‘พิชัย’ โชว์วิชั่นผ่านกลยุทธ์ทำงานปี’ 68 สานต่อนโยบายรัฐ หนุน ‘ธุรกิจ-เศรษฐกิจ-การค้าไทย’ เติบโตยั่งยืน
“รมว.พาณิชย์” ชูกลยุทธ์การทำงานปี 2568 สานต่อนโยบายรัฐบาล “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจการค้าไทย ยันธุรกิจต้องได้รับความเป็นธรรม เพื่อเติบโตยั่งยืน ตั้งเป้าดันไทยสู่ “คลังอาหารของโลก” รับแนวคิด Food Security ของนายกฯ หนุนต่างชาติที่ต้องการ มั่นใจ! พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ต่อยอดไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิต
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย กลยุทธ์การดำเนินงานในปี 2568 ว่า กระทรวงพาณิชย์ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” มุ่งเน้นให้เศรษฐกิจการค้าไทยเข้มแข็ง ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ยุคใหม่จะเน้นหลักการทำงาน “80 : 20” คือ 80% มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการและเกษตรกร และอีก 20% เน้นการกำกับดูแลเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางการค้า
โดยการสร้างความเข้มแข็ง เริ่มจากเกษตรกร ซึ่งเป็น “ผู้ผลิตต้นทาง” จะต้องมีรายได้ที่เหมาะสม โดยกระทรวงพาณิชย์จะดูแลราคาสินค้าเกษตรและผลักดันราคาเพื่อให้เป็นปีทองของสินค้าเกษตรไทย สำหรับ สินค้าที่ไทยเป็นผู้นำ อาทิ ข้าว โดยจะเปิดเสรีข้าว สนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กให้ส่งออกอย่างเต็มที่ รวมทั้งเพิ่มมูลค่าสินค้าโดยใช้ประโยชน์จากการรับรองคุณภาพและอัตลักษณ์ท้องถิ่น หรือ GI ด้วย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังตั้งเป้าที่จะเป็น “คลังอาหารของโลก” (Food Storage) ในการแก้ปัญหา Food Security ให้แก่ประเทศที่มีความต้องการ ตามแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) ซึ่งจะพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสและช่วยต่อยอดไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิต
สำหรับ ผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SMEs จะเน้นการปลดล็อกหรือปรับลดกฎระเบียบที่เป็นข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ และเสริมแกร่งโดยเสริมช่องทางการตลาดและเพิ่มมูลค่าสินค้าโดยการสร้าง Brand เสริมด้วย Soft Power ที่โดดเด่นของไทย ทั้งนี้ ได้สั่งการให้สร้าง Thailand Brand ให้เป็นเครื่องหมายการันตีคุณภาพสินค้าไทย สำหรับสินค้า SMEs ที่ยังไม่สามารถพัฒนา Brand เป็นของตัวเองได้ นอกจากนี้ ในส่วนของ ร้านอาหารไทย กระทรวงพาณิชย์เตรียมปรับโฉม Thai Select ให้สามารถใช้เป็นเครื่องหมายแสดงถึงคุณภาพแก่ร้านอาหารไทยทั้งในและต่างประเทศ
ส่วน ผู้ประกอบการที่พร้อมจะส่งออก กระทรวงพาณิชย์จะผลักดันการส่งออกและการค้าชายแดน โดยการบุกตลาดที่มีศักยภาพต่างประเทศ และเร่งเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะ EU เพื่อใช้เป็นเครื่องมือผลักดันเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ โดยส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเพื่อสร้างแต้มต่อให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งนี้ ในเดือนมกราคมนี้จะมีการลงนามความตกลง FTA ระหว่างไทยกับ EFTA ที่ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ซึ่งจะเป็น FTA ฉบับแรกที่ไทยลงนามกับประเทศในภูมิภาคยุโรป ในช่วงการประชุม World Economic Forum ที่ดาวอส อีกด้วย
ด้าน การสร้างความเป็นธรรม จะเน้นการกำกับดูแลให้ผู้บริโภคและเกษตรกรได้รับความเป็นธรรมด้านราคาและปริมาณสินค้า และการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์แล้ว จะมีการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เพื่อปกป้องผู้ประกอบการจากการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมและปกป้องผู้บริโภคคนไทยจากการที่จะต้องใช้สินค้าด้อยคุณภาพด้วย โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร สคบ. สมอ. และ DSI และ ด้านการเติบโตอย่างยั่งยืน กระทรวงพาณิชย์ส่งเสริมสินค้ารักษ์โลก ลดปัญหาโลกร้อนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และส่งเสริมการประกอบธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลและรับผิดชอบต่อสังคม
ทั้งนีั้ จากทิศทางและความมุ่งมั่นในการทำงานดังกล่าวข้างต้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มั่นใจว่า “กระทรวงพาณิชย์ยุคใหม่” จะเป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันเป้าหมาย MOC+ ให้เศรษฐกิจการค้าไทยเข้มแข็ง เป็นธรรม เติบโตอย่างยั่งยืนในปีนี้ ได้อย่างแน่นอน.