“แสนสิริ”เดินหน้าสู่ Net-zero ตั้งเป้าเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050

แสนสิริ ตอกย้ำความมุ่งมั่นสร้างจุดเปลี่ยนด้านสิ่งแวดล้อม รุกเป้าหมายสู่การเป็น“องค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050” ประกาศพันธกิจระยะสั้น-ระยะกลาง พร้อมวาง 3 กลยุทธ์ และพัฒนา Net-zero Home ครั้งแรกของไทย จับเทรนด์เพื่อการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน ลุยชวนพันธมิตร-คู่ค้า ผนึกกำลังตั้งดรีมทีม R&D สร้างบ้านแห่งอนาคต ช่วยประหยัดพลังงาน ลดก๊าซเรือนกระจกแบบบูรณาการเพื่อโลกที่ยั่งยืน

อุทัย อุทัยแสงสุข

นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เปิดเผยว่าหลังจากประกาศความมุ่งมั่นในการเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายแรกของไทยที่ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero) แสนสิริได้เดินหน้าสู่เป้าหมายทุกรูปแบบเพื่อร่วมแก้ปัญหาภาวะโลกรวน (ClimateChange) ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นทุกขณะ

จากข้อมูลของ Climate Watch Data พบว่าภาพรวมภาคธุรกิจในประเทศไทยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือ ภาคพลังงาน ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดถึง 61.11% รองลงมาคือ ภาคอุตสาหกรรม 16.67% ตามด้วย ภาคการเกษตร 15.96% และ ภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน 3.31%

ทั้งนี้แม้ภาคอสังหาริมทรัพย์จะไม่ใช่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงในปริมาณสูง แต่ห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ(Value Chain) ก็เป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของโลกร้อนเช่นกัน โดยแสนสิริมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทั้งสิ้น 229,486 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี จากการดำเนินธุรกิจโดยตรงของบริษัทเพียง 4,939.74 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีหรือคิดเป็น 2.2% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดเท่านั้น แยกได้เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ขอบเขตที่ 1 คือ การใช้น้ำมันในการดำเนินงาน 0.2%

ขอบเขตที่ 2 การใช้น้ำมันและพลังงานในการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ 2%

ขอบเขตที่ 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่มาจากห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ (Value Chain) รวมที่ 224,547.24 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีหรือ 97.8% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ตัวเลขนี้ยังแยกย่อยได้เป็นการคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าของลูกค้าในอีก 60 ปีถึง 55% การซื้อวัสดุก่อสร้างจากคู่ค้า 29% การขนส่งสินค้าของคู่ค้า 2% และอื่นๆ 14%

นายอุทัย กล่าวต่อว่า แสนสิริมีแผนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจโดยตรงของบริษัท (ขอบเขตที่ 1 และ 2) ให้ได้ 20% ภายในปี 2025 (พ.ศ.2568) และลดก๊าซเรือนกระจกของทั้งขอบเขตที่ 1, 2 และ 3 ให้อยู่ที่ 50% ในปี 2033 (พ.ศ.2576) โดยมีเป้าหมายสูงสุดสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์หรือNet-Zero ให้ได้ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) ผ่าน 3 กลยุทธ์ ได้แก่

· กลยุทธ์ที่ 1: ก้าวสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ มุ่งประหยัดพลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพยกระดับการใช้นวัตกรรมเพื่อพลังงานสะอาดเป็น 100% ในปี 2025 ผ่านการขยายแผนการติดตั้ง Solar Roof และ EV Charger ครบ 100% ให้บ้านแสนสิริทุกหลังทุกระดับราคา ติดตั้ง Solar Roof ครบ 100%ในคลับเฮาส์ของทุกโครงการใหม่ เปลี่ยนรถส่วนกลางให้เป็นรถ EV 100% และเปลี่ยนการใช้น้ำมันของเครื่องจักรทุกชนิดมาใช้พลังงานไบโอดีเซล 100%

· กลยุทธ์ที่ 2: ออกนโยบายด้านธรรมาภิบาลเพื่อลดคาร์บอนตลอดห่วงโซ่คุณค่า ภายใต้การดำเนินการ 3G ได้แก่

· Green Procurement เลือกคู่ค้าที่ใส่ใจกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน มีแผนลดการใช้พลังงานและน้ำทั้งในการผลิตและการใช้งานระยะยาว ใช้วัสดุในการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดการใช้ทรัพยากรและนำกลับมาใช้ใหม่ (Circular Economy) ฯลฯ

· Green Architecture & Design ออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อการใช้ชีวิตที่ยั่งยืน เช่น Cooliving Designed Home นวัตกรรมบ้านเย็นช่วยประหยัดพลังงาน, Zero Waste Design การออกแบบที่ลดการสิ้นเปลืองและลดปริมาณขยะให้มากที่สุด, Universal Design การออกแบบที่ครอบคลุมการใช้งานของผู้อยู่อาศัยทุกวัย รวมทั้งการผสมผสานแนวคิด Well-being ให้ความสำคัญสูงสุดด้านคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้อยู่อาศัย

· Green Construction การก่อสร้างและพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีวัสดุเหลือใช้เป็นศูนย์ตลอดจนใช้นวัตกรรมในการพัฒนาโครงการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อย่นเวลาในการก่อสร้างให้มากที่สุดและก่อเกิด waste น้อยที่สุด

· กลยุทธ์ที่ 3: ลงทุนในนวัตกรรมสีเขียวลงทุนในบริษัทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยงบ 500 ล้านบาท ปัจจุบันลงทุนไปแล้ว 3 บริษัทประมาณ 120 ล้านบาท

นายอุทัย สรุปว่า แสนสิริมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกมิติและครอบคลุมมากที่สุดโดยเฉพาะภาคครัวเรือนและภาคคู่ค้าที่เป็นเรื่องท้าทายและไม่เคยมีใครทำมาก่อน แต่หากทำได้ก็จะเป็นการจุดประกายให้องค์กรอื่นๆร่วมมือกันเข้ามาแก้ไขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันมากขึ้น

การวางกลยุทธ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคครัวเรือนนั้นไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่จะช่วยปรับพฤติกรรมและแนวคิดของผู้อยู่อาศัยให้เข้าใจและใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เมื่อผู้คนในที่อยู่อาศัยอันเป็นหน่วยเล็กๆในสังคมร่วมกันปรับพฤติกรรม ก็จะทำให้เกิดการขยายสู่พฤติกรรมการใช้พลังงานในที่ทำงานและสถานที่อื่นๆตามมา อันจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและการแก้ปัญหาโลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพในที่สุด.”

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password