‘พิชัย’ นำถก ‘สวิส-นอร์เวย์’ เร่งปิดดีลกรอบ FTA – เอฟตา ภายในปีนี้ หวังเพิ่มมูลค่าการค้าไทย

“รมว.พาณิชย์” เดินหน้าเร่งปิดดีลกรอบ FTA “ไทย – เอฟตา” หลังหารือกับตัวแทนรัฐบาลสวิส นอร์เวย์ และสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป คาดสำเร็จภายในสิ้นปีนี้ มั่นใจ! ช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าให้กับไทยภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ ย้ำ! เอฟต้า โดดเด่นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ หนุนไทยทั้งด้านการค้าและการลงทุน พร้อมยกระดับการแข่งขันของไทยในเวทีโลก

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะ ผู้แทนรัฐบาลไทย หารือร่วมกับ นางเฮเลเนอร์ บุดลีเกอร์ ปลัดกระทรวงกิจการเศรษฐกิจของสมาพันธรัฐสวิส (สวิสเซอร์แลนด์) รวมถึง เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย  เอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย และ ผู้แทนสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) หรือ “เอฟตา” ซึ่งมีสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ เพื่อเร่งรัดการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับเอฟตาซึ่งอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเจรจาให้สามารถสรุปผลได้ตามเป้าหมายภายในสิ้นปี 2567 ที่ทั้งสองฝ่ายได้ตั้งใจไว้ร่วมกัน

นายพิชัย กล่าวว่า การเจรจา FTA กับเอฟตารอบล่าสุด คือรอบที่ 10 เมื่อเดือนสิงหาคม 2567 มีความคืบหน้าไปมาก แต่ยังคงเหลือประเด็นคงค้างบางประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายต้องหาข้อสรุปที่สามารถยอมรับร่วมกัน ซึ่งใน วันนี้ (19 ตุลาคม 2567) ได้นำทีมกระทรวงพาณิชย์หารือกับฝ่าย EFTA เพื่อเร่งรัดผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายหาข้อสรุปในประเด็นคงค้างและสามารถสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ การเจรจา FTA ไทย-เอฟตา เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่กระทรวงพาณิชย์พยายามเร่งผลักดัน เพื่อขยายโอกาสการค้าและการลงทุนของไทย เนื่องจากประเทศสมาชิกเอฟตาเป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีกำลังซื้อสูง และ FTA ฉบับนี้ ยังจะช่วยพัฒนายกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย เนื่องจากเอฟตามีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยซึ่งไทยสามารถมีความร่วมมือในการเสริมสร้างศักยภาพกับเอฟตาภายใต้ FTA ฉบับนี้

โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา เอฟตา เป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับที่ 16 ของไทย มีมูลค่าการค้ากับไทย 9,882.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.72 ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปเอฟตา 4,385.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากเอฟตา 5,497.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมี สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องใช้สำหรับเดินทาง

ส่วน สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ เนื้อสัตว์สำหรับบริโภค และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เป็นต้น.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password