ศุลกากรไทยเร่งหาข้อสรุปวงถกอาเซียน #32 ชงต่อเวทีประชุมระดับผู้นำเร็วก่อนกำหนดเดิม

กรมศุลกากรไทย รับบทเจ้าภาพจัดประชุมอธิบดีศุลกากรอาเซียน ครั้งที่ 32 (32nd Meeting of the ASEAN Directors-General of Customs) กลางเมืองพัทยา โดยมีตัวแทนเอกชนจากชาติคู่เจรจา ทั้งจากอียู สหรัฐฯ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ร่วมถกด้วย ด้าน “พชร อนันตศิลป์” มั่นใจ เร่งรัดข้อสรุปเพื่อส่งต่อการประชุมระดับผู้นำอาเซียนได้เร็วกว่ากำหนดการเดิมในปี 2024 พร้อมดึงศุลกากรมาเลย์ร่วมทำข้อตกลงเป็นชาติสุดท้ายของอาเซียน

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 6 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมเคปดารา รีสอร์ท พัทยา จังหวัดชลบุรี, นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมอธิบดีศุลกากรอาเซียน ครั้งที่ 32 (32nd Meeting of the ASEAN Directors-General of Customs) โดยจะประชุมจนถึงวันที่ 8 มิถุนายน ในรูปแบบผสม (Hybrid Meeting) ประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และเลขาธิการอาเซียน รวมถึงตัวแทนกลุ่มประเทศพันธมิตร เช่น อียู สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย เข้าร่วมสังเกตการณ์และร่วมหารือในครั้งนี้

นายพชร กล่าวว่า การประชุมอธิบดีศุลกากรอาเซียนในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาศุลกากรอาเซียนของคณะทำงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของอธิบดีศุลกากรอาเซียน จำนวน 5 คณะทำงาน ได้แก่ คณะกรรมการประสานงานด้านศุลกากรอาเซียน (ASEAN Coordination Committee on Customs: CCC) คณะทำงานด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าและพิธีการศุลกากร (Customs Procedures and Trade Facilitation Working Group: CPTFWG) คณะทำงานด้านการป้องกันและปราบปรามทางศุลกากร (Customs Enforcement and Compliance Working Group: CECWG) คณะทำงานด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถทางศุลกากร(Customs Capacity Building Working Group: CCBWG) และ คณะทำงานด้านการพัฒนาระบบ ASEAN Single Window (ASEAN Single Window Steering Committee: ASWSC)

“การประชุมอธิบดีศุลกากรอาเซียน ครั้งที่ 32 นี้ ถือเป็นการเร่งรัดและติดตามการดำเนินงานตามที่ได้ตกลงและหารือกันไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งตามกำหนดการนั้น จะต้องแล้วเสร็จเพื่อส่งต่อในการประชุมระดับที่สูงกว่า โดยเฉพาะระดับรัฐมนตรีคลังอาเซียน และผู้นำอาเซียน ภายในปี 2024 ซึ่งข้อสรุปที่จะได้ในช่วงการประชุมในระดับพหุภาคี ระหว่างวันที่ 6-8 มิถุนายนนี้ แม้จะขับเคลื่อนได้ไม่เร็วเหมือนระดับทวิภาคี แต่ก็ถือว่าเร็วกว่ากำหนดการเดิม และจะส่งผลดีตามมาคือ ทำให้การทำงานและประสานงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่ศุลกากรในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และคล่องตัวมากขึ้น รวมถึงยังช่วยลดปัญหาและอุปสรรคที่อาจจะมีตามมาได้มากขึ้นเช่นกัน” อธิบดีกรมศุลกากร ระบุและย้ำว่า ในส่วนการหารือระดับทวิภาคีนั้น กรมศุลกากรไทยได้ทำข้อตกลง (MOU) กับศุลกากรอาเซียนแล้ว 9 ประเทศ เหลือแค่มาเลเซีย ที่คาดว่าจะทำข้อตกลงร่วมกันได้ในเวทีนี้

นอกจากนี้ การประชุมเวทีนี้ยังได้มีการหารือร่วมกันระหว่างศุลกากรอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และองค์การศุลกากรโลก เพื่อแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติและประสบการณ์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศุลกากร รวมถึง การหารือร่วมกับตัวแทนจากภาคเอกชน ได้แก่ EU-ASEAN Business Council และ US-ASEAN Business Council เพื่อรับทราบประเด็นต่าง ๆ และข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน โดยจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้า รวมทั้งเสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค อีกด้วย.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password