“พิพัฒน์” ขอโทษทำตามสัญญาไม่ได้ ค่าจ้าง 400 บาท 1 ต.ค. ชี้ ต้องรอตัวแทน ธปท.

รมว.แรงงาน ขอโทษ ทำตามสัญญาไม่ได้ ปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาท 1 ต.ค.นี้ บอก ต้องรอบอร์ดค่าจ้างตัวแทน ธปท. ด้านบอร์ดนายจ้าง แนะ “เมธี สุภาพงษ์” อย่าลาออก อยู่ให้ครบวาระ 2 ปี
วันที่ 23 ก.ย.2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ที่โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก ถึงเรื่องการปรับค่าจ้าง 400 บาท ไม่ทัน 1 ตุลาคม 2567 ว่า นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ทำหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยระบุว่า นายเมธี สุภาพงษ์ บอร์ดค่าจ้างตัวแทน ธปท. เกษียณอายุราชการเกือบ 1 ปี และไม่ได้เข้าประชุมบอร์ดค่าจ้าง จึงต้องรอให้ ธปท. ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน และส่งผู้แทนคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน เพื่อให้การปรับค่าจ้างสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ขณะนี้จึงจำเป็นต้องเลื่อนประชุมค่าจ้างในวันที่ 24 กันยายนนี้ ออกไปอย่างไม่มีกำหนดจนกว่าจะได้ตัวแทนบอร์ด 3 ฝ่ายครบ 15 คน ประกอบกับปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างคนปัจจุบันกำลังจะเกษียณอายุ จึงต้องรอปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่มาทำหน้าที่

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ตนขอโทษที่ไม่สามารถทำตามที่สัญญาไว้ว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศวันที่ 1 ตุลาคมนี้ แต่ยืนยันว่าจะเดินหน้าปรับขึ้นค่าจ้าง เพราะตระหนักดีถึงความลำบากของผู้ใช้แรงงาน จึงไม่อยากกดค่าจ้างให้ต่ำเกินไปในขณะที่ค่าครองชีพกำลังพุ่งสูง ซึ่งเป็นเวลา 12 ปีแล้วหลังจากมีการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ค่าจ้างก็ยังขึ้นไม่ถึง 100 บาท หรือเฉลี่ยปีละ 8 บาท แรงงานต้องทำโอทีเพื่อให้เลี้ยงครอบครัวได้ อยากให้นายจ้างเข้าใจ ส่วนที่มีการเสนอแนวทางเปิดประชุมคณะกรรมการค่าจ้างเพียง 14 คน ยืนยันว่าเปิดประชุมไม่ได้ เพราะสัดส่วนคณะกรรมการมีไม่ครบ 15 คนตามกฎหมาย

“ปลัดกระทรวงพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ประชุมต่อให้ได้ แต่เมื่อไม่เป็นไปตามที่หารือกันไว้จึงไม่สามารถประชุมค่าจ้างได้ เพราะบางคนไม่พร้อมประชุมในวันที่ 24 กันยายน ขณะนี้จึงต้องรอคำตอบจากแบงก์ชาติว่าจะเอาอย่างไรกับกรรมการค่าจ้างสัดส่วนของแบงก์ชาติ การประชุมค่าจ้างจึงต้องรอไปก่อนเพราะเราทำอะไรไม่ได้เลย ต้องรอให้กรรมการครบ 15 คนเท่านั้น ถ้าไม่ครบ โหวตไปก็แพ้นายจ้าง”

ทางด้าน นายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวถึงกรณีที่ปลัดกระทรวงแรงงาน เรียกร้องให้ นายเมธี บอร์ดค่าจ้างตัวแทน ธปท. ลาออกจากกรรมการค่าจ้างฝ่ายรัฐ เพราะเกษียณอายุราชการเกือบ 1 ปี เป็นเรื่องที่ไม่ควรพูดไปก่อน ตนเข้าใจว่า ปลัดกระทรวงแรงงานกังวลว่าจะโหวตไม่ได้ 2 ใน 3 พร้อมฝากถึง นายเมธี อย่าได้หลงกลการเมือง แม้ว่าจะเกษียณแล้วก็ยังเป็นตัวแทนแบงก์ชาติได้ เพราะตอนที่เสนอมาเป็นบอร์ดค่าจ้างเสนอในนามชื่อผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง ไม่ได้เสนอมาโดยตำแหน่งในแบงก์ชาติ เมื่อเกษียณอายุราชการแล้วก็ยังถือเป็นกรรมการค่าจ้างจนครบวาระ 2 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม แหล่งข่าวจาก ธปท. ระบุว่า ธปท. ไม่เคยมีหนังสือชี้แจงไม่รับรอง นายเมธี เนื่องจากการเสนอชื่อแต่งตั้ง นายเมธี เป็นการแต่งตั้งโดยระบุแต่เพียงชื่อบุคคล ไม่ได้แต่งตั้งตามตำแหน่งที่บุคคลนั้นดำรงอยู่ ดังนั้น แม้เกษียณแล้วก็ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จนกว่าจะครบวาระ สำหรับการลาประชุมเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ก็เป็นการลาไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password