ยุทธศาสตร์แห่งโอกาส : เสนอเปลี่ยนเป็น ร.ร.สาธิตแห่ง กทม. + สร้างศูนย์เรียนภาษา ตปท. หนุนการท่องเที่ยวไทย

หาก ร.ร.ในสังกัดกทม. จะถูกยกระดับการเรียนการสอนใกล้เคียงความเป็น ร.ร.สาธิตชั้นนำ แผนการสร้างบุคลากรในอนาคตจะแกร่งแค่ไหน? และหากเมืองหลวงไทยที่กลายเป็นจุดหมายปลายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก จะเป็นแหล่งสร้างคนไทยได้สื่อสารในหลายภาษา…การท่องเที่ยวของไทยจะ “ยืน 1” ในโลก ได้ยาวนานสักเพียงใด พบกัน 2 ข้อเสนอแห่งโอกาสดีๆ…

ท่ามกลางวิกฤติ…ย่อมมีโอกาส! ท่ามกลางปัญหา…ย่อมต้องมีทางออก! แต่ทางออกของปัญหา…ก็แปรเปลี่ยนเป็นทางตัน และโอกาสที่มองเห็น…ก็อาจกลับหัวกลายเป็นวิกฤตได้เช่นกัน หากไม่รู้จักการจัดการอย่างมีระบบและแบบแผน…

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา…ผมเพิ่งได้เห็น เด็กนักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครแต่งชุดไพรเวตไปเรียน เข้าใจว่า…ผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร คงเริ่มมีแนวนโยบายผ่อนปรนและสร้างความแปลกใหม่นี้ได้ไม่นานนัก จึงย้อนกลับหาไปข่าวนี้อ่าน…

พบว่า…เรื่องเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมานี้เอง ในข่าวอ้างถึง…หนังสือด่วนที่สุด ที่ คุณวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร และรักษาการแทนปลัดฯ ส่งหนังสือด่วนถึงผู้อำนวยการเขตต่างๆ ในกทม. เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับชุดเครื่องแบบนักเรียนและทรงผมนักเรียน ของโรงเรียนในสังกัด กทม. ทั้ง 437 แห่ง

ตามที่ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ข้อ 15 กำหนดว่า สถานศึกษาใดจะกำหนดให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาขาด นักศึกษาวิชาทหารหรือแด่งชุดพื้นเมือง ชุดไทย ชุดลำลอง ชุดฝึกงาน ชุดกีฬา ชุดนาฎศิลป์ หรือชุดอื่น ๆ แทนเครื่องแบบนักเรียน ตามระเบียบนี้ในวันใด ให้เป็นไปตามที่สถานศึกษากำหนด โดยคำนึงถึงความประหยัดและเหมาะสม นั้น

เพื่อเป็นการลดภาระคำใช้จ่ายของผู้ปกครอง จึงให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครจัดทำข้อกำหนดให้นักเรียนแต่งกายด้วยชุดใดก็ได้ที่ไม่เป็นการบังคับ อย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ โดยให้นักเรียนเป็นผู้มีส่วนร่วมในแต่การกำหนด จากนั้นให้นำไปประชาสัมพันธ์ให้ทราบเป็นการทั่วไปก่อนนำไปประกาศใช้

โดยในกรณีที่มี นักเรียนไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดตังกล่าวได้ ให้เป็นไปตามความประสงค์ของนักเรียนผู้นั้นที่จะสวมชุดนักเรียน ชุดพละ หรือชุดอื่นใดที่โรงเรียนกำหนดให้มีไว้อยู่แล้ว แต่ห้ามไม่ให้มีการดำเนินการในลักษณะที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งให้คำนึงถึงอัตลักษณ์ ความหลากหลาย ความเชื่อทางศาสนา และเพศวิถีของนักเรียน

ต้องขอปรบมือดังๆ ให้กับแนวคิดที่ก้าวหน้าของกรุงเทพมหานคร ในยุคของท่านผู้ว่าฯชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กับนโยบายดีๆ เช่นนี้

ในฐานะที่เป็น คนกรุงเทพฯโดยกำเนิด และเคยได้ศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนของกรุงเทพมหานคร (ชั้น ป.1 – ป.6)  เมื่อกว่า 40 ปีก่อน เลยขอถือโอกาสนี้ นำเสนอ 2 แนวคิดอันอาจเป็นการสร้างโอกาสดีๆ ต่อเนื่องกัน เผื่อว่า…ท่านผู้ว่าฯชัชชาติ คุณวันทนีย์ รักษาการแทนปลัดกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร จะมองเห็นโอกาสและนำไปต่อยอดเพื่อสร้างระบบการศึกษา ทั้งการเรียนและการสอนของกรุงเทพมหานคร เจริญทัดเทียบกับโรงเรียนในมหานครของโลกอื่นๆ

จากข้อมูลพื้นฐาน พบว่า…ในปีการศึกษา 2566 มีโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 437 โรงเรียน และมีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ในระดับชั้น อนุบาล 1-3 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 รวมถึงชั้นมัธยมต้นและปลาย (ม.1-3 และ ม.4-6) ในกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาส กระจายอยู่ใน 50 เขต มากกว่า 2.6 แสนคน

ถือว่า…มีเครือข่ายไม่น้อยทีเดียว! และหากจุดเริ่มต้นในการสร้าง “บุคลากรคุณภาพ” ได้รับการปลูกฝังไปจากระบบการเรียนการสอนตามมาตรฐานที่ดีที่สุด! สามารถต่อยอดองค์ความรู้แขนงต่างๆ อย่างรอบด้าน จากโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 437 แห่ง ลองคิดดูสิครับว่า…อนาคตของบุคลากรคนไทยและประเทศไทย จะก้าวหน้าไปไกลสักเพียงใด?

ลองมาดูที่ ข้อเสนอแรก คือ…ผมอยากเห็น โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 437 แห่ง เปลี่ยนชื่อใหม่ทั้งระบบ เป็น…“โรงเรียนสาธิตแห่งกรุงเทพมหานคร(ตามด้วยหมายเลขเหมือนกับโรงเรียนไทยรัฐวิทยา) และ ปรับเปลี่ยนเครื่องแต่งกายชุดนักเรียน (ยกเว้นวันที่ต้องแต่งชุดไปรเวตไปเรียน) ที่ไม่ต่างจากโรงเรียนสาธิตทั่วไป พร้อมยกระดับการเรียนการสอนที่เน้นให้ “นักเรียนเป็นศูนย์กลาง” และมอบอำนาจและสิทธิขายให้ครูผู้สอน สามารถออกแบบการเรียนการสอนและวิชาที่สอน ให้สอดรับกับพื้นที่และความต้องการของตัวนักเรียนเอง

หากทำได้! ส่วนตัวเชื่อว่า…จะถือเป็นการ ต่อยอดและยกระดับ การศึกษาของกรุงเทพมหานคร “นครหลวงชั้นแนวหน้า” ทั้งของภูมิภาคนี้และของโลก ได้อย่างชนิดพลิกหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว! ส่วนงบประมาณที่จะนำมาใช้ โดยเฉพาะกับ ชุดนักเรียนของน้องๆ นั้น ทางกรุงเทพมหานครมีอยู่แล้ว เพียงแต่นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมเท่านั้น

อีกข้อเสนอ ของผม ก็คือ…ทุกวันนี้ กรุงเทพมหานครได้ชื่อว่าเป็น “เมืองและเมืองหลวงที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาท่องเที่ยวมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก” ที่จริง…มันก็เป็นอย่างนี้มายาวนานหลายปีแล้ว เพียงแต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกซบเซาและเพิ่งจะกลับมาคึกคักในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

หากไม่มีปัญหาเรื่องโรคอุบัติใหม่ร้ายแรงระบาดไปทั่วเหมือนกับโควิด-19 และ/หรือ ประเทศไทยไม่ต้องประสบกับปัญหา “ม็อบเกลื่อนเมือง” รวมถึงการเคลื่อนรถถังออกมารัฐประหาร…ยึดอำนาจ กันอีกแล้ว ผมยังมั่นใจว่า…กรุงเทพมหานครของไทยนี่แหละ ที่จะเป็น “จุดหมายปลายทาง” ในการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และยังคงติดอยู่ในอันดับ 1 ของโลกต่อไปอีกยาวนานหลายปี

แต่ในโอกาสที่กรุงเทพมหานคร ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังว่าในปี 2566 นี้ จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย ไม่น้อยกว่า 25 ล้านคน นำรายได้เข้าสู่ประเทศมากกว่า 2 ล้านล้านบาท

เสียดายที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถสื่อสารโดยตรงกับนักท่องเที่ยวต่างชาติเหล่าได้ ที่สื่อสารได้ก็มีเพียงไม่กี่ภาษาชั้นนำของโลก และมีจำนวนไม่มากที่พูดคุยกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

จะดีกว่าไหม? หาก รัฐบาลชุดใหม่ของไทย และคณะผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร ภายใต้การนำของ ท่านผู้ว่าฯชัชชาติ จะนำพื้นที่บางส่วนของ 437 โรงเรียนในสังกัดฯ รวมถึงโรงเรียนในจังหวัดอื่นๆ ทั้งส่วนที่เป็น ห้องเรียนและพื้นที่สำหรับจอดรถ เพื่อใช้เป็น…แหล่งเรียนรู้ภาษาต่างประเทศให้กับคนกรุงเทพฯและแรงงานต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ รวมถึงคนต่างจังหวัดทั่วประเทศไทย

ใครที่สนใจและสะดวกจะเรียนภาษาต่างประเทศ…ไม่ว่าจะเป็นภาษาหลักที่ทั่วโลกนิยมใช้ เช่น…ภาษาอังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส โปรตุกีส จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อาหรับ ฯลฯ หรือภาษารองๆ กันไป เช่น ภาษาอินเดีย เยอรมัน แอฟริกา กัมพูชา เวียดนาม ฯลฯ ก็สามารถจะเลือกเรียนได้ในวันและเวลาที่สะดวก

สะดวกจะเรียนช่วงเย็นหลังเลิกงานในวันจันทร์-ศุกร์ หรือบางช่วงเวลาในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เลือกได้ตามสบาย มีเงื่อนไขที่ต้องกำหนดให้ชัด คือ เรียนฟรี! แต่ต้องวางเงินสดเป็นหลักประกันระหว่างการเรียน เมื่อเรียนจบ…ก็ส่งเงินคืนกันไป แต่หากเรียนไม่จบ! ก็ต้องยึดเงินค้ำประกันในส่วนนี้ ผมถือว่า…มันแฟร์ดี!!!

จะนำร่องไปในบางเขต บางอำนาจ หรือบางพื้นที่ก็ได้ โครงการมีแนวโน้มความสำเร็จ…ค่อยขยายไปยังเขต อำเภอ และพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

อดคิดไม่ได้ว่า…วันข้างหน้าในอนาคตอันใกล้! เมื่อคนไทยสามารถจะสื่อสารตรงกับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกด้วยภาษาต่างๆ (คนไทย 1 คน สื่อได้ 2-3 ภาษาเป็นอย่างน้อย) แล้ว การท่องเที่ยวของประเทศไทยและของกรุงเทพมหานคร รวมถึงเมืองใหญ่-เล็กอื่นๆ จะเติบโตถึงขีดสุดในจุดใด???

ก็แค่ฝาก 2 เรื่องให้…รัฐบาลชุดใหม่, ท่านว่าที่นายกฯคนที่ 30, ท่านว่าที่ รมว.ศึกษาธิการคนใหม่ รมว.มหาดไทยคนใหม่ รวมถึง ท่านผู้ว่าฯชัชชาติ  คณะผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร จะได้เห็นการสื่อสารข้อความนี้ และนำไปพิจารณาปรับแก้ไขให้เหมาะสมกับแนวนโยบายของพวกท่านเอง

ผมก็แค่นำเสนอในแบบ “โยนก้อนหินถามทาง” เผื่อว่า…จะมีใครพอมองเห็นโอกาสดีๆ เช่นนี้ได้บ้าง ก็เท่านั้น.

สุเมธ จันสุตะ

email : schansuta@gmail.com

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password