เอกชนหนุนรัฐ – ออก Junk Bond 1.2 หมื่นล. แก้วิกฤตประกันภัย

“คลัง” เห็นพ้องออก Junk Bond มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท เติมเงินให้ “กองทุนประกันวินาศภัย” แก้ไขปัญหาค้างจ่ายเงินสินไหมทดแทน จากวิกฤต 4+1 บริษัทประกันวินาศภัยปิดตัวและหยุดกิจการชั่วคราว หลังรัฐบาลห่วงมากหากต้องใช้หนี้แทนบริษัทประกันภัยกว่า 6 หมื่นล้านบาท ด้าน “เลขาธิการ คปภ.” เผย! นาทีนี้ยังไม่สั่งปิดกิจการและยึดไลเซน์ของ บมจ.สินมั่นคง ย้ำ! ยังมีสิทธิแก้ตัว หาทุนใหม่เดินหน้าต่อ แต่ต้องทำถูกกฎหมาย ยอมรับ! ถอดบทเรียนวิกฤติโควิด-19 รับมือโรคอุบัติในอนาคตตามแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีแล้ว

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบหมายให้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เชิญ ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยการนำของ นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คปภ. มาหารือถึงแนวแนวทางแก้ไขปัญหาของธุรกิจประกันภัย โดยเฉพาะ ธุรกิจประกันวินาศภัยที่ได้ปิดตัวไปแล้ว 4 บริษัท (บมจ. อาคเนย์ประกันภัย บมจ.ไทยประกันภัย บมจ. เดอะวัน ประกันภัย และ บมจ. เอเชียประกันภัย 1950) และอีก 1 บริษัท คือ บมจ.สินมั่งคงประกันภัย ซึ่งอยู่ระหว่างการถูกสั่งให้ต้องหยุดดำเนินกิจการ (หยุดรับประกันวินาศภัย) เป็นการชั่วคราว ตามมาตร 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 เนื่องเพราะปัญหาต่อเนื่องจากการปิดตัวของบริษัทประกันวินาศภัยข้างต้น ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นับแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ทั้งการดำเนินการทั่วไปและการออกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดฯ “เจอ จ่าย จบ” ก่อนหน้านี้ กระทั่ง ตกเป็นภาระของกองทุนประกันวินาศภัย ที่มีภาระค้างจ่ายเงินสินไหมทดแทนจากผู้เอาประกันรวมกันกว่า 7 แสนราย คิดเป็นวงเงินรวมกันกว่า 60,000 ล้านบาท

นายจุลพันธ์ได้เชิญให้เลขาธิการ คปภ.และคณะ มาร่วมหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของบริษัทประกันภัย (ประกันวินาศภัย) โดยเฉพาะประเด็นปัญหาของเงินค่าสินไหมทดแทนที่กองทุนประกันวินาศภัยจะต้องเข้ามารับผิดชอบแทนบริษัทประกันภัยที่ปิดตัวไปก่อนหน้านี้ ซึ่ง 1 ในเงื่อนไขและข้อเสนอจากสำนักงาน คปภ.ในการแก้ปัญหาการค้างจ่ายเงินสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันทั้งหมดกว่า 60,000 ล้านบาทนั้น คือ การเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาออกตราสารหนี้อัตราผลตอบแทนสูง (Junk Bond) จำหน่ายให้กับภาคธุรกิจประกันภัย โดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้บริหารจัดการและกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่จูงใจให้กับภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อนำเงินที่ได้มาใช้แก้ไขปัญหาหนี้สินในเบื้องต้นให้กับกองทุนประกันวินาศภัย คาดว่าวงเงินของ Junk Bond ในช่วงแรก น่าจะอยู่ที่ 12,000 ล้านบาท แหล่งข่าวระดับสูง กล่าวและว่า…

ก่อนหน้านี้ นายจุลพันธ์ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ถึงแนวคิดในการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2567 จำนวน 3,500 ล้านบาท เพื่อให้ กองทุนประกันวินาศภัย ได้นำมาใช้การดำเนินงาน ซึ่งหากได้เงินจากการออก Junk Bond มาร่วมสมทบแล้ว ความวิตกกังวลใจของรัฐบาลว่าจะต้องชำระเงินค่าสินไหมทดแทนฯให้กับผู้เอาประกันรวมกันยาวนานถึง 60 ปี ก็จะไม่เกิดขึ้น

ด้าน นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คปภ. กล่าวถึงปัญหาของภาพรวมธุรกิจประกันภัย โดยเฉพาะกรณี บมจ.สินมั่นคง นั้น ตนขอยืนยันว่า การประชุมบอร์ด คปภ. เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องการออกคำสั่งฉุกเฉินตามมาตรา 52 เพื่อให้ บมจ.สินมั่งคงประกันภัย หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ดังที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ ส่วนเรื่องที่จะปิดกิจการและเรียกคืนไลเซนส์ (เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ) ตามมาตรา 59 นั้น ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนดังกล่าว ซึ่ง เจ้าของ และ/หรือ ผู้บริหารระดับสูงของ บมจ.สินมั่งคงประกันภัย ยังมีเวลาและโอกาสที่จะหาพันธมิตรรายใหม่หรือวิธีการใดๆ ก็ได้ที่ถูกกฎหมาย เพื่อหาเงินมาเติมทุนให้มีความมั่นคงในการดำเนินงานในอนาคตต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากบทเรียนของวิกฤตโควิดฯ ในช่วงที่ผ่านมา ทาง สำนักงาน คปภ. ได้ถอดบทเรียนเพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผนรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตไว้อย่างไร เลขาธิการ คปภ. ยอมรับว่า โอกาสที่โลกจะประสบปัญหาจากโรคอุบัติใหม่ โดยเฉพาะโรคระบายร้ายแรงเหมือนเช่นที่เกิดโรคโควิดฯนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ และก็อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (2567 – 2569) ของสำนักงาน คปภ.ที่จะนำบทเรียนของโรคไวรัสโควิดฯ มาใช้บริหารความเสี่ยงและวางแผนรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคต ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการออกกรมธรรม์ดังกล่าวแก่ประชาชนยังคงจะต้องมีอยู่ เพียงแต่การบริหารจัดการและการกำกับดูแลอาจต้องพิจารณาอย่างเข้มข้นมากขึ้น แต่ก็ต้องไม่ทำให้ธุรกิจประกันภัยมีความเสี่ยงหรือดำเนินงานได้ยากจนเกินไปนัก

“ยอมรับว่าแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงที่เราใช้อาจยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้น เนื่องจากเป็นโรคร้ายแรงเกิดใหม่ที่ทั่วโลกเพิ่งจะรู้จัก และมีหลายสายพันธุ์ อีกทั้งเชื้อไวรัสยังมีการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ได้เรียนรู้ถึงแนวทางและวิธีในการบริหารจัดการ หากจะเกิดโรคอุบัติใหม่ในอนาคต ซึ่งตอนนี้ เรามีผู้บริหารระดับสูงที่มีความเชี่ยวชาญในการพิจารณาและกำกับดูแลในการออกกรมธรรม์รองรับโรคอุบัติใหม่แล้ว และในอนาคตอาจต้องมาดูกันว่า ควรจะมีการจำกัดความรับผิด หรือมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการในการ “อันเดอร์ไรท์” (การรับประกันภัย) ได้หรือไม่ เพื่อให้บริษัทประกันภัยมีความเสี่ยงน้อยที่สุด ขณะที่ประชาชนยังคงมีระบบประกันภัยในห้วงเวลาการเกิดโรคอุบัตใหม่ (โรคระบาดร้ายแรง)” เลขาธิการ คปภ. ย้ำ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password