กมธ.สภาฯ ทำหนังสือด่วน! ถึง นายกฯ คัดค้านการควบรวม “TRUE-DETAC”ชี้ ทำอุตฯ กระจุกตัว

กมธ.ยื่นหนังสือถึงนายกฯเบรกดีลควบรวมทรู-ดีแทค ระบุเพื่อป้องกันผู้ใช้บริการและผลประโยชน์ของชาติโดยรวมอนาคต ยันการควบรวมค่ายมือถือของทรู-ดีแทคทำดัชนีของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม กระจุกตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ประธานคณะกรรมธิการวิสามัญพิจารณาการศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และการการค้าปลีกค้าส่ง สภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด เลขที่ สผ 0018.11//2641 ลงวันที่ 20 เมษายน 2565 ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ชะลอการควบรวมธุรกิจระหว่างบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค)

ระบุว่า จากข้อมูลประเด็นต่าง ๆ คณะกรรมาธิการวิสามัญ ฯ พิจารณาแล้ว เห็นว่าหากมีการดำเนินการให้เกิดการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท TRUE และบริษัท DTAC ในห้วงเวลานี้ ขณะที่มีหลายประเด็นยังคงไม่ชัดเจน และมีข้อกังวลจากหลายฝ้าย ซึ่งอาจจะทำให้การรวมธุรกิจครั้งนี้เกิดผลเสีย หรือ ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ประชาชนผู้ใช้บริการและประเทศชาติโดยรวมในอนาคตได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน คณะกรรมาธิกรวิสามัญฯ จึงมีข้อเสนอมายังท่านในฐานะผู้บริหารสูงสุดของประเทศเพื่อพิจารณาขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้มีการชะลอการดำเนินการดังกล่าวออกไปก่อน จนกว่าจะมีข้อกฎหมาย ข้อมูลและแนวทางการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนว่าจะสามารถปกป้องประเทศชาติและประชาชนจากผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

พร้อมยกรัฐธรรมนูญพ่วงพ.ร.บ.กสทช.และพ.ร.บ.กิจการโทรคมนาคม กฎหมายห้ามการผูกขาด ร่วม 6 มาตรา ยัน กสทช.มีอำนาจ มีหน้าที่ในการตามกฎหมายในการพิจารณาอนุญาตการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC
กสทช. มีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาสั่ง “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” การควบรวมธุรกิจของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมมาตรา 60 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติไว้ว่า “รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน และ การจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะใช้เพื่อส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือเพื่อประโยชน์อื่นใด ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

ในการนี้ องค์กรดังกล่าวต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น ป้องกันมิให้คลื่นความถี่รบกวนกัน รวมตลอดทั้งป้องกันการกระทำที่มีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้หรือปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลหรือข่าวสารที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของประชาชน และป้องกันมิให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชนทั่วไป รวมตลอดทั้งการกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำที่ผู้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่จะต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

ประกอบกับ มาตรา 274 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดให้ กสทช. เป็นองค์กรของรัฐที่มีหน้าที่โดยตรงในการรับผิดชอบและกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่

นอกจากนี้ ตามหมวด 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ว่าด้วย “แนวนโยบายแห่งรัฐ” มาตรา 75 วรรคแรก ยังได้บัญญัติไว้อีกว่า “รัฐพึงจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประชาชนและประเทศ”

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password