คลังเร่งหน่วยงานรัฐ ‘เบิกจ่ายงบฯ 2 ปี’ หวังมีเงินไหลสู่ระบบ – กระตุ้นเศรษฐกิจไทย

“รมช.คลัง” งัดกลยุทธ์ ‘บีบหน่วยงานรัฐ’ เร่งเบิกจ่ายงบค้างท่อปี 2567 ต่อเนื่องงบใหม่ปี 2568 ที่จะไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยหลายล้านล้านบาท หวังกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปีนี้ต่อเนื่องปีหน้า เผย! แต่ละกระทรวงมีแผนใช้จ่าย/ลงทุนโครงการฝังในงบประมาณฯอยู่แล้ว พร้อมหนุนสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เร่งช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงของงบประมาณปี 2567 ที่จะถูกนำออกมาใช้เร็วๆ นี้ ต่อเนื่องถึงงบประมาณปี 2568 ทำให้มีวงเงินงบประมาณรวมจำนวนมมหาศาลไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของไทย ว่า กระทรวงการคลัง และกรมบัญชีกลางได้เร่งรัดการลงทุนตามแผนงานในงบประมาณที่วางไว้ โดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งลงนามในเซ็นสัญญาว่ากับจ้างกับผู้รับเหมา พร้อมเร่งรัดการเบิกจ่ายให้เร็วที่สุด ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ กระทั่งสามารถจะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโครงการใหม่ๆ นอกเหนือจากโครงการที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ (โครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต) จะมีหรือไม่ คงต้องขึ้นกับนโยบายของรัฐบาล แต่หากดูจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้ว แต่ละกระทรวง/หน่วยงานรัฐอื่นๆ ต่างก็มีโครงการที่ได้เสนอมาตามแผนงานที่จัดทำไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่แล้ว ประเด็นคือกระทรวงการคลังจะต้องเร่งรัดการลงทุนและเบิกจ่ายให้งบประมาณดังกล่าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้มากที่สุด

“ที่ผ่านมารัฐบาลและกระทรวงการคลังต่างก็พยายามเร่งรัดการใช้จ่ายของหน่วยงานรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เห็นได้จากการที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ SME D BANK บสย. ฯลฯ ต่างก็ได้ออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และประชาชนมาแล้วอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการลดดอกเบี้ย การออกสินเชื่อใหม่ๆ แม้กระทั่ง มาตรการทางด้านอสังหาริมทรัพย์ เพราะรัฐบาลมองเห็นว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนต่อจีดีพีที่สูงมากถึงร้อยละ 10 ที จึงได้ดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการช่วยเหลือในโครงการเหล่านี้” รมช.คลัง กล่าวและว่า

ในส่วนของ การค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรม (บสย.) ในโครงการ PGS 11 วงเงิน 50,000 ล้านบาทนั้น กระทรวงการคลังพร้อมสนับสนุนวงเงินที่ขอเพิ่มมานี้ ซึ่งขณะนี้รอให้ทาง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ดูแลโครงการดังกล่าว เสนอเรื่องมายังกระทรวงการคลัง เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชาคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอีกที ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเองไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน แต่ขณะนี้ สศค.ยังไม่ส่งเรื่องมาให้ หากส่งมาทัน กระทรวงการคลังก็พร้อมจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ทันที

ส่วนกรณี คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เห็นชอบปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันในส่วนของน้ำมันดีเซล เพื่อปล่อยให้ราคาเคลื่อนไหวตามตลาดโลกนั้น เป็นเรื่องที่กระทรวงพลังงานจะต้องพิจารณาโครงสร้างราคาน้ำมันเอง ในส่วนของกระทรวงการคลัง หากจะออกมาตรการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คงต้องหารือในที่ประชุม ครม.ก่อน ทั้งนี้ จะต้องคำนึงถึงการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ ซึ่งกระทรวงการคลังเอง ก็มีหน้าที่จัดเก็บรายได้ และได้มอบหมายให้กรมจัดเก็บฯเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามเอกสารงบประมาณที่เรายอมรับกันไว้

“การดูแลโครงสร้างราคาน้ำมันเป็นเรื่องที่กองทุนน้ำมัน กระทรวงพลังงาน เป็นผู้ดูแล ขณะที่กระทรวงการคลังก็จะต้องดูแลในเรื่องการจัดเก็บรายได้ไม่ให้กระทบเงินคงคลัง ทั้งนี้ หากกองทุนน้ำมันพอจะมีช่องว่างของเงินกองทุนอยู่ ก็อยากให้ไปดูแลในส่วนนี้” รมช.คลัง ระบุ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password