“มาดามเดียร์” ชำแหละ “Must Carry” ตัวการสำคัญ ทำไทยซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกแพง

เสวนาปชป.ชำแหละ ปมซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก “นักวิชาการ” ติงกสทช.อนุมัติจ่ายเงิน “กทปส.” ไม่สอดคล้องวัตถุประสงค์-อำนาจหน้าที่ ด้าน “มาดามเดียร์” ชี้ “กฎMust Carry” เปิดช่องแทรกแซงการคลาด ทำไทยซื้อลิขสิทธิ์แพง

วันที่ 20 พ.ย.2565 ที่ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คณะยุทธศาสตร์ กรุงเทพมหานคร ได้จัดเสวนา “ดูบอลโลกในไทย ทำไมเป็นแบบนี้?” โดยมี นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. พร้อมด้วย น.ส.วทันยา บุนนาค “มาดามเดียร์” อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ และประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมืองกรุงเทพมหานคร นายอภิมุข ฉันทวานิช อดีต ส.ก. ของพรรค นายเขมทัตต์ พลเดช อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. อสมท. นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมการเสวนาดังกล่าว และมีนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ดำเนินรายการ

โดยนายองอาจ กล่าวเปิดงานเสวนาโดยการเชิญชวนให้ผู้ฟังร่วมตั้งคำถามไปพร้อม ๆ กับผู้ร่วมเสวนาว่าการดำเนินการเรื่องลิขสิทธิ์บอลโลก ที่ผ่านมาก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และเกิดคำถามมากมายหลายประการ ทั้ง ๆ ที่ควรจะเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ เพราะสามารถรู้ล่วงหน้าได้ 4 ปี เหตุใดการซื้อลิขสิทธิ์ในคราวนี้จึงมีปัญหาแตกต่างจากทุกครั้ง

ด้านนายไพศาล ตั้งข้อสังเกตว่า ในต่างประเทศจะให้ภาคเอกชนเป็นองค์กรหลักในการซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก อย่างในเกาหลีใต้มี Star Hub และสิงคโปร์มี Singtel ซึ่งเป็นภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการ ซึ่งมีทั้งแบบ Pay Per View และดูฟรีบางแมทช์ จึงตั้งคำถามว่าทำไมประเทศไทย จึงให้หน่วยงานภาครัฐอย่าง กสทช. ซึ่งมีกองทุน กทปส. และ USO ส่วน กกท. มีกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เข้ามามีบทบาทในการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกได้ ทั้ง ๆ ที่ควรจะทำหน้าที่เป็น Regulator และสนับสนุนการพัฒนากีฬาของชาติ ในฐานะนักกฏหมายเมื่อดูอำนาจหน้าที่ของกองทุนดังกล่าวตามรายมาตราก็ไม่พบว่าเกี่ยวข้องกับการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกแต่อย่างใด ดังนั้นการอนุมัติจ่ายเงิน “กองทุนกทปส.” เพื่อได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ของกรรมการ กสทช. จึงน่าจะขัดต่อวัตถุประสงค์ของกองทุนดังกล่าวและไม่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่

ขณะที่ “มาดามเดียร์” น.ส.วทันยา มองว่าปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นจากกฎ Must Carry หรือ Must Have ที่ กสทช. ออกเป็นกฎไว้หลังจากการประมูลทีวีดิจิทัล ที่ต้องการประชาชนสามารถเข้าถึงรายการถ่ายทอดสดเวทีสำคัญระดับชาติโดยไม่ถูกปิดกั้นจากเจ้าของผู้ประมูลลิขสิทธิ์เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในสมัยฟุตบอลโลกปี 2014 แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลายเป็นว่ากฎ Must Carry นั้นบิดเบือน แทรกแซงกลไกตลาดในการซื้อขายลิขสิทธิ์

เพราะเป็นที่ทราบว่ามูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดรายการนั้นแปรผันตามฐานจำนวนผู้ชม ยิ่งมีคนดูมากค่าลิขสิทธิ์ก็ย่อมแพงขึ้น และกีฬาฟุตบอลโลกนั้นมีมูลค่าทางการตลาดสูง ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลในการซื้อลิขสิทธิ์ ซึ่งเงินจากทั้ง 2 กองทุน ถือเป็นการใช้ภาษีของประชาชนทุกคนทางอ้อม การซื้อลิขสิทธิ์ควรเป็นเรื่องธุรกิจของภาคเอกชนซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านการตลาดและการถ่ายทอดสดมากกว่า ภาครัฐจึงไม่ควรแทรกแซงเพราะทำให้กลไกการตลาดบิดเบือน

“ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมลิขสิทธิ์บอลโลก 2022 ของไทยจึงได้แพงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน หากยังแก้ไขปัญหาแบบนี้ก็คงไม่ต่างจากขว้างงูไม่พ้นคอ ด้วยการออกกฎ Must Carry ปกป้องประชาชน แต่สุดท้ายก็ต้องนำเงินประชาชนมาใช้อยู่ดี แถมยังกลายเป็นของหวานให้ต่างชาติรีดเงินเพิ่ม และที่สำคัญแม้จะมีข้อสรุปว่าประเทศไทยสามารถถ่ายทอดฟุตบอลโลกได้แล้ว ก็ต้องมาดูเรื่องความเป็นธรรมในการจัดสรรแมทช์การถ่ายทอดให้กับทีวีดิจิตัลช่องต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน” น.ส.วทันยา กล่าว

ด้านนายเขมทัตต์ กล่าวว่า ฟุตบอลโลกเป็นกีฬา 1 ใน 3 ประเภทที่มีผู้นิยมติดตามชมมากที่สุดในโลก จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า รายการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกที่ 4 ปีถึงจะวนกลับมาหนึ่งครั้งสามารถเข้าถึงคนได้ทุกเพศทุกวัย และมีมูลค่าที่สูงเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับรายการถ่ายทอดประเภทอื่น ๆ ซึ่งฟีฟ่าจะมีตัวกลางทำหน้าที่ในการเจรจาซื้อขายลิขสิทธิ์ในรูปแบบเชิงพาณิชย์

ดังนั้นควรจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด กสทช. ต้องทบทวนบทบาทหน้าที่และแก้ไขกฏระเบียบ รวมทั้งพัฒนาให้ทันเทคโนโลยีในทุกแพลตฟอร์ม เพื่อให้ผู้ได้รับลิขสิทธิ์สามารถวางแผนการถ่ายทอดสดได้ ในกรณีของไทยที่มีกฎ Must Carry ทำให้เจ้าของธุรกิจไม่อยากเข้าไปลงทุนเพราะไม่คุ้มค่า เนื่องจากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดไม่สามารถนำไปหารายได้เพื่อทำกำไร เพราะไม่ได้สิทธิ์แบบ Exclusive เมื่อเป็นเช่นนี้จะไม่มีช่องโทรทัศน์หรือเจ้าของแพลตฟอร์มรายใดอยากเข้าไปประมูลลิขสิทธิ์ เพราะไม่ได้ประโยชน์แถมมีโอกาสขาดทุนชัดเจน

ส่วนนายอภิมุข กล่าวว่า แฟนบอลส่วนใหญ่รู้สึกว่าต้องได้ดูบอลโลก แต่ทำไมปีนี้ต้องรอลุ้นจนถึงนาทีสุดท้ายว่าจะได้ดูหรือไม่ ปีนี้เป็นปีที่ฟุตบอลโลกเงียบเหงาที่สุด ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ผับ บาร์ ไม่มีการตกแต่ง หรือจัดกิจกรรมเหมือนครั้งก่อน ๆ ที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่การแข่งขันเกิดขึ้นในทวีปเอเชีย

พร้อมทั้งระบุว่าในช่วงระหว่างรอฟังผลว่าจะได้ดูการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกหรือไม่ ได้กลายเป็นการเปิดช่องให้เว็บพนันออนไลน์ อีกทั้งนักพนันแบบขาจรกว่าหนึ่งล้านคนซึ่งเป็นเยาวชนที่สมัครสมาชิกไปแล้วเข้ามาในเว็บมากขึ้น แม้จะมีการถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีแล้วก็ตาม แต่เยาวชนก็ยังสามารถเข้าไปดูหรือเล่นการพนันได้อยู่ดี ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password