‘พิชัย’ นำทัพร่วมถก USCC – USABC ‘26 เอกชน’ ยักษ์ใหญ่สหรัฐเป็นทางการ หวังดูดลงทุนอุตฯใหม่ในไทย 

“รมว.พาณิชย์” สวมบทหัวหน้าคณะเยือนสหรัฐอเมริกา ร่วมถก USCC – USABC ภาคเอกชนยักษ์ใหญ่กว่า 26 บริษัทอย่างเป็นทางการ หวังดึงดูดลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ในไทยเพิ่ม โชว์จุดแข็ง “FTA -โครงสร้างพื้นฐานไทย” ย้ำ! ต่างขาติขอรับส่งเสริมการลงทุนปี 2567 มูลค่ากว่า 1.13 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี การส่งออกโตปี 2567 โตถึง 5.4 % พร้อมชูความพร้อมของไทยในการเป็นศูนย์กลาง Data Center, AI และอุตสาหกรรมอาหาร

 8 กุมภาพันธ์ 2568 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือกับภาคเอกชนชั้นนำของสหรัฐฯ ประกอบด้วยคณะนักธุรกิจจากสภาหอการค้าสหรัฐฯ (US Chamber of Commerce – USCC) และสภาธุรกิจสหรัฐฯ–อาเซียน (US-ASEAN Business Council – USABC) ณ สำนักงาน U.S. Chamber of Commerce กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับรัฐบาลและภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่มุ่งขยายการค้าและการลงทุนของไทย ซึ่งไทยในฐานะพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก มีจุดแข็งที่เอื้อต่อการลงทุน อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรม Data Center และ AI ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เช่น Google, Microsoft และ Amazon เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว

อย่างไรก็ตาม ตนได้มีโอกาสพบกับหอการค้าสหรัฐฯ USCC และสภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐฯ USABC ซึ่งในการหารือมีภาคเอกชนกว่า 26 บริษัทมาพบกับตน ทุกคนต่างก็ให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทางรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ก็พยายามส่งเสริมการค้า-ลงทุน และในการพบกับภาคเอกชนรายใหญ่ทั้ง 26 บริษัท เช่น  Pepsi, Tyson Food, Apple และ Cargill ต่างมีความต้องการขยายการลงทุนกับไทย เพราะไทยเป็นหุ้นส่วนที่ดี ทางกระทรวงพาณิชย์ได้เชิญชวนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยอาศัยข้อได้เปรียบของไทย จากข้อตกลง Treaty of Amity ที่ให้สิทธิพิเศษแก่ธุรกิจสหรัฐฯ สามารถถือหุ้น 100% ในไทย ซึ่งเป็นสิทธิที่ไทยไม่เคยมีให้กับประเทศอื่น และทางภาคเอกชนของสหรัฐฯ ก็ยินดีที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการทำ FTA กับเอฟตา (สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ที่มีสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตล์) และไทยยังมีแผนที่จะทำ FTA กับอีกหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และโดยเฉพาะกับอียู ที่มีสมาชิกอีกกว่า 27 ประเทศ โดยท่านนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) เร่งรัดให้สำเร็จภายในปีนี้ และเชื่อว่าภาคเอกชนสหรัฐฯ จะเข้ามาลงทุนมากขึ้นอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ในการหารือได้เน้นย้ำถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2567 ประเทศไทยมีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนปี 2567 มูลค่ากว่า 1.13 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี การส่งออกโตปี 2567 โตถึง 5.4 % พร้อมชูความพร้อมของไทยในการเป็นศูนย์กลาง Data Center, AI และอุตสาหกรรมอาหาร โดยภาคเอกชนสหรัฐฯ ยังคงจับตานโยบายการค้าของรัฐบาลตนเอง และมุมมองของภาคเอกชนสหรัฐฯ ต่อไทยยังคงเป็นบวก โดยเห็นว่าไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญ และเป็นฐานการผลิตที่ดีในภูมิภาคดังนั้น ตนจึงได้เชิญชวนบริษัทสหรัฐฯ ให้เข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เวชภัณฑ์ พลังงาน ดิจิทัล และเกษตรอาหาร ซึ่งกระทรวงพาณิชย์พร้อมให้การสนับสนุนในด้านนโยบายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างเต็มที่ ในการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ

สำหรับการหารือกับหอการค้าสหรัฐฯ (USCC) สภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐฯ (USABC) ได้มีผู้บริหารจากกว่า 26 บริษัท ได้แก่ Nasdaq, FedEx, The Asia Group, PepsiCo, IBM, Mars, Citi, Organin, Intel, Vriens & Partners, ConocoPhillips, Caterpillar, Seagate, Tyson Food, Apple, DGA-Albright, Stonebridge Group, BowerGroupAsia, S&P Global, Visa, Boeing, Dow, Cargill, 3M และ Viatris เข้าร่วมด้วย โดยในปี 2567 สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย (รองจากจีน) ซึ่งมีมูลค่าการค้ารวม 74,484.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 54,956.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยางอัญมณี รถยนต์ และเครื่องปรับอากาศ และไทยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 19,528.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น น้ำมันดิบ เครื่องจักรกล และเคมีภัณฑ์.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password