กนอ. ผนึก 6 หน่วยงานรัฐ ขับเคลื่อนโครงการ ปลุกพลังนิคมอุตสาหกรรม ร่วมต้านภัยยาเสพติด
กนอ. จับมือ 6 หน่วยงานภาครัฐ ลงนาม MOU โครงการ “ปลุกพลังนิคมอุตสาหกรรม ร่วมต้านภัยยาเสพติด” แก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะการป้องกันยาเสพติดในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน สถานประกอบการ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการ กนอ (สายงานพัฒนาที่ยั่งยืน) เป็นผู้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ภายใต้โครงการปลุกพลังนิคมอุตสาหกรรม ร่วมต้านภัยยาเสพติด ระหว่าง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน (นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (นายแพทย์ กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม (พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส.) ว่า กนอ. ดำเนินกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม หวังว่าการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่าง 7 หน่วยงาน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
สำหรับสาระของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ มุ่งหวังให้เกิดการบูรณาการในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติในพื้นที่ ซึ่งการป้องกันยาเสพติดในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน สถานประกอบการ นับเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ วัตถุประสงค์หลักของความร่วมมือนี้ คือ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการในกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด สนับสนุนให้สถานประกอบการมีระบบค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด และส่งเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างเหมาะสม
พร้อมทั้งส่งเสริมให้สถานประกอบการเปิดโอกาสให้ผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด และผู้ผ่านการบำบัดรักษา กลับเข้าทำงาน โดยหวังว่าจะลดปัญหาการใช้ยาเสพติดในนิคมอุตสาหกรรม ส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย และสนับสนุนการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด
ส่วนบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานมีการแบ่งแยกการดำเนินงาน ดังนี้
กนอ.จัดทำแผนรณรงค์และสร้างการมีส่วนร่วมให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ดำเนินการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด พร้อมให้โอกาสผู้ผ่านการบำบัดเข้าทำงาน สนับสนุน รณรงค์ส่งเสริมกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดแก่แรงงานและสถานประกอบการ รวมทั้งสร้างการตระหนักรู้รับผิดชอบทางสังคมด้านแรงงาน(CSR) จัดฝึกอบรมวิทยากรแกนนำของสถานประกอบการเพื่อถ่ายทอดความรู้การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดแก่ผู้ใช้แรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ส่งเสริมหน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลางและพื้นที่ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ บูรณาการและวางแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ สนับสนุนให้สถานประกอบการมีระบบการจัดการด้านยาเสพติด เช่น มาตรฐาน มยส.,โครงการโรงงานสีขาว และกิจกรรม To Be Number One สนับสนุนให้สถานประกอบการค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ส่งเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างเหมาะสม และให้โอกาสรับผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติดเข้าทำงาน
กรมการปกครอง ให้หน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลาง ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ บูรณาการวางแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้งภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน จัดกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม จัดตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด/อำเภอ ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการเพื่อให้คำแนะนำ สร้างการรับรู้แก่สถานประกอบการ สร้างกลไกเฝ้าระวังในสถานประกอบการ และบริเวณโดยรอบสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม สนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่รอบสถานประกอบการ เพื่อร่วมป้องกันและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดของสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สปส.) สนับสนุนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข บูรณาการการดำเนินงานภายใต้โครงการปลุกพลังนิคมอุตสาหกรรม ร่วมต้านภัยยาเสพติด โดยร่วมมือกับสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ สนับสนุนด้านบุคลากร วิชาการ ข้อมูล และให้คำปรึกษาด้านการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ดูแลช่วยเหลือฟื้นฟูผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดตามความเหมาะสม รวมทั้งจัดบริการตรวจคัดกรองและบำบัดรักษาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดตามเกณฑ์มาตรฐานดูแลช่วยเหลือฟื้นฟูผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด และผู้ผ่านการบำบัดรักษายาเสพติดร่วมกับผู้ประกอบการ และสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม
กรมการแพทย์ ประกอบด้วย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมสุขภาพจิต และสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ร่วมกำหนดนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลางและพื้นที่ สนับสนุนการดำเนินงาน ร่วมกับสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม วางแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ให้ข้อมูลและคำปรึกษาเกี่ยวกับกระบวนการบำบัดรักษาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดแก่สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการป้องกันและบำบัดรักษายาเสพติดแก่บุคลากรของสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม และสนับสนุนบุคลากรเข้าตรวจเยี่ยมสถานประกอบการ เพื่อค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด และการประสานส่งต่อผู้เสพ/ผู้ติด เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดอย่างเหมาะสม
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้หน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลางและพื้นที่ สนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม และประสานบูรณาการ วางแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ สนับสนุนบุคลากรเข้าร่วมปฏิบัติการตรวจค้นและตรวจตราสถานประกอบการ เพื่อค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด และผู้มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย ตรวจค้นพื้นที่เสี่ยงทั้งภายในและบริเวณโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม ควบคุมการบังคับใช้กฎหมาย จับกุมผู้ค้า เพื่อตัดวงจรการค้ายาเสพติดในสถานประกอบการ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรในสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อป้องปรามและพัฒนาระบบเฝ้าระวังให้แก่สถานประกอบการ
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นหน่วยงานกลางประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สนับสนุนสถานประกอบการดำเนินกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดทั้งระดับส่วนกลางและพื้นที่ โดยให้สำนักงาน ปปส. ภาค 1 – 9/กทม. สนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม ให้คำปรึกษา/แนะนำเกี่ยวกับประมวลกฎหมายยาเสพติด ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กฎหมายหรือระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ให้มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ทั้ง 7 ฝ่ายลงนามเป็นต้นไป โดยมีกำหนดระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี ตั้งแต่ 7 พฤษภาคม 2567 ถึง 30 กันยายน 2570 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2570).