ดีแทค จับมือพันธมิตร เผยผลวิจัยชี้ “3 แนวทางส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรอง” หนุนยุทธศาสตร์เที่ยวไทยเติบโตยั่งยืน

ดีแทค-สดช.-สถาปัตย์ จุฬาฯ-บุญมีแล็บ ผนึกกำลังวิจัย“ศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดเมืองรองจาก Mobility data” เผย 3แนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยว นักวิชาการชี้ที่ผ่านมาท่องเที่ยวไทย “ขาดสมดุล”การหนุนยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวเมืองรองสร้างท่องเที่ยวไทยให้เข้มแข็ง เติบโตยั่งยืน

ภุชพงค์ โนดไธสง

นายภุชพงค์ โนดไธสงเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของข้อมูลที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลและเปลี่ยนผ่านโครงสร้างประเทศสู่ Digital Nation ข้อมูลที่เรียลไทม์จะช่วยให้ภาครัฐบริหารจัดการปัญหาต่างๆ ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การบริหารจัดการน้ำ การรับมือกับภัยพิบัติ เป็นต้น เพื่อประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค กล่าวว่า โครงการวิจัยศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดเมืองรองจาก Mobility data เป็นความร่วมมือทางวิชาการนำร่องใช้ Mobility data เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยโจทย์มุ่งเน้นที่ ‘การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว’ หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด-19 ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการออกแบบนโยบายมีประสิทธิภาพมากขึ้น “ข้อมูล” เชิงพฤติกรรมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะความสามารถในการประเมินสถานการณ์การเดินทางและการกระจุกตัวของผู้คนได้รวดเร็ว แม่นยำ วิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงในเชิงพื้นที่ได้หลากหลายระดับ

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้การท่องเที่ยวจะทำรายได้ให้ประเทศจำนวนมากแต่ที่ผ่านมาผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจจากกระจุกตัวอยู่เพียงบางจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก ปัจจุบันความต้องการเดินทางท่องเที่ยวกำลังเพิ่มปริมาณมากขึ้นจากการลดลงของโรคระบาด ถือเป็นโอกาสดีที่จะสร้าง “สมดุล” กระจายนักท่องเที่ยวและผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจไปสู่จังหวัดที่เป็นเมืองรอง เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยเข้มแข็ง เติบโตยั่งยืน ตลอดจนสามารถกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นและชุมชนได้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ จากการวิจัย ระหว่างเดือนมิถุนายน 2563 ถึงตุลาคม 2564 พบว่า ผู้เดินทางในภาพรวม เป็นเพศชายราว 40% เพศหญิงราว 35% และไม่ได้ระบุเพศ 25% ส่วนใหญ่มีถิ่นพำนักในกรุงเทพฯ ถึง 54% ทั้งนี้ นักเดินทางท่องเที่ยว 47% มีอายุระหว่าง 21-40 ปีหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ตามด้วยวัยกลางคน (41-60 ปี) มีสัดส่วนที่ 35% วัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) 14% และวัยเด็กและเยาวชน (ต่ำกว่า 20 ปี) ที่ 4% นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงลักษณะการท่องเที่ยว พบว่าเดินทางพักค้างถึง 67% และเช้าไปเย็นกลับ 33%

นายณัฐพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการวิเคราะห์ Mobility data สรุป 3 แนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองได้ดังนี้

1. การส่งเสริม Micro tourism ดึงดูดนักท่องเที่ยวเดินทางเช้าไปเย็นกลับ ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร หรือใช้เวลาราว 1-2 ชั่วโมง ร่วมกิจกรรมเชิงเรียนรู้รวมถึงบริโภคสินค้าและบริการท้องถิ่น ซึ่งมีแนวโน้มเป็นที่นิยมของกลุ่มครอบครัว วัยทำงาน และวัยเกษียณอายุ การพัฒนาทำได้โดยผลักดันให้เกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อยร่วมกันพัฒนากิจกรรมที่นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตผลผลิตและสินค้าของท้องถิ่น ได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ เปิดโอกาสให้เกิดการสร้างรายได้เสริมจากท่องเที่ยวให้กับเกษตรกรและผู้ผลิต เน้นใช้สถานที่และอุปกรณ์ที่เกษตรกรและผู้ประกอบการมีอยู่เดิมมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมเพื่อลดต้นทุน ตัวอย่างเช่น เวิร์คชอปเรียนรู้การทำหัตถกรรมพื้นบ้าน การเที่ยวชมชุมชนเกษตรกรรมร่วมกับไกด์ท้องถิ่น การทดลองทำอาหารพื้นถิ่น การร่วมเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ศึกษาได้พัฒนาดัชนีชี้วัดศักยภาพใช้ 3 เกณฑ์ชี้วัด ได้แก่ 1.ปริมาณการเดินทางท่องเที่ยวแบบไปกลับที่เข้ามาในพื้นที่ 2.สัดส่วนการเดินทางท่องเที่ยวแบบไปกลับที่สามารถดึงดูดได้จากจังหวัดอื่นในระยะ 150 กม. และ 3.ความสามารถในการดึงดูดการท่องเที่ยวแบบไปกลับได้จากระยะไกล จะพบว่า จังหวัดเมืองรองที่มีศักยภาพโดดเด่นมี16 จังหวัดประกอบด้วยนครศรีธรรมราช เชียงราย นครพนม ลำพูน นครนายก ระนอง เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี แม่ฮ่องสอน พัทลุง ราชบุรี นครสวรรค์ บุรีรัมย์ มหาสารคราม สุพรรณบุรี และชุมพร

2. การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบค้างคืนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ เนื่องจากเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายและเวลาพำนัก ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและเพิ่มโอกาสในการบริโภคสินค้าและบริการในท้องถิ่นเพื่อกระจายรายได้ให้กับผู้ประกอบการและชุมชน นอกจากนี้ยังสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักท่องเที่ยวกับชุมชนซึ่งจะเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นนำเสนอคุณค่าด้านต่างๆ และออกแบบการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชน เช่น การเข้าร่วมเทศกาล การร่วมกิจกรรมบูรณะอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ การร่วมปลูกและดูแลป่าชุมชน เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรมต่างถิ่น (Cultural Exchange) และการสร้างกลุ่มผู้สนับสนุน (fanbase) ในระยะยาว ทั้งนี้ วัดศักยภาพ ผ่าน 3 ดัชนีชี้วัด ได้แก่

1.ปริมาณการกระจุกตัวของการเดินทางท่องเที่ยวแบบค้างคืนในพื้นที่

2.สัดส่วนการเดินทางท่องเที่ยวแบบค้างคืนที่ดึงดูดได้จากจังหวัดอื่นในระยะ 150 เมตร และ 3.สัดส่วนการเลือกพักค้างของผู้มาเยือนพบว่ามี 21 จังหวัดเมืองรองที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ นครศรีธรรมราช เพชรบูรณ์ เชียงราย อุบลราชธานี พิษณุโลก ชุมพร จันทบุรี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ เลย ตราด น่าน นครสวรรค์ อุดรธานี ลำปาง ร้อยเอ็ด สุรินทร์ มหาสารคราม สตูล ตรัง และชัยภูมิ ตามลำดับ

3. การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัด (Tourism Cluster) เป็นแนวคิดการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนากิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่างกลุ่มจังหวัดเมืองรองที่นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเดินทางไปเยือนในการเดินทางท่องเที่ยว 1 ทริป เพื่อเพิ่มทางเลือกในเป้าหมายการเดินทางท่องเที่ยวให้กับผู้มาเยือนการพัฒนากิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่างกลุ่มจังหวัดอาจดำเนินการได้โดยการสร้างเรื่องราว (Storytelling) เชื่อมโยงสถานที่และกิจกรรมการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัด การจัดโปรโมชั่นส่วนลดที่พักและร้านอาหารในกลุ่มจังหวัด เป็นต้น

ทั้งนี้ จากผลการวิเคราะห์ mobility data สามารถแบ่งประเภทของคลัสเตอร์ของการท่องเที่ยวที่จังหวัดเมืองรองเป็นสมาชิกได้เป็น 4 รูปแบบ ดังนี้

1) กลุ่มเมืองรองแฝงเมืองหลัก เป็นกลุ่มที่มีจังหวัดเมืองรองร่วมอยู่ด้วย แต่สมาชิกในกลุ่มโดยส่วนใหญ่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น กลุ่มจังหวัดบุรีรัมย์-นครราชสีมา-สระบุรี

2) กลุ่มเมืองรองล้อมเมืองหลัก เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกโดยส่วนใหญ่เป็นจังหวัดเมืองรองอยู่ร่วมกับจังหวัดที่เป็นเมืองท่อง เที่ยวหลัก เช่น กลุ่มจังหวัดนครสวรรค์-ชัยนาท-สิงห์บุรี-อ่างทอง-พระนครศรีอยุธยา-ปทุมธานี

3) กลุ่มเพื่อนเมืองรอง เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีสมาชิกทั้งหมดเป็นจังหวัดเมืองรอง เช่น กลุ่มจังหวัดลำปาง-ตาก-กำแพงเพชร-นครสรรค์ และ

4) กลุ่มเมืองฝาแฝด เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกเพียง 2 จังหวัด โดยมีทั้งการจับคู่ระหว่างเมืองหลักกับเมืองรอง หรือระหว่างเมืองรองด้วยกันเอง เช่น จังหวัดปราจีนบุรี-ฉะเชิงเทรา

“ดีแทคเชื่อว่า Mobility data จะช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนเข้าใจรูปแบบการเดินทางและการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวได้อย่างบูรณาการ เติมเต็มและเพิ่มประสิทธิภาพของการวางแผนและการจัดทำนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวตั้งแต่ในระดับประเทศจนถึงท้องถิ่นนอกจากนั้นข้อมูลชุดนี้ยังจะช่วยเปลี่ยนโลกให้ดีและน่าอยู่ยิ่งขึ้น” นายชารัด กล่าว

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password