ดีเดย์ 1 ต.ค.นี้ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ400บ. ‘เอเชีย พลัส’ชี้ 10 อุตสาหกรรม กระทบแค่ไหน ?

ดีเดย์ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ นักวิเคราะห์ “เอเซีย พลัส” ประเมินภาพรวมเบื้องต้น นายจ้างผู้ประกอบการ 10 อุตสาหกรรมกระทบมากแค่ไหน

วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงแรงงานจะนำประเด็นเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำเข้าหารือต่อที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ เริ่มทยอยปรับขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 โดยใช้เวลา 5-6 เดือน เตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ที่เป็นผู้ถือครองจำนวนแรงงานมากที่สุด

ล่าสุดฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด รายงานว่า กระแสขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ประเมินผลกระทบต่อ 10 อุตสาหกรรมดังต่อไปนี้

1.อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง : เป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานจำนวนมาก โดยต้นทุนค่าแรงที่อิงกับค่าแรงขั้นต่ำ จะอยู่ในส่วนของคนงานก่อสร้างที่มีทั้งการจ้างโดยตรงและการจ้างผ่านผู้รับเหมาช่วง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 20-30% ของต้นทุนก่อสร้าง

2.อุตสาหกรรมนิคม : ประเมินว่าผลกระทบของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะมีผลกระทบต่อยอดขายที่ดินนิคมในวงจำกัด

3.อุตสาหกรรมพัฒนาที่อยู่อาศัย : แนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงสู่ระดับ 400 บท/วัน ย่อมส่งผลเชิงลบต่อต้นทุนการพัฒนาโครงการของผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยทุกราย โดยหากพิจารณาโครงสร้างต้นทุนสัดส่วนหลัก 30-40% มาจากต้นทุนที่ดิน ตามด้วยต้นทุนก่อสร้างและแรงงาน 40-50% ที่เหลือเป็นงานโครงสร้างและอื่น ๆ

4.อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและสนามบิน : อิงข้อมูลปี 2566 เริ่มด้วย บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) มีค่าใช้จ่ายผลประโยชน์ของพนักงานราว 5 พันล้านบาท หรือราว 25% ของค่าใช้จ่ายการดำเนินการ (OPEX) (CGS + SG&A) ส่วน บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) มีค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงานราว 1.6 พันล้านบาท หรือ 29% ของ OPEX ขณะที่ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) รายได้กว่า 50% มาจากใน EU ผลกระทบจึงจำกัดกว่ากลุ่ม

5.อุตสาหกรรมเช่าซื้อ : มองสัดส่วนพนักงานที่มีค่าแรงขั้นต่ำไม่สูง ในทางตรงข้ามคาดหวังแรงส่งจากการขึ้นค่าแรงหนุนกำลังซื้อในประเทศดีขึ้น บวกต่อทั้งการได้รับวงเงินสินเชื่อและความสามารถในการชำระหนี้
6.อุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมี : ภาพรวมธุรกิจในอุตสาหกรรมพลังงานไม่ได้อิงกับการใช้แรงงาน โดยโครงสร้างต้นทุนส่วนใหญ่จะอิงกับราคาพลังงาน, ค่าเสื่อมราคา เป็นหลัก ในขณะที่ค่าใช้จ่ายพนักงาน (SG&A) ส่วนใหญ่จะเป็นการจ่ายในรูปแบบของเงินเดือน, โบนัส

7.อุตสาหกรรมค้าปลีก : คาดได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท แต่หากพิจารณาเฉพาะหุ้นกลุ่มพาณิชย์ที่ศึกษา ส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะพนักงานได้รับค่าแรงขั้นต่ำมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนพนักงานทั้งหมด (มีสัดส่วน 10-20%)

8.อุตสาหกรรมสื่อสาร : ผลกระทบต่อการดำเนินงานของหุ้นในกลุ่มไอซีที (ICT) มีน้อยมาก หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท

9.อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม : คาดได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท เนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่ได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว

10.อุตสาหกรรมการเพทย์ : หากดูโครงสร้างต้นทุน ค่าธรรมเนียมแพทย์+ต้นทุนยา มีสัดส่วนเกือบ 70% ดังนั้น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกระทบต่อกลุ่มโรงพยาบาลจำกัด เพราะบุคลากรทางการแพทย์ได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password