“อนุทิน” เตรียมเสนอ ครม. แก้กฎกระทรวงสธ. เพิ่มโทษยาบ้า เกิน 1 เม็ดเท่ากับเป็นผู้ค้า

รมว.สาธารณสุข เตรียมแก้กฎระทรวงครอบครองยาบ้า 1 เม็ดเป็นผู้เสพ 2 เม็ดขึ้นไปเป็นผู้ค้า แก้ปัญหาผู้ค้าเลี่ยงบาลี-ขายยากขึ้น ยกระดับมาตรการกฎหมายให้เด็ดขาด

วันที่ 30 ม.ค. 2566 ที่ ทำเนียบรัฐบาล เวลา 10.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการออกกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ การครอบครองยาบ้าเกิน 1 เม็ดเป็นผู้ค้า ว่า ได้รับรายงานจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่ากำลังจัดเตรียมประกาศอยู่ ซึ่งเป็นผลมาจากคณะกรรมการการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด และจะมีการนำเสนอให้ตนได้ลงนาม ขณะนี้กำลังเตรียมเอกสารอยู่ ซึ่งมาตรการนี้เป็นร่างของกฎกระทรวง ซึ่งจะต้องนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เมื่อถามว่าการกำหนดให้ยาบ้า 1 เม็ดเป็นผู้เสพ ยาบ้า 2 เม็ดขึ้นไปเป็นผู้ค้าจะทำให้สถานการณ์ยาเสพติดดีขึ้นหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะกรรมการดังกล่าวได้มีการหารือกันเยอะมาก ซึ่งส่วนใหญ่เขานึกถึงเยาวชน ความมั่นคงของครอบครัว และสังคม ซึ่งเรื่องของการปฏิบัติงานที่บอกว่าการที่เราไม่ปราบปรามยาเสพติดให้เด็ดขาด เพราะกลัวคุกไม่พอขัง คณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอันนี้ไม่ใช่เหตุผล แต่เหตุผลคือเราต้องมีมาตรการที่เด็ดขาด และทำให้เห็นว่ากระบวนการทางกฎหมายมีประสิทธิภาพที่บอกว่าคุกไม่พอขังวันนี้ก็ไม่พอขังอยู่แล้ว ซึ่งการปฏิบัติก็เป็นหน้าที่ของตำรวจ สำหรับกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องไปหางบประมาณเพื่อมาทำในเรื่องของระบบการบำบัดผู้ติดยาเสพติด

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อกำหนดให้ยาบ้า 1 เม็ด เป็นผู้เสพจะทำให้โทษรุนแรงขึ้นใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นมาตรการที่จะทำให้การเลี่ยงบาลีของผู้ที่ประสงค์จะค้ายาเสพติดทำให้ยากขึ้น คือเดิมกำหนดผู้เสพคือ 15 เม็ด ทำให้แค่บำบัด จึงทำให้ผู้ค้าเลี่ยงบาลี ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ไหวเพราะทำให้เลี่ยงบาลีจำนวนมาก ซึ่งตอนนั้นก็ลดลงมาเหลือ 5 เม็ด แต่ผู้ค้าก็ใช้หลบเลี่ยงกันอีก จึงมาสรุปที่ 1 เม็ด ผู้ค้าอาจมองแล้วไม่คุ้มค่า ดังนั้นความคุ้มค่าที่จะเลี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายมันจะไม่คุ้มค่าเท่ากับ 5 เม็ด หรือ 15 เม็ดในอดีต

“ขอย้ำว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความเห็นร่วมกัน ไม่ใช่เป็นนโยบาย เพราะทางกระทรวงสาธารณสุขและผมในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด มีความกังวลเรื่องนี้ จึงมีมติออกมาเหมือนข้อกำหนดอื่นๆ ให้อำนาจคณะกรรมการมีมติพิจารณาว่า จะมีมติออกมาอย่างไร ผมก็มีหน้าที่ที่จะลงนามตามมติคณะกรรมการ ซึ่งอำนาจก็แค่ชะลอได้ให้เขาทบทวน แต่เขายืนยันตามมติ ผมก็ต้องลงนาม ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้”

เมื่อถามย้ำว่า เมื่ออกกฎกระทรวง จะมีผลบังคับใช้เลยหรือไม่ นายอนุทิน ยอมรับว่า มีการแก้ไขกฎกระทรวงก่อนนำมาแจ้งใน ครม.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password