สรรพากรโชว์จัดเก็บรายได้ Q1/68 เกินเป้า 5% เร่งขยายฐานภาษีหนุนเก็บ VAT โตพรวด 12%
อธิบดีกรมสรรพากร เผย! ผลจัดเก็บรายได้ภาษี 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 ยอดรวม 4.7 แสนล้านบาท เกินเป้า 3.9 พันล้านบาท โดยมีภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บเพิ่มขึ้น 12% เป็น “พระเอกตัวจริง” ตั้งเป้าขยายฐานภาษีดันมูลค่าเพิ่มโตเฉลี่ย 5,000 บาทต่อเดือน มั่นใจทั้งปีจัดเก็บภาษีส่งรัฐ 2.37 ล้านล้านบาท
นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2568 ว่า สามารถจัดเก็บรายได้ประมาณ 4.7 แสนล้านบาท เกินเป้า 3.9 พันล้านบาท จากประมาณการทั้งปีที่ 2.37 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มจากปีก่อน 5% ทั้งนี้ ความสำเร็จข้างต้นเป็นผลมาจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat 7%) เป็นหลัก โดยจัดเก็บได้มากกว่าร้อยละ 50 เป็นการจัดเก็บได้มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนราวร้อยละ 12 เนื่องจากกรมฯเร่งขยายฐานการจัดเก็บรายได้ภาษี ด้วยการเดินสายให้ความรู้ด้านภาษีแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจูงใจให้กลุ่มคนที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบภาษี หรือยังเสียภาษีไม่ถูกต้อง ได้เข้ามาอยู่ในระบบภาษี จึงทำให้การจัดเก็บรายได้ในไตรมาสแรกเกินเป้าหมายที่วางไว้
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว กรมสรรพากรเน้นการพัฒนาฐานภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหลัก แต่ในช่วงไตรมาสที่ 2/2568 จะเน้นพัฒนาการจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดา สำหรับพ่อค้าแม่ค้าซื้อมาขายไป และไตรมาสที่ 3/2568 จะพัฒนาภาษีนิติบุคคล โดยวิเคราะห์ความเหมาะสมในการเสียภาษี เนื่องจากบริษัทมีทั้งกำไรและบางบริษัทขาดทุนสะสม ก็ต้องเจาะลึกในรายละเอียดต่างๆ โดยใช้เทคโนโลยี AI มากขึ้น
“ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ พระเอกของกรมสรรพากร ซึ่งได้วางเป้าหมายให้จัดเก็บได้เพิ่ม เดือนละ 5 พันล้านบาท โดยต้องเพิ่มความรู้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจ เพื่อขยายฐานภาษีให้มากขึ้น เนื่องจากยังพบว่ายังมีภาคธุรกิจที่ไม่ได้เข้าระบบภาษีเป็นจำนวนมาก ส่วนจะมีการพิจารณาเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้นหรือไม่นั้น ทางกรมสรรพากรยังไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้ ยังคงเน้นขยายฐานผู้เสียภาษีเป็นหลักก่อน” อธิบดีกรมสรรพากร ระบุ
ส่วนแนวคิดที่รัฐบาลจะใช้ “คริปโต เคอเรนซี” เป็นเงินสกุลดิจิทัลในการซื้อสินค้าและบริการของชาวต่างชาติ โดยนำร่องทดลองใช้ในจังหวัดภูเก็ต เรื่องนี้ กรมสรรพสากรมีแผนจัดเก็บภาษีอย่างไร นายปิ่นสาย กล่าวว่า ก่อนจะจัดเก็บภาษีจะต้องมีการหารือทางธุรกิจให้จบก่อน เช่น ทุกหน่วยงานในจังหวัดภูเก็ต หน่วยงานที่กำกับดูแล (เรคกูเรเตอร์) ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงาน ก.ล.ต. จะต้องหารือให้ชัดเจน หลังจากนั้นทางกรมสรรพากรจึงจะเข้าไปดูแลเรื่องภาษีคริปโตฯ ซึ่งเข้าใจว่าในฝั่งของภาคธุรกิจน่าจะเริ่มเดินเครื่องระบบดังกล่าวไปบ้างแล้ว แต่กระบวนการยังไม่ถึงขั้นตอนการหารือร่วมกับกรมสรรพากร
สำหรับภาษีที่สนับสนุนตลาดทุนไทยนั้น อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า ที่ผ่านมา กรมฯได้ช่วยยกเว้นภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยอยู่แล้ว ซึ่งกองทุนรวมเพื่อการออมระยะยาว (Super Savings Funds: SSF) อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดเพื่อพิจารณาการต่ออายุ อย่างไรก็ตาม ตนยอมรับว่า กรมฯกำลังพิจารณาถึงความสำคัญของกองทุน SSF เนื่องจากกองทุนในกลุ่มนี้ หากเลิกไปมักจะเกิดการเทขายหุ้นทางเทคนิค ก็ต้องดูให้เกิดการซื้อกลับเข้าไป หากเป็นผู้ลงทุนสถาบัน ก็จะช่วยพยุงให้ตลาดหุ้นมันเสถียรมากขึ้น ซึ่งกองทุน SSFมีเกณฑ์การถือครอง 10 ปี มีวัตถุประสงค์การลงทุนต่างกับกองทุน ThaiESG เน้นสะสมการออมทรัพย์เพื่อการเกษียณ
สำหรับความร่วมมือในวันนี้ (9 ม.ค.) กับกรมบัญชีกลาง ในการดำเนินโครงการบูรณาการข้อมูลเงินได้และภาษีหัก ณ ที่จ่ายของข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และผู้รับบำเหน็จบำนาญ ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยายฐานภาษีไปยังกลุ่มเป้าหมายของกรมสรรพากรเช่นกัน.