“กรุงไทย” แนะ ผู้ประกอบการ เร่งปรับตัว รองรับนักท่องเที่ยว กลุ่ม “Digital Nomad”

นักวิเคราะห์ จาก ธ.กรุงไทย แนะ ผู้ประกอบการ เร่งปรับตัว เพื่อรองรับ นักท่องเที่ยว กลุ่ม Digital Nomad หลัง พบว่า มีอัตราเติบโตอย่างรวดเร็ว สามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยจากค่าเฉลี่ยทั่วโลก สร้างรายได้ถึง 787 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณปีละ 26.8 ล้านล้านบาท

นักวิเคราะห์จาก Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทย หลัง การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad เติบโตอย่างรวดเร็วจาก 15.2 ล้านคน ในปี 2562 เป็น 35 ล้านคนในปี 2565 หรือ เติบโตกว่า 130% และ มีโอกาสแตะระดับ 60 ล้านคน ในปี 2573

จุดเด่นของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ คือ มีระยะเวลาพำนักเฉลี่ยสูง 6 เดือน ไม่ได้มีฤดูกาลท่องเที่ยวที่ชัดเจนแบบนักท่องเที่ยวกลุ่ม Mass และทางมาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ส่งผลให้มีการใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป 56% ดังนั้น ธุรกิจ ที่ได้รับประโยชน์จ โดยตรง ได้แก่ ธุรกิจที่พัก และ ร้านอาหาร , เช่ารถ, กรุ๊ปทัวร์ และ ธุรกิจโทรคมนาคม และ ยังส่งผลดี ต่อธุรกิจต่อเนื่อง อาทิ ค้าปลีก สถานบันเทิง การแพทย์

อย่างไรก็ตาม แม้การท่องเที่ยวจะทยอยฟื้นตัว แต่กลุ่มหลักยังเป็น ระยะใกล้ เช่น มาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ และ อินเดีย ซึ่งจะพำนักไม่นาน และ ค่าใช้จ่ายต่อทริปต่ำ โดยไตรมาสแรกปี 2566 เฉลี่ย อยู่ที่ 44,585 บาท ต่ำกว่าปี 2562 ที่ 49,947 โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นจาก 0.4 ล้านคน ในปี 2564 ขึ้นมาอยู่ที่ 11.2 ล้านคน ในปี 2565 และเติบโตต่อเนื่องมา ถึงไตรมาสแรกของปี 2566 ที่เดินทางมายังไทยแล้วกว่า 6.5 ล้านคน อย่างไรก็ดี ในช่วงปี 2566-2567 ภาพรวมยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด ปี 2562 ที่ไทยเคยทำสถิติสูงสุดถึง 39.9 ล้านคน ซึ่งปัจจัยนี้ เป็นเหตุผลสำคัญทำให้ภาพรวมรายได้จากนักท่องเที่ยวยังไม่เข้าเป้าหมายที่ภาครัฐตั้งไว้

ดังนั้น นักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad จึงมีความสำคัญ ที่เราจำเป็นต้องทำความรู้จักอย่างละเอียด โดย ปัจจุบัน Digital Nomad ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. Freelance คือ ผู้ที่ทำงานอิสระไม่ขึ้นตรงต่อหน่วยงานใด และรับงานเป็นรายครั้ง 2. Remote Worker คือ ผู้ที่เป็นพนักงานประจำในบริษัทฯ ที่ทำงานนอกสำนักงานโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย และ 3.Entrepreneurs คือ กลุ่มผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการ

ส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกัน โดยมีสัดส่วนสูงถึง 48% รองลงมาได้แก่ อังกฤษ 7% รัสเซีย 5% แคนาดา 4% และเยอรมัน 4% พบว่า กว่า 83% ประกอบอาชีพอิสระ งานด้านคอมพิวเตอร์ ไอที นักการตลาด งานออกแบบ นักเขียน และ งานด้าน E-Commerce โดยสถานที่ท่องเที่ยว ที่ต้องการ เป็น ธรรมชาติ ความเงียบสงบ ค่าใช้จ่าย จะมีงบฯ เฉลี่ย 1,875 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเดือน หรือ ราว 62,000 บาท โดยมีระยะเวลาพำนักเฉลี่ย 6 เดือน ก่อนจะย้ายเมือง หรือ ประเทศ ต่อไป ที่สำคัญค่าครองชีพและอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นปัจจัยสำคัญมากที่สุด ไทยเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่ได้รับความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นด้านแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุม โดยมีสถานที่ 3 แห่ง ติดอันดับ ท็อปเท็น 1. เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี 2. กทม. 3. จ.เชียงใหม่

ด้านผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad ต้องมีบริการ Hi Speed Internet 24 ชม. ที่เสถียร และ ปลอดภัยจากการโจมตีทางไซเบอร์ เนื่องจากเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจ ทั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐานและความเร็วของระบบอินเทอร์เน็ตถือเป็นจุดขายสำคัญของประเทศไทย โดยรายงานล่าสุดเมื่อ พ.ย. 2565 ของ Ookla, LLC ระบุว่า Fixed Internet หรือ อินเทอร์เน็ตบ้านของไทยทำความเร็วสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก มีความเร็วดาวน์โหลดเฉลี่ย 205.63 Mbps เป็นรองจากชิลี 216.46 Mbps จีน 214.58 Mbps และ สิงคโปร์ 214.23 Mbps

นอกจากนี้ต้องมี Co-Living Space ที่เอื้อต่อการทำงาน ทั้งแบบส่วนตัวและแบบกลุ่ม โดยจากงานวิจัยที่จัดทำโดย บจ. รีเสิร์ช อินเทลลิเจนซ์ และ ททท. ซึ่งได้ทำการสำรวจนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad ที่เข้ามาท่องเที่ยวใน 6 จังหวัดสำคัญของไทย ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต พบว่า Co-Living Space ค่อนข้างสำคัญและมีศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad เนื่องจากสามารถอำนวยความสะดวกในการทำงาน โดยเฉพาะในเวลากลางคืน

โดยหัวใจหลักของ Co-Living Space คือ การออกแบบพื้นที่ให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้พักอาศัย สร้างความรู้สึกเสมือนบ้านหลังที่สอง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอาจขยายระยะเวลาการให้บริการ Co-working Space เป็น 24 ชม. เนื่องจากบางครั้ง Digital Nomad ต้องประชุมกับผู้ร่วมงานในประเทศอื่นๆ ที่มีความแตกต่างกันเรื่องเวลา สุดท้ายคือ ส่งเสริมให้มี Community เพราะกลุ่ม Digital Nomad มักจะเกิดความเหงา เมื่อต้องใช้ชีวิตเพียงลำพัง ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจมีการจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้กลุ่ม Digital Nomad ได้เข้าสังคมมากขึ้น อาทิ การจัดปาร์ตี้ในพื้นที่ Co-working Space การจัดแสดงดนตรีสด หรือการเปิดพื้นที่ให้สมาชิกได้แสดงความสามารถพิเศษ ซึ่งการนำสมาชิกมารวมตัวกันในสภาพแวดล้อมที่ไม่กดดัน จะช่วยส่งเสริมให้การสนทนาเป็นไปอย่างราบรื่น และทำให้เกิดความรู้สึกของความเป็นชุมชน

ปัจจุบันมีประเทศที่ออกวีซ่าให้ Digital Nomad แล้วกว่า 44 ประเทศ และยังมีอีก 10 ประเทศที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยกลุ่ม Digital Nomad ทั่วโลกสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 787 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณปีละ 26.8 ล้านล้านบาท

ดังนั้นผู้ประกอบการของไทย จึงควรเร่งปรับตัว เพื่อรองรับต่อนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ขณะที่ภาครัฐควรมีมาตรการที่สอดคล้องมากขึ้น เช่น การปรับเงื่อนไขในการขอ LTR Visa ซึ่งจะทำให้ไทยมีความสามารถในการดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad ได้มากขึ้น !!

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password