ครม.ผ่าน 5 มาตรการภาษี หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ – ดึงทุนต่างชาติร่วมพัฒนาประเทศ

ครม.ลุงตู่ “ทิ้งทวน” ไฟเขียวผ่าน 5 มาตรการภาษี “ขยายเวลามาตรการภาษีรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ – ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเงินให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม – หนุนการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 2 เท่า สำหรับการบริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬา ผ่านระบบ e-Donation – ขยายระยะเวลาสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษ – ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีจากโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน” เช็ครายละเอียดได้เลย…

สุดๆ ก่อนยุบสภาฯ คืนอำนาจให้ประชาชน! ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2566 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไฟเขียวอนุมัติสารพัดมาตรการภาษี ตามที่กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ชงเรื่องให้พิจารณา โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า การที่ ครม. ได้อนุมัติการขยายระยะเวลามาตรการภาษีหลายตัวจะก่อประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจไทย ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และมีร่วมในการพัฒนาประเทศ

โดยเฉพาะ “มาตรการในการสนับสนุนการบริจาคเงินให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมออกไปอีก 3 ปี” เพื่อผลักดันการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการอนุมัติ “มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการกีฬา” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกีฬาของประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬา การบริการด้านกีฬา และกิจกรรมกีฬาของประเทศ โดยผู้บริจาค เพื่อสนับสนุนการกีฬาผ่านระบบ e-Donation ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนหรือหักรายจ่ายได้ 2 เท่า

ขณะที่ นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวไล่เรียงถึงมาตรการภาษีที่ผ่านความเห็นชอบและอนุมัติจาก ครม. ว่า ครม.ได้อนุมัติหลักการขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package) ออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31ธันวาคม 2565 เพื่อช่วยส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาการประกอบกิจการของเอกชนในประเทศไทย

“กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร ตระหนักถึงความสำคัญของการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติเข้าสู่ประเทศ รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศและการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง เพื่อให้นโยบายดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎหมายขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package) โดยตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….จำนวน 3 ฉบับ ซึ่งกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ได้ ดังต่อไปนี้ 1. รายจ่ายสำหรับการลงทุนในระบบอัตโนมัติหักได้ 2 เท่า, 2. รายจ่ายสำหรับการจ้างงานบุคลากรผู้มีทักษะสูงหักได้ 1.5 เท่า และ 3. รายจ่ายสำหรับการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูงหักได้ 2.5 เท่า” อธิบดีกรมสรรพากร ย้ำและว่า  

การขยายระยะเวลามาตรการภาษีในครั้งนี้  เป็นการดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อช่วยสร้างแรงจูงใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติในการย้ายฐานการผลิตเข้าสู่ประเทศไทย ทั้งในด้านการเพิ่มผลิตภาพของอุตสาหกรรมด้วยระบบอัตโนมัติ การจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูงเพื่อช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีทักษะสูงขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณบุคลากรที่มีคุณภาพและช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ต่อเนื่องกันไป ครม.ยังได้อนุมัติการขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเงินให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมออกไปอีก 3 ปี เพื่อผลักดันการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร ตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศ จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ขยายระยะเวลามาตรการภาษี เพื่อสนับสนุนการบริจาคเงินให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมออกไปอีก 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 (เดิมสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2565) สำหรับการบริจาคเงินผ่านระบบ e-Donation ให้แก่ 1) กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา 2) กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข 3) กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ 4) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

บุคคลธรรมดา ให้สามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา 47 (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาค แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร

“การขยายระยะเวลามาตรการดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการร่วมกันพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ทั้งยังช่วยให้การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมและการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้รับเงินทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถยกระดับขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวต่อไป” อธิบดีกรมสรรพากร ย้ำ

ครม.ยังได้อนุมัติให้กรมสรรพากรสนับสนุนการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 2 เท่า สำหรับการบริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬา ผ่านระบบ e-Donation ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากรตระหนักถึงความสำคัญในการสนับสนุนให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนมีส่วนร่วมสนับสนุนการกีฬาของประเทศ จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ให้ผู้บริจาคให้แก่หน่วยรับบริจาคดังต่อไปนี้ ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้แก่ 1.การกีฬาแห่งประเทศไทย, 2.คณะกรรมการกีฬาจังหวัด, 3.สมาคมกีฬาแห่งจังหวัด, 4.สมาคมกีฬาที่ใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” หรือ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย และ 5.กรมพลศึกษา  

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการกีฬาจะช่วยให้องค์กรกีฬาระดับจังหวัดและระดับประเทศสามารถพัฒนาศักยภาพนักกีฬาและบุคลากรด้านกีฬาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกีฬาของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้อุตสาหกรรมกีฬาและบริการด้านกีฬาในประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้ง ครม.ยังได้อนุมัติขยายระยะเวลาสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน
นิติบุคคลที่มีการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2565 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2568 เป็นเวลา 4 ปี เพื่อเป็นการจูงใจให้
ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการจ้างงาน ผู้พ้นโทษให้มีอาชีพ มีรายได้ และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี

อธิบดีกรมสรรพากร ขยายความว่า กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการสร้างโอกาสให้ผู้พ้นโทษสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างมั่นคง จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จำนวน 1 ฉบับ โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษได้ 1.5 เท่า เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2565 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2568

“มาตรการดังกล่าวนอกจากจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการแล้ว ยังช่วยให้ผู้พ้นโทษมีอาชีพ มีรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และไม่กลับไปกระทำความผิดซ้ำ จึงเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาสังคมของประเทศให้ดีขึ้น” นายลวรณ ระบุ

นอกจากนี้ ครม.ยังได้อนุมัติขยายระยะเวลาสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลที่มีการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2565 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2568 เป็นเวลา 4 ปี เพื่อเป็นการจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการจ้างงาน ผู้พ้นโทษให้มีอาชีพ มีรายได้ และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการสร้างโอกาสให้ผู้พ้นโทษสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างมั่นคง จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จำนวน 1 ฉบับ โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษได้ 1.5 เท่า เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2565 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2568

“มาตรการดังกล่าวนอกจากจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการแล้ว ยังช่วยให้ผู้พ้นโทษมีอาชีพ มีรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และไม่กลับไปกระทำความผิดซ้ำ จึงเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาสังคมของประเทศให้ดีขึ้น” อธิบดีกรมสรรพากร ย้ำ

สุดท้าย ครม.ได้อนุมัติหลักการการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีจากโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยมีทางเลือกในการระดมทุนเพิ่มขึ้นจากเดิม อันจะส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ โดย อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเสริมว่า กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรตระหนักถึงความสำคัญของโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำหรับการระดมทุนของผู้ประกอบธุรกิจในประเทศ จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การปรับปรุงการจัดเก็บภาษีจากโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ต่อคณะรัฐมนตรี โดยยกเว้นภาษีที่เกี่ยวข้องกับ Investment Tokenดังต่อไปนี้

1. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ผู้ออก Investment Token สำหรับการเสนอขาย Investment Token ต่อประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป

2. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือ Investment Token สำหรับการขาย Investment Token ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป ไม่ว่ากระทำในหรือนอกศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“การปรับปรุงการจัดเก็บภาษีจาก Investment Token จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยมีทางเลือกในการระดมทุนด้วย Investment Token เพิ่มเติมจากการระดมทุนด้วยเครื่องมือดั้งเดิม อันจะส่งผลดีต่อการระดมทุน การลงทุน และการจ้างงานในประเทศ รวมทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ รวมถึงช่วยให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านการเป็นศูนย์กลางการระดมทุนเพิ่มขึ้น อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ทุกมาตรการภาษีที่ ครม.เห็นชอบและอนุมัติมาก่อนหน้านี้ หากผู้เกี่ยวข้องและเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เกิดข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password