นักวิชาการจี้รัฐ! แก้ปมรถดีเซล ต้นตอก่อมลพิษ ‘ฝุ่น PM 2.5’ ฉุดคุณภาพชีวิตไทย
นักวิชาการวิศวกรรมเคมี สจล. เตือนคนไทย ชีวิตระทมจากภัยฝุ่น PM 2.5 หนักมาก ชี้! เหตุใหญ่ 80% มาจากเครื่องยนต์ดีเซล แฉ! พ่อค้าหัวใส ยื่นเงินแลก “ท่อแคทดักฝุ่น” หวังแยกแร่ Platinum แพลทตินั่ม ที่ติดมากับรถยนต์ แนะภาครัฐก๊อปปี้มาตรการยุโรปแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด่วน!
ผศ. ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์ นักวิชาการภาควิชาวิศวกรรมเคมี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทยที่นับเป็นปัญหาร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างมาก โดยอ้างอิงผลการศึกษาของกรมควบคุมมลพิษ ถึงปัญหาดังกล่าวในเขตกรุงเทพและปริมณฑล พบว่า ส่วนใหญ่ของ PM 2.5 มาจากรถยนต์ยนต์ดีเซลที่วิ่งบนท้องถนนมากถึง 80% อย่างไรก็ตาม ตนยอมรับว่าหากจะให้เลิกใช้รถยนต์ดีเซลในปัจจุบันก็คงเป็นไปไม่ได้
ดังนั้น จึงขอเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งกวดขันการตรวจสภาพรถยนต์ดีเซลอย่างเป็นประจำ โดยต้องมีอุปกรณ์ช่วยลดปริมาณ PM 2.5 นั่นก็คือ Catalytic converter (ท่อแคทดักฝุ่น) ซึ่งติดตั้งมากับรถยนต์ดีเซล แต่ทว่าระบบนี้ก็มีราคาแพง เนื่องจากทำมาจากวัสดุ Platinum จึงทำให้มีพ่อค้าหัวใสออกรับซื้อท่อแคท โดยที่ผู้ใช้รถยนต์ดีเซลจำนวนมากก็ยินดีตัดท่อแคทออกไป เพราะมีความเชื่อไม่ถูกต้องที่ว่า “การตัดท่อแคทจะทำให้รถแรงขึ้น” และยังได้เงินแถมมาด้วย สิ่งเหล่านี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งของต้นต่อหรือสาเหตุของการเกิดฝุ่น PM 2.5 จำนวนมากในปัจจุบัน
ผศ. ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ตนอยากแสดงความเห็นในเรื่องปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยขอให้ภาครัฐไทยควรมีมาตรการจริงจังและเด็ดขาดเหมือนกับสหภาพยุโรปเนื่องจากมีกฎหมายดูแลสภาพอากาศเข้มงวด โดยกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ชัดเจนว่า รถยนต์เครื่องยนต์น้ำมันดีเซลจากค่ายยุโรปทุกคันจะต้องมีระบบการดูแลไอเสียจากรถยนต์ที่มีมาตรฐานสูง ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า ทุกครั้งที่รถยนต์จากค่ายยุโรปจะเติมน้ำมันดีเซล ก็ต้องเติมน้ำยาบางอย่างลงไประหว่างการเช็คระยะ เพื่อเพิ่มความสะอาดให้กับไอเสียที่ออกมา ซึ่งน้ำยาดังกล่าวจะทำงานร่วมกับ Selective Catalytic Reduction เพื่อช่วยลดปริมาณ NOx ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิด PM 2.5 จากปฏิกิริยาลูกโซ่เกิดจาก NOx ลงได้
“ในยุโรปมีมาตรการอย่างจริงจังกับรถยนต์ดีเซล ถึงขนาดถ้าไม่เติมน้ำยาดังกล่าวก็จะทำให้รถยนต์ไม่สามารถขับได้ตามปกติ ขณะที่เมืองไทย กลับหาแนวทางที่ไม่ต้องการจะเติมน้ำยาที่ว่านี้ โดยปรับปรุงระบบรถกันเองให้สามารถ start ได้ตามปกติ โดยไม่เติมน้ำยาเพิ่มเติม นับเป็นความพยายามที่จะทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะสุดท้าย กลับสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม จากสภาพปัญหาอากาศมีฝุ่น PM 2.5 ในอากาศเป็นปริมาณมาก ส่วนตัว ผมเห็นว่าภาครัฐควรออกมาตรการทางด้านอากาศอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว” นักวิชาการภาควิชาวิศวกรรมเคมี สจล. ระบุ พร้อมกับเสนอให้เริ่มต้นจากการกวดขันให้รถยนต์ติดตั้งท่อแคทเดิมให้อยู่ในสภาพดีพร้อมทำงาน
จนถึง ออกมาตรการบังคับการติดตั้งระบบ Selective Catalytic Reduction ที่สมบูรณ์แบบมากขึ้นในรถยนต์ดีเซล แบบเดียวกับในสหภาพยุโรปอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในอนาคต เพื่อลดการเกิด PM 2.5 ลง ไม่เช่นนั้น คนไทยทุกคนคงต้องใช้ชีวิตในสายหมอกของฝุ่นควันกันยาวนาน และไม่มีท่าทีจะดีขึ้น ทั้งนี้ โดยปกติแล้วฝุ่นควันจะลดลงเมื่อเข้าสู่หน้าร้อน แต่อย่างที่ทุกคนรับทราบ ปีนี้ไม่มีท่าทีที่ฝุ่นจะลดลงแต่อย่างใด ดังนั้น ทุกคนจึงควรช่วยกันคนละไม้คนละมือรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อตัวเราและลูกหลานของเราในอนาคต.