รัฐไทยปรับแผน ‘ลดเกินดุล/เพิ่มนำเข้า’ สินค้าสหรัฐฯ เผย! 2 วีคจ่อบินเจรจามะกัน แก้ขึ้นภาษีนำเข้า 37%

รองนายกฯและรมว.คลัง นำทีม “ภาครัฐ-เอกชน” หารือรับมือสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้า 37% ลั่น! ยอมบาลานซ์ หั่นกำไรเกินดุลการค้าลง เพิ่มสินค้านำเข้าและลดอุปสรรคนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เชื่อแผนนี้ช่วยลดผลกระทบสินค้าไทย คาด 2 สัปดาห์ บินเจรจาถึงแดนอินทรีย์

เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 3 เม.ย.2568 ณ ห้องประชุม อาคาร 150 ปี กระทรวงการคลัง, นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง พร้อมด้วย ผู้บริหารกระทรวงการคลัง ประชุมร่วมกับ ตัวแทนภาครัฐและเอกชน อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ฯลฯ หลังจากที่ รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจัดเก็บภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากประเทศไทยในอัตรา 36% ก่อนจะขยับขึ้นเป็น 37% ในเวลาต่อมา

จากนั้น นายพิชัย ได้นำทีมแถลงข่าว โดยระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯได้ส่งสัญญาณให้ประเทศต่างๆ ให้เพิ่มการนำเข้าสินค้าสหรัฐมากขึ้น เพื่อลดการเสียเปรียบทางการค้าของสหรัฐ ในส่วนของไทยที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯแต่ละปีราว 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นตัวเลขส่งออก 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้าเพียง 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปดูว่าจะลดสัดส่วนการได้เปรียบดุลการค้าไทยลดลง ซึ่งที่ประชุมฯมีความเห็นร่วมกันว่า ประเทศไทยจะต้องหาแนวทางนำเข้าสินค้าที่จำเป็น เพื่อลดยอดเกินดุลการค้าให้เหมาะสม ผ่านหลายมาตรการ เช่น การนำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐเพิ่มเติมบางส่วน แทนการนำเข้าจากประเทศอื่น โดยมุ่งเน้นในส่วนที่ไทยยังผลิตได้ไม่เพียงพอ แต่ต้องผลิตอาหารแปรรูปและส่งออก รวมถึงเร่งแก้ไข กฎระเบียบ หรืออุปสรรคการค้าที่ไม่ใช่ภาษี โดยเฉพาะการตั้งภาษีนำเข้ารถจักยานยนต์ ทั้งที่ความเป็นจริงไม่ได้นำเข้า โดยลดลงจากเดิมร้อยละ 40-60 เหลือร้อยละ 10 เปิดทางให้ มอเตอร์ไซฮาเล่ย์ จากสหรัฐณเข้ามาทำตลาดเมืองไทยเพิ่ม

รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ย้ำว่า ปัจจุบันสัดส่วนร้อยละ 90 ของอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี (Non-Tariff Barriers: NTB) จึงต้องใช้โอกาสนี้ทำการแก้ไข เพื่อขยายโอกาสการส่งออกสินค้าไทย จำเป็นจะต้องบาลานซ์ระหว่างการส่งออกเพิ่มขึ้นและยอมลดปริมาณเกินดุลการค้า ทั้งนี้ ที่ประชุมฯจะเร่งศึกษาหามาตรการและข้อสรุปที่ชัดเจน โดยมีแผนจะไปหารือกับสหรัฐฯในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยเราจะได้ส่งสัญญาณผ่านไปยังหอการค้าไทย-สหรัฐ และส่วนต่าง ๆ ของสหรัฐ เพื่อให้รัฐบาลสหรัฐฯได้รับรู้ถึงแนวทางในการเจรจาทางการค้าของรัฐบาลไทย

“หลังจากได้เตรียมการรับมือมาระยะหนึ่งแล้ว จึงได้รายงานผลหารือครั้งนี้ ให้กับนายกรัฐมนตรีรับทราบเป็นระยะๆ รวมถึงแผนการและแนวทางที่จะได้หารือกับรัฐบาลสหรัฐฯ” นายพิชัย ระบุ พร้อมยอมรับว่า หากไม่มีมาตรการหรือแผนรองรับเลย การขึ้นภาษีของสหรัฐอาจส่งผลให้การขยายตัวของจีดีพีไทยปี 2568 ลดลงร้อยละ 1 อย่างแน่นอน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password