เซ็ทซีโร่! กรมอุทยานฯ ชู ‘คนเก่ง-ดี’ ทำงาน หันใช้ e-Ticket สร้างสำนึกนักเที่ยว

“อรรถพล เจริญชันษา” ถือโอกาส “เซ็ทซีโร่” กรมอุทยานแห่งชาติ สั่ง “ยุบ – ปรับลด – ควบรวม” บางหน่วยงานที่เกินจำเป็น เน้นโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีประสิทธิภาพ ยึดหลักหนุน “คนเก่ง – คนดี” ทำงาน เผย! มี 52 “จม.ลับ” ส่งถึงมือ แก้ปมความไม่ธรรมไปแล้วเกือบครึ่ง ที่เหลือจะแล้วเสร็จอีกหนึ่งเดือน ระบุ! ต้องไม่มี “หลายนาย” หวั่นคนทำงานสับสบ ประเทศเทงบฯทำงานเต็มที่ แลกกับประสิทธิภาพ ลั่น! พร้อมนำ ระบบ e-Ticket มาใช้ 70-80% เข้มชมอุทยานแห่งชาติฯ หวังสร้าง Big DATA รองรับการวางแผนบริหารจำนวนนักท่องเที่ยวยุคใหม่ เน้น “สำนึกรับผิดชอบสิ่งแวดล้อม”

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยภายหลังจากที่ได้เข้ารับตำแหน่ง อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ (นับแต่วันที่เข้ารับตำแหน่งรักษาราชการแทนฯ)เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา ว่า ตลอดระยะเวลาการทำงานในตำแหน่งดังกล่าวเกือบ 30 วัน ตนได้รับ “หนังสือลับ” จากข้าราชการในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติฯทั่วประเทศรวม 52 ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำงานฯ โดยจำนวนนี้ ได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้ว 25 เรื่อง ที่เหลือ จะเร่งดำเนินการ โดยขณะนี้ ตนได้ทยอยออกคำสั่งเพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในจำนวน “หนังสือลับ” ทั้ง 52 ฉบับนั้น ตนไม่ได้เชื่อทั้งหมด และได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูล หาข้อเท็จจริงและความถูกต้อง โดยสอบถามไปยังหน่วยงานต้นสังกัด และสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงขอรับฟังความเห็นจากผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ นอกจากนี้ ยังจัดส่งสายสืบ “พญาเสือ” ลงพื้นที่ทำงานคู่ขนานกันไปด้วย ทั้งนี้ เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้องและรอบคอบสำหรับการปรับเปลี่ยนโยกย้ายการทำงานอย่างเหมาะสม

“โชคดีที่สถานการณ์ตอนนี้ ไม่ต่างจากการ “เซ็ทซีโร่ – องค์กร” ทำให้เราสามารถดำเนินการวางแผนงานในเชิงนโยบายที่เน้นความโปร่งใส ชัดเจน นำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง สกัดกั้นวงจรที่ไม่ถูกต้องออกไป โดยทำไปพร้อมกับการปรับโครงสร้างขององค์กรอย่างเหมาะสม ซึ่งขณะนี้ ผมได้ทยอยออกหนังสือฯเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานของหน่วยงานในสังกัด ไม่ว่าจะเป็นการ “ยุบ – ปรับลด – ควบรวม” อย่างเหมาะสม เพื่อแก้ปัญหาที่บางหน่วยงานทำงานซ้ำซ้อนและไม่มีความจำเป็นเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งก็มีจำนวนหนึ่ง แต่ไม่เยอะมากนัก โดยยึดหลักการที่ว่า…ต้องดึงเอา “คนดีและเก่ง” มีคุณสมบัติที่เหมาะสม คือ มีคุณธรรมและจริยธรรมที่ดี มาทำงาน ภายใต้กติกาง่ายๆ คือ คนที่จะมาอยู่ในตำแหน่งนั้นๆ จะต้อง “ทำแต่ดี ไม่ดีอย่าทำ” ซึ่งทำให้ทุกคนแข่งขันในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าทุกอย่างจะแล้วเสร็จภายในอีก 1 เดือนข้างหน้าอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ย้ำและว่า…

ควบคู่กันไปนั้น ตนยังได้มอบงบประมาณการดำเนินงานให้อย่างเต็มที่ เพื่อให้งานที่ทำออกมาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด ที่สำคัญคนทำงานจะต้องมีกลไกการทำงานร่วมกัน โดยจะไม่มี “นาย” หลายคน และให้ทุกคนทำงานภายใต้หลักการ Sigle Command กล่าวคือ ในระดับพื้นที่จะมี “นาย” เพียงคนเดียว โดยทุกคนจะต้องทำงานภายใต้แผนงานและเป้าหมายใหญ่ ของกรมฯ สำหรับ คนที่ทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นตามแผนงานและเป้าหมาย ก็จะต้องปรับออก เพื่อให้ไปรับผิดชอบงานด้านอื่น ซึ่งการตัดสินใจในเชิงนโยบาย ก็จะมี คณะกรรมการระดับพื้นที่คอยพิจารณา  และมีคณะกรรมการจากส่วนกลาง โดยดึงคนระดับรองอธิบดีฯ มาช่วยตรวจสอบดูแลอีกชั้นหนึ่ง

อีกเรื่องที่ กรมอุทธยานแห่งชาติฯในยุคนี้จะต้องเร่งดำเนินการ ก็คือ การปรับระบบการชำระเงินค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานแห่งชาติต่างๆ โดยจะเปลี่ยนจากการใช้ตั๋วกระดาษไปเป็น e-Ticket หรือตั๋วระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ที่สำคัญยังสามารถสร้างข้อมูลของผู้เข้าชมอุทยานแห่งชาติฯ ในแต่ละแห่งว่า มีจำนวนเท่าใด เป็นใคร มาจากไหน อายุ เพศ การศึกษา รายได้ ฯลฯ รวมถึงพฤติกรรมและอำนาจการซื้อเป็นอย่างไร ทั้งนี้ เพื่อการวางแผนกำหนดจำนวนของผู้เข้าชมอุทยานแห่งชาติฯ ในบางแห่ง ที่จำเป็นจะต้องจำกัด หรือต้องปิดในบางฤดู เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้นๆ โดยเฉพาะ แนวปะการัง ที่พบว่าได้รับความเสียหายจากการปล่อยให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากเกินไป ทั้งนี้ อาจต้องใช้เวลานานพอสมควรกับการจะเปลี่ยนไปใช้ระบบ e-Ticket และการเปลี่ยนก็ทำได้แค่ 70-80% ที่เหลือ 20-30% ยังจำเป็นจะต้องคงระบบ ตั๋วกระดาษ เอาไว้ เนื่องจากไม่มีฤดูการท่องเที่ยวที่แน่นอน และมีจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก ผ่านระบบการวอล์คอิน เช่น ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นต้น

โดยที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติฯ มีรายได้จากค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานต่างๆ เฉลี่ยประมาณปี 1,000 – 2,000 ล้านบาท แต่พอช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 รายได้ในส่วนนี้ลดลงอย่างมาก ช่วงที่ตนเข้ามารับผิดชอบในตำแหน่งอธิบดีฯ รายได้ขยับขึ้นจาก 300 ล้านบาท เป็น 600 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้ในส่วนนี้ กรมอุทธยานแหงชาติฯ ไม่ต้องส่งเข้ารัฐ แต่จะแบ่งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบ้าง ที่เหลือส่วนใหญ่จะนำไปใช้เพื่อการดูแลอุทยานนั้นๆ ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มากที่สุด

“การท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติยุคนี้ จะต้องเป็นไปในลักษณะ “ท่องเที่ยวยุคใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” คนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติจะต้องปรับพฤติกรรมกันใหม่ จะมาทิ้งขยะหรือใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมากมายมหาศาลและสิ้นเปลือง จะทำไม่ได้อีกแล้ว แม้กระทั่ง จะใช้ครีมกันแดดแบบไหนที่ไม่สร้างปัญหาต่อปะการัง” อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ย้ำ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password