3 CEO “ไทยเบฟฯ-ซีพี-เอสซีจี” โชว์วิสัยทัศน์ ปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน

ซีอีโอ 3 บิ๊กธุรกิจไทย “ไทยเบฟเวอเรจ – ซีพี – เอสซีจี” ร่วมแสดงวิสัยทัศน์บนเวทีเสวนา “TSCN CEO PANEL: ปรับตัวอย่างไร ให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน” ในงานมหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน SX2023 วันที่ 8 ต.ค.2566 นำถ่ายทอดประสบการณ์การพัฒนาที่ยั่งยืนมาปรับใช้ในการบริหารธุรกิจ เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มขีดความสามารถผู้นำองค์กรภาคธุรกิจอื่นๆ นำไปปรับใช้อย่างยั่งยืงด้วยกัน เพื่อโลกที่ดีกว่า

เปิดคัมภีร์เอาตัวรอด “วิ่ง ซ่อน สู้”

“ฐาปน  สิริวัฒนภักดี”  กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ  มองว่า หลังจากมีการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน เกิดสัญญาณที่ดี ที่มีหลายหน่วยงาน ทุกภาคส่วน รวมถึงคนรุ่นใหม่ ตื่นตัวให้ความสนใจ  เห็นได้จากการจัดงาน SX2023มีเยาวชนไทย ให้ความสนใจเข้าร่วมงานถึง 60% ซึ่งโลกในอนาคต จะถูกขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ ที่มีจิตอาสา อยากเข้ามามีส่วนร่วมในการทำประโยชน์เพื่อสังคม ดังนั้นองค์กรขนาดใหญ่มีหน้าที่ในการสนับสนุน ร่วมเป็นฟันเฟืองสร้างสังคมไทยให้เกิดแกร่ง ในทุกระดับ

“ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่ยากเกินคาดเดา จึงใช้ 3 กลยุทธ์ในการเอาตัวรอด คือ “วิ่ง ซ่อน และสู้”  ที่บอกว่า วิ่งคือ เราต้องปรับตัว พัฒนาตัวเองให้แข็งแกร่ง ในยุคดิสรัปชั่น ต้องมีการตื่นตัว โดยมีสติ ไม่ใช่เพียงวิ่งไปทางไหนก็ได้ แต่เป็นการวิ่งแบบเข้าใจในเหตุการณ์ และเมกะเทรนด์ที่โลกกำลังขับเคลื่อนจะไปสู่ทิศทางไหน  ส่วน ซ่อน เป็นการสะท้อนถึงการหยุดคิด ด้วยความมีสติ มีความคิดที่ดี ที่เริ่มมองความยั่งยืนได้อย่างเข้าใจ  ขณะที่ สู้ คือ การปรับตัว ในทิศทางที่จะต้องแสวงหาความร่วมมือ เพราะหากสู้เพียงลำพังไม่สามารถอยู่รอดได้ จึงต้องเชื่อมโยงกันตลอดห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน)

ทั้งนี้จึงสรุปได้ว่า การจะยั่งยืนได้ ต้องเกิดจากการตื่นรู้ มีสติ และปรับตัว สร้างโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา เป็นโอกาสของธุรกิจเอสเอ็มอี ในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) เมื่อเข้าใจและปรับตัว สู่ความยั่งยืน จะเกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ เชื่อมโยงกับรายใหญ่ เชื่อมโยงกับระดับท้องถิ่น ทุกฝ่ายล้วนเป็นพันธมิตรร่วมกันได้ นอกจากอยู่รอดแล้วยังมีความยั่งยืน

“วิกฤติทำให้ได้เรียนรู้หลายๆอย่าง เกิดเรื่องราวพลิกผันมากมาย มิติความยั่งยืนจึงเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อก่อนใครอยู่อุตสาหกรรมไหน จะเชี่ยวโยงในสายตัวเอง แต่ส่วนตัวผมเชื่อว่า ในอนาคตจะเห็นอุตสาหกรรมร่วมมือกันในมิติต่างๆ มากขึ้น ช่วงเกิดโรคระบาด ทำให้เรียนรู้อุปกรณ์ ในการใช้ชีวิตมากขึ้น  โดยเฉพาะการใช้สมาร์ทโฟน รู้เท่าทันดิจิทัล  เราต้องรวมพลัง สร้างเรื่องใหม่ ๆ สร้างสิ่งดีๆ มีประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่แค่ 1 บวก 1 แล้วเท่ากับ 2 ผมมองว่า การรวมพลังแล้วต้องเท่ากับ 3 แต่ถ้าถามพ่อผม ( เจริญ สิริวัฒนภักดี )   1 บวก 1 อยู่คู่กัน ต้องเท่ากับ 11 สะท้อนซีเนอร์ยีสูงมาก รูปแบบโอกาส อยู่ที่เรารวมพลัง สร้างเรื่องใหม่ๆ ประหยัดค่าใช้จ่าย อาจเกิดมิติใหม่ๆขึ้นมา หวังใช้โอกาสนี้ ให้โตก้าวหน้าไปร่วมกันทุกคน  ต้องช่วยกันสร้างความแข็งแรงให้เศรษฐกิจของคนไทย”

สิ่งสำคัญเราต้องมองข้ามอุตสาหกรรม เมื่อเข้าใจภาพกว้างของทิศทางธุรกิจทั่วโลก การเติบโตไปด้วยกันเป็นอีกสิ่งที่สำคัญมาก ดังนั้นผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่ในทุกระดับ ต้องมาพูดคุยกัน ลดช่องว่าง มองเห็นโอกาสแห่งความร่วมมือที่จะพัฒนาควบคู่กับโอกาสทางธุรกิจ ที่จะเกิดผลกระทบในเชิงบวกมากขึ้น

“ผู้บริหารในองค์กรใหญ่ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยกันมากขึ้น ทำให้ลดช่องว่าง เข้าใจกันมากขึ้น ทำให้นำไปสู่การตัดสินใจการพัฒนาธุรกิจที่จะช่วยพัฒนาประเทศควบคู่กับธุรกิจ มีการเรียนรู้ที่จะตัดสินใจร่วมกัน เป็นการก้าวออกจากคอมฟอร์ทโซน ที่อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินธุรกิจขนาดใหญ่ ไปสู่ความยั่งยืนทั้งองคาพยพ”

ชูรุ่นใหม่ – ดึงทุกภาคส่วนสร้างความยั่งยืน

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือซีพี ระบุว่า  ล่าสุดองค์การสหประชาติ หรือยูเอ็น ได้ประเมินความคืบหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 ข้อ ซึ่งตั้งเป้าหมายในปี 2030  แต่ช่วงปี 2015-2023 สำเร็จไปเพียง 12% ขณะที่ประเทศไทย ยูเอ็นมองว่า เป็นที่หนึ่งในอาเซียนที่มีความคืบหน้าด้าน SDGs มากที่สุด โดยมีภาคเอกชนช่วยขับเคลื่อน เป็นตัวอย่างให้กับประเทศในอาเซียน ถ้าเราเริ่มต้นได้ดี เราจะสามารถเป็นตัวอย่างของระดับโลกได้ด้วย แต่ก็ยังมีอะไรที่ต้องดำเนินการอีกเยอะ โดยช่วง 4 ปีที่ผ่านมาโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายเรื่อง แต่เรื่องความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญและมีการขับเคลื่อนเพิ่มขึ้น ไทยแม้จะเจอผลกระทบของโลกในหลายด้าน แต่ก็ปรับตัว โดยเฉพาะการให้ความสำคัญในเรื่องของการลดคาร์บอน ซึ่งนโยบายภาครัฐจะต้องสนับสนุนการใช้รถยนต์อีวี  การใช้พลังงานสะอาด การทำโซลาร์ฟาร์ม  การให้อินเซนทีฟกับผู้ประกอบการในเรื่องความรู้และนวัตกรรม เป็นเรื่องสำคัญ

ทั้งนี้เครือซีพีได้มีประกาศเป้าหมายและยุทธศาสตร์ความยั่งยืนที่ชัดเจน และได้ประกาศเป้าหมายนำองค์กรสู่ Carbon Neutral ในปี 2030 ซึ่งเครือซีพีได้ดำเนินการลดคาร์บอนไปแล้ว 70% ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กรแล้ว รวมทั้งได้เริ่มดำเนินการใน scope 3 เป็นเป้าหมายที่ใหญ่และท้าทายอย่างมาก ซึ่งต้องอาศัยการสร้างความร่วมมือกับคู่ค้าและภาคส่วนอื่นๆ ด้วย 

ส่วนการธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนจำเป็นต้องมีการตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจน ต้องมองกลไกการตลาดควบคู่ไปด้วย  ขณะเดียวกันต้องมองความท้าท้ายในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ , ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ขณะที่ภาคสังคมควรให้ความสำคัญเรื่องระบบการศึกษา ที่จะต้องเพิ่มเรื่องความยั่งยืนเข้าไปในหลักสูตร ปรับการเรียนการสอน โดยให้เด็กเป็นศูนย์กลางให้เกิดการเรียนรู้จากการได้ลงมือทำจริงด้วยตัวเอง เรียนรู้จากปัญหา ตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ พัฒนาร่วมกัน รวมไปถึงต้องให้ความสำคัญเรื่องใช้เอไอ และจะต้องปลูกฝังจริยธรรมคุณธรรมในการใช้เทคโนโลยีควบคู่กันไป

“การปรับตัวให้อยู่รอดในยุคที่มีความท้าทายมากมายต้องให้เสริมพลังคนรุ่นใหม่ เพราะตอนนี้คือยุคของพวกเขา และต้องสร้างความร่วมมือในแบบ Chick to Click to Collaborate เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  เราไม่จำเป็นต้องแข่งทุกเรื่อง แต่ต้องสร้างร่วมมือกันมากขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน ภาคประชาสังคม  เรื่องของความร่วมมือจึงเป็นประเด็นใหญ่และสำคัญในการตอบโจทย์การขับเคลื่อนความยั่งยืนให้ไปถึงเป้าหมาย ถ้าร่วมมือกันก็หักโค้งได้ทัน ภาครัฐจะต้องเอาจริงเอาจังกับการวางโครงสร้างด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น และต้องมีการวางเป้าหมายความยั่งยืนที่ชัดเจนโปร่งใส มีแอคชั่น แพลน และเปิดเผยข้อมูลนำเสนอต่อสาธารณะ”

บทเรียนวิกฤติสอนไม่ทำเท่ากับเจ๊ง  

“รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี  มองว่า หลังจากวิกฤติโควิด-19 ยังตามมาด้วยปัจจัยเหนือการควบคุมที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะมีวิกฤติซ้อนวิกฤติ แต่ทุกภูมิภาคกำลังขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนายั่งยืน ทั้งในยุโรป มีการปรับเปลี่ยนวิธีการขับเคลื่อนจากออกมาตรการเพื่อมาควบคุมธุรกิจและสินค้า โดยใช้กำแพงภาษีเป็นบทลงโทษ ขณะที่สหรัฐอเมริกา มีการขับเคลื่อนร่างกฎหมาย Inflation Reduction Act  ซึ่งเป็นการลงทุนด้านพลังงานสะอาด ครั้งใหญ่ที่สุถดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ สนับสนุนให้ธุรกิจสีเขียวเติบโตมูลค่าลงทุนระยะยาวถึง 10 ปี  นำไปสู่การขยายจำนวนผู้ประกอบการด้านเศรษฐกิจสีเขียว เช่น ติดตั้งโซลาร์เซล, ธุรกิจขนส่งที่เปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ในไม่ช้าจะเห็นสัดส่วนของกลุ่มพลังงานหมุนเวียนสูงกว่าพลังงานฟอสซิล

“วิกฤติเป็นตัวเร่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่คนยังไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งใกล้ตัวที่จะต้องทำ แต่วันนี้ หากไม่ทำก็เจ๊ง แม้จะในช่วงหนึ่งราคาต้นทุนจะสูง แต่เมื่อถึงยุคหนึ่งจะเริ่มลดลง เช่นเดียวกันกับการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์เป็นสีเขียว ในช่วงเริ่มต้นจะมีการคิดค้น สร้างซัพพลายเชน สิ่งที่ยาก คือ กระบวนการผลิต โดยตั้งเป้าให้เพิ่มขึ้นทุกปี จากเป้าหมาย 25% ในปี 2030 ผ่านมาแล้ว 2 ปี เพิ่มขึ้น 5% ถือว่าเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2% ต่อปี มีการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ ทั้ง เอไอ และเทคโนโลยีดิจิทัล นี่คือประโยชน์ของวิกฤติที่ทำให้เห็นโอกาส สามารถก้าวข้ามความท้าทายแก้ไขปัญหาจนผ่านไปได้ จะทำให้เติบโตอย่างยั่งยืน”

บทเรียนสำคัญจากการการบริหารการเปลี่ยนแปลงในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา พบว่า เรื่องเศรษฐกิจสีเขียวและสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่ต้องทำ เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจตลอดไป ไม่สามารถยกเลิกได้  ไม่มีทางถอยได้ ในที่สุดทุกคนก็ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องและต้องดำเนินการ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ทางเลือก ดังนั้นหากเป็นผู้นำธุรกิจต้องก้าวผ่านอุปสรรคก่อนคนอื่น และให้เวลากับคนในองค์กรและทีมในการปรับตัว พรุ่งนี้ต้องทำได้ดีกว่าวันนี้ มุ่งเน้นในการมีจิตวิญญาณนักสู้ ในทุกการเปลี่ยนผ่านการบริหารธุรกิจ ที่จะต้องมีการตัดสินใจลงทุนใหม่ จะต้องขับเคลื่อนความสมดุลระหว่างการเติบโตทางการเงิน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกัน

สำหรับสิ่งที่ต้องการฝากถึงภาครัฐ คือการภารกิจการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ ทุกฝ่ายต้องมีบทบาท ไม่ใช่เพียงหน้าที่ของเอกชน หรือ ภาครัฐ เป็นเพียงผู้คอยยืนดู เพราะมีบทบาทในการเป็นผู้กำกับวางแผนขับเคลื่อนในระดับนโยบาย มีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดการปฏิบัติ  มองว่า การเปลี่ยนแปลงที่ยากที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงจากภาครัฐ ต้องร่วมมือกันที่เข้ามาร่วมมือทำงานกับเอกชนมากขึ้น ร่วมมือกันทำงานเป็นทีม ต้องสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันอย่างยั่งยืน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password