ยุทธศาสตร์แห่งโอกาส : ไทยเจริญเดี่ยว = ศูนย์พักรวมปัญหาของ  C L & M

ปัญหาการพัฒนาประเทศที่ล่าช้า! ของเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทย โดยเฉพาะ สปป.ลาว (L) กัมพูชา (C) และ เมียนมา (M) ได้นำมาซึ่งสารพัดปัญหาของไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม! ภารกิจของ NEDA ที่ส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของเพื่อนบ้าน อาจพลิกวิกฤติเป็นโอกาส! ในอนาคตอันใกล้

ผมได้มีโอกาสเดินทางร่วมคณะของ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ NEDA และ กลุ่มสื่อมวลชนจากประเทศไทย ภายใต้การนำของ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานอนุกรรมการ NEDA, คุณพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผอ. NEDA และ พันเอก ดร.ศรัณยู วิริยเวชกุล รอง ผอ. NEDA ในทริป…สื่อมวลชนสัญจร Press Visit เส้นทางหลวงพระบาง-เวียงจันทน์ โครงการก่อสร้างสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) ณ ประเทศ สปป.ลาว ระหว่างวันที่ 3-5 ส.ค.2566 ที่ผ่านมา

ครั้งแรกในรอบ 4 ปีเศษ! ที่ คณะของ NEDA พาสื่อมวลชนไทยเดินทางออกนอกประเทศ นับแต่เกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 ระบาดไปทั่วทุกมุมโลก

คราวก่อน…พวกเราก็เดินทางมายังประเทศ สปป.ลาว เมื่อช่วงปลายเดือน มิ.ย.2562 เพื่อเยี่ยมชม โครงการก่อสร้างถนนตัดใหม่ “เมืองหงสา – บ้านเชียงแมน” สปป.ลาว รวมระยะทาง 114 กม. ที่เพิ่งจะแล้วเสร็จได้ไม่นานนัก (ต่อมา…ทางการ สปป.ลาว เปิดใช้งานจริง เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2562)

เส้นทางถนนตัดใหม่สายนี้ (ณ ขณะนั้น) เริ่มต้นที่…บ้านนาปุง เมืองหงสา แขวงไชยะบุลี สิ้นสุดที่ บ้านเชียงแมน เมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพระบาง สามารถ ร่นระยะทาง (ต้นทาง – ปลายทาง) จากเดิม 6 ชม. เหลือเพียง 3 ชม. เท่านั้น

เส้นทางสายนี้…ยังจะ เชื่อมประสานการคมนาคมระหว่าง “ไทย – ลาว” ได้ชิดใกล้มากยิ่งขึ้น สามารถจะขับรถยนต์จากฝั่งไทย บริเวณ จุดผ่านแดนห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เข้าสู่ บ้านนาปุง เมืองหงสา และ ปลายทางที่บ้านเชียงแมน ฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตรงข้ามนครหลวงพระบาง (อนาคตอันใกล้ NEDA มีแผนจะส่งเสริมการลงทุนสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง จากบ้านเชียงแมน ไปอีกฝั่งของตัวเมืองนครหลวงพระบาง / ดูภาพสถานที่ตั้งประกอบบทความนี้)

สำคัญกว่านั้น…เส้นทางดังกล่าว ยังสามารถเชื่อมโยงการเดินทางจากหลวงพระบาง ต่อไปยังประเทศจีน โดยผ่านไปยังถนนหมายเลข 13 และต่อไปยังกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม โดยใช้ถนนหมายเลข 4 ได้อีก

โครงการที่ว่านี้ NEDA ได้ช่วยให้เกิดการลงทุนด้วยวงเงินงบประมาณ 1,977 ล้านบาท แยกเป็นเงินกู้ 1,581.60 ล้านบาท หรือ 80% ของวงเงินทั้งหมด ปลอดหนี้ 10 ปี ดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี ส่วนอีก 395.40 ล้านบาท เป็นเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า โดยที่ รัฐบาลไทย จะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในส่วนนี้ ภายหลัง

กลับสู่ภาวะปัจจุบัน…ในห้วงที่ เศรษฐกิจโลกและไทยเพิ่งจะฟื้นตัว! โดยเฉพาะ เศรษฐกิจไทย ที่แม้ ภาคการส่งออก ซึ่งถือเป็น 1 ใน 4 เครื่องจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จะยังมีอัตราการเติบโตที่ลดลง ท่ามกลางปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ที่ยังคงล่าช้า และไม่รู้ว่าจะ “ออกหัวออกก้อย” เกิดขึ้นได้เมื่อไหร่? (กระทรวงการคลังของไทยคาดหวังว่า…มากสุดของปัญหาความล่าช้านี้ ไม่ควรเกิน 6 เดือน / กระทบไปถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567)

ทว่า…ยังโชคดีที่ ภาคบริการและการท่องเที่ยวของไทย เริ่มกลับมาฟื้นตัว…ดีขึ้นอย่างมาก พอจะช่วยผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2566 นี้ ได้เติบโตในระดับ 3.5% (ปรับลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ระดับ 3.6% ด้วยเหตุผลจากปัญหาการเมือง)

แต่กับ เศรษฐกิจของ สปป.ลาว เพื่อนบ้านใกล้ชิดไทย ดูไม่ค่อยจะสู้ดีสักเท่าใด? โดยเฉพาะ ค่าเงินกีบของสปป.ลาวที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะเงินเฟ้อ ดำดิ่งติดลบมากสุดเป็นประวัติการณ์ (สูงสุดเคยติดลบมากกว่า 100%)

ด้วยความเป็น…ประเทศที่ใหญ่กว่า มีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงกว่า และมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งกว่า ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนแก่ รัฐบาล สปป.ลาว (รวมถึง…กัมพูชา เมียนมา และประเทศเล็กๆ ในเอเชีย) จึงเป็นสิ่งที่ทางการไทยไม่ควรหลงลืมและละเลย!

ส่วนตัว…ผมยังเชื่อว่า ในดินแดนสุวรรณภูมิ ส่วนเป็นที่เป็นพื้นที่ “บก” อันมี…ไทย มาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยเฉพาะประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยนั้น ไม่ควรปล่อยให้เกิดช่องว่างการพัฒนาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง!!! เช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้…

ด้านใต้ของไทย (มาเลเซีย) ดูไม่น่าเป็นห่วงนัก เพราะมีระดับการพัฒนาที่เจริญใกล้เคียงหรือมากกว่าไทย แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ 3 ประเทศ (เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา) เพราะหากไทยมีระดับการพัฒนามากเท่าใด ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มนี้ ยังคงมีปัญหาในหลายๆ มิติเช่นที่เป็นอยู่…

ที่สุด! บางส่วนในปัญหาของพวกเขา ก็จะถูกถ่ายโอนและส่งต่อมายังไทย โดยเฉพาะ ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่วันนี้…ทางการไทยต้องแบกรับปัญหาทั้งทางตรงและทางอ้อมจาก “แรงงานผิดกฎหมาย” ที่มีรวมกันไม่น้อยกว่า 2 ล้านคนในไทย

เรื่องการชดเชยแรงงานที่ขาดแคลนในไทย…ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย กระนั้น ก็ยังมีบางส่วนของ คนต่างด้าวกลุ่มนี้…แอบแย่ง “อาชีพสงวน” ของคนไทย กระทั่ง หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ต้องคอยกวดขันและจับกุมจนเป็นข่าวให้ได้เห็นกันเรื่อยมา

หลายปัญหาแฝงที่เกิดขึ้น! ไม่ว่าจะเป็นการ “แพร่ลูกออกหลาน” ในไทย ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง ทั้งที่เป็น “โรคอุบัติใหม่และเก่า” รวมถึงปัญหาด้านอื่นๆ โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณเพื่อการสาธารณสุขและการศึกษาของลูกหลานแรงงานต่างด้าวในไทย ฯลฯ

เหล่านี้…ล้วนเป็นปัญหาใหญ่ของไทย ที่ภาครัฐทุกส่วน…จำเป็นจะต้องเร่งบูรณาการเพื่อเยียวยาและแก้ไขโดยเร็ว

ภารกิจของ NEDA ทางตรง คือ ช่วยให้การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อนบ้านเกิดได้เร็วขึ้น ทางอ้อม…เมื่อประเทศเพื่อนบ้านมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี โอกาสการพัฒนาประเทศและระบบเศรษฐกิจที่ดี ก็จะมีตามมา ที่สุด…สิ่งนี้ อาจช่วยให้ปัญหาทางตรงและทางอ้อม (แฝง) ที่ไทยกำลังประสบอยู่ในวันนี้ เริ่มคลี่คลายลงได้บ้าง

ศ.พิเศษ ธงทอง ยังคงยืนยันถึงจุดยืนที่ชัดเจนของ NEDA นั่นคือ การส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือให้เกิดการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของ 3 ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทย “เมียนมา – สปป.ลาว – กัมพูชา”

เช่นกัน “คุณโป้ง” พีรเมศร์ ก็มองเห็นโอกาสการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อนบ้าน ท่ามกลางปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในไทย ด้วยเหตุผลเดียวกับที่ผมเขียนถึงในตอนต้น  

NEDA จึงมุ่งเน้นภารกิจ…ส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของ 3 ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างเข้มแข็ง

ข้อมูลสำคัญล่าสุด ณ ปัจจุบัน ที่ NEDA จัดทำให้แก่คณะสื่อมวลชน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ สปป.ลาว คือ การที่ NEDA ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ สปป.ลาว รวม 33 โครงการ มูลค่ากว่า 1.55 หมื่นล้านบาท แยกเป็น…การให้ความช่วยเหลือทางการเงิน 21 โครงการ มูลค่า 1.53 หมื่นล้านบาทเศษ และให้ความช่วยเหลือทางวิชาการอีก 12 โครงการ มูลค่า 189 ล้านบาท

ที่ผ่านมา จนท.ของ สปป.ลาว ได้เข้ารับการฝึกอบรมในสายงานและหลักสูตรที่อบรมที่เกี่ยวข้องต่างๆ รวม 206 คน  

และไม่เพียง 3 ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทย หากยังมีประเทศอื่นๆ ทั้งที่อยู่ร่วมในภูมิภาคอาเซียนและนอกอาเซียนอีก (ดูภาพ/ข้อมูลประกอบ)

ครั้งหน้า…ผมจะมาสรุปประเด็นสำคัญของทริป…สื่อมวลชนสัญจร Press Visit เส้นทางหลวงพระบาง-เวียงจันทน์ โครงการก่อสร้างสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) รวมถึง การเดินทางไปศึกษาดูงานในโครงการท่าบกท่านาแล้งและเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ ณ ประเทศ สปป.ลาว ที่ NEDA จัดทำขึ้นมาในปีนี้

จาก…หลวงพระบาง นั่งรถไฟความเร็วสูง (ปานกลาง) จีน – ลาว มายังนครหลวงเวียงจันทน์ ใช้เวลาราว 2 ชม. มีอะไรให้ต้องพูดถึงมากมาย

แล้วพบกันครับ!.

สุเมธ จันสุตะ

email : schansuta@gmail.com

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password