่” เป็นลำดับแรก เพื่อกระจายการเข้าถึงสินเชื่อ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password