‘พาณิชย์’ ตั้งคณะทำงานเชิงรุก! ลุยปราบร้านค้าออฟไลน์ ขายสินค้าด้อยคุณภาพทั่วไทย

“รมช.พาณิชย์” เผยหลังประชุมร่วม 20 หน่วยงานรัฐ ย้ำ! นอกจากวางมาตรการกำกับเข้ม คุมร้านค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างจริงจัง ยังส่งเสริม/ยกระดับ SMEs ไทย พร้อมเร่งแก้ไขปัญหาสินค้านำเข้าไร้คุณภาพ เผย! ตั้งคณะทำงานฯ เน้นเชิงลึกลงพื้นที่ตรวจสอบช่องทางการขายแบบมีหน้าร้านทั่วประเทศ ฝากชื่นชมภาคเอกชนร่วมภาครัฐเดินหน้าแก้ปัญหานี้

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะ ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SME ไทยและแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ เปิดเผยภายหลัง การประชุมครั้งที่ 3 ร่วมกับ 20 หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้หารือร่วมกันถึงปัญหาการนำเข้าสินค้าไม่ได้คุณภาพมาตรฐานจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมที่สำคัญต่อภาคเศรษฐกิจ ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้รับข้อเสนอด้านการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเด็น ได้แก่…

1) ด้านมาตรฐานสินค้าและการดำเนินธุรกิจ โดยขอให้ภาครัฐเพิ่มความเข้มงวดในการใช้กฎหมายฉลากสินค้าและมาตรฐาน การกำกับดูแลแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และพิจารณามาตรการสนับสนุนผู้ผลิตในประเทศ ด้านการขยายอายุใบอนุญาต การพัฒนาห้องทดสอบในประเทศ และการใช้กลไก Standard Developing Organizations (SDOs)

2) ด้านมาตรการทางการค้า ทั้งการอำนวยความสะดวกการเข้าถึงมาตรการตอบโต้ทางการค้า และทบทวนอัตราภาษี

3) ด้านพิธีการศุลกากรและช่องทางการนำเข้า โดยขอให้เข้มงวดกับการกำกับดูแลสินค้านำเข้า

และ 4) ด้านการส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ โดยเฉพาะการพิจารณาสิทธิประโยชน์ทางภาษี การปรับเพิ่มแต้มต่อการจัดซื้อจัดจ้าง และขยายตลาดให้ภาคเอกชน นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอจากภาคเอกชนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสนับสนุนให้มีการติดฉลากสินค้าเสื้อผ้าเด็กทั้งสินค้าในประเทศและสินค้านำเข้าเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคด้วย

รมช.พาณิชย์ กล่าวอีกว่า จากข้อเสนอแนะดังกล่าว ตนรู้สึกยินดีอย่างมากที่ได้รับเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะร่วมมือกับภาครัฐ ในการแก้ไขปัญหาสินค้าไม่มีคุณภาพมาตรฐาน และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นแหล่งสินค้าคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค โดยคณะอนุกรรมการฯ จะเสนอต่อคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมายให้พิจารณาผลักดันการดำเนินการในด้านต่างๆ ตามที่ ส.อ.ท. เสนอให้มีความเข้มข้นและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

พร้อม มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอไปดำเนินการ ทั้งใน ด้าน การเข้มงวดกฎหมายสำหรับมาตรฐานสินค้าและการนำเข้าสินค้า การสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้บริโภคถึงการเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ และการสร้างศักยภาพทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยในด้านต่างๆ นอกจากนี้ สิ่งที่ถือเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับการประชุมในวันนี้ คือ การจัดตั้งคณะทำงานปราบปรามสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยกระทรวงพาณิชย์จะนำทีมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบการลักลอบจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและป้องปรามธุรกิจนอมินีอย่างเข้มข้นและเด็ดขาดไปพร้อมกัน

สำหรับข้อเสนอจากภาคเอกชน ประเด็นการติดฉลากเสื้อผ้าเด็กเพื่อความปลอดภัยและคุ้มครองผู้บริโภคจากความเสี่ยงด้านการสวมใส่เสื้อผ้าที่อาจระคายเคืองได้ กระทรวงฯ ขอให้ผู้ประกอบการไทยติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดถึงแนวทางการปรับตัว เนื่องจาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางดำเนินการโดยคำนึงถึงผู้บริโภคและผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยเป็นสำคัญ นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ยังได้เห็นชอบแนวทางความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยจะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ เพื่อร่วมกันกำกับดูแลการจำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์มให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่ถูกต้อง ต่อไป

นายนภินทร ย้ำอีกว่า การประชุมในวันนี้ถือเป็นนัดแรกในปี 2568 แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าของหน่วยงานต่างๆ ต่อการแก้ไขปัญหาสินค้าไม่มีคุณภาพมาตรฐาน รวมถึงการที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อเสนอแนะถือเป็นความเห็นสำคัญที่จะทำให้แก้ปัญหาได้ตรงจุด ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ จะรวบรวมแนวทางการดำเนินการและเสนอต่อคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมายพิจารณาต่อไป ควบคู่กับจะผลักดันความร่วมมือกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพื่อกำกับดูแลการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ให้มีคุณภาพมาตรฐานด้วย ดังนั้น จึงอยากขอให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการชาวไทยไว้วางใจว่าภาครัฐกำลังดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าไม่ได้คุณภาพมาตรฐานดังกล่าว รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ในเวทีโลกต่อไป

สำหรับ ผลการดำเนินงานอย่างเข้างวดตามแผนระยะสั้น ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม จนถึง ธันวาคม 2567 ทั้งของ กรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้สูงถึง  21,277 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 1,137 ล้านบาท

ขณะที่ การนำเข้า ผ่านช่องทาง อีคอมเมอร์ซ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม จนถึง ธันวาคม 2567  มีมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากทั่วโลก รวมกว่า 21,869 ล้านบาท ซึ่งหากเทียบกับช่วงต้นปี ถือว่าลดลง 8% สะท้อนว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งจะมีการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก แต่มาตรการที่เข้มข้นทำให้ภาพรวมการนำเข้าจากช่องทางต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลดลง

“ที่ประชุมฯเห็นชอบ ตั้งคณะทำงาน ซึ่งเป็นชุดเดียวกัน ภายใต้ “คณะอนุกรรมการป้องกัน และป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (Nominee) เพื่อทำหน้าที่ลงไปตรวจสอบ การขายสินค้าไม่มีคุณภาพในแหล่งจําหน่ายสำคัญทั่วประเทศ ซึ่งเป็นช่องทางการขายแบบมีหน้าร้าน หรือ ช่องทางออฟไลน์ ถือเป็นการดำเนินการเชิงรุก ควบคู่กับการกำกับดูแลร้านค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งสามารถดำเนินคดี จับกุม ตามกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและยังจะเร่งขยายผล หาตัวผู้นำเข้ารายใหญ่ โดยเตรียม เสนอ คณะกรรมการชุดใหญ่ หรือ “คณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย” ซึ่งมี นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ เพื่อตั้งคณะทำงานต่อไป รมช.พาณิชย์ กล่าวทิ้งท้าย.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password