ปลัดแรงงาน วอนภาคเอกชนใจเย็น 13 พ.ค.นี้ หารือค้านปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 400 บาท

ปลัดแรงงาน วอนภาคเอกชนใจเย็น นัดประชุม คณะกรรมการค่าจ้าง 13 พ.ค.นี้ หารือถึงปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 400 บาท รวมถึงถกประเด็น หอการค้า และ สมาคมการค้า ยื่น 4 ข้อเสนอคัดค้านการขึ้นค่าแรงทันทีทั่วประเทศ
จากกรณีที่มี 76 หอการค้า และ 53 สมาคมการค้า ค้านขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ เนื่องจากการขึ้นค่าแรงดังกล่าว ถือว่า เกินกว่าพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคม จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทันทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยจะมีการรวบรวมความเห็นจากสมาคมการค้าส่งให้รมว.แรงงาน วันที่ 13 พ.ค.นี้

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน และ ประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 กล่าวถึงกรณี76หอการค้า และ 53 สมาคมการค้า รวมตัวกันคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทว่า ทางกระทรวงแรงงาน และคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ยินดีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งกลุ่มภาคเอกชนที่ไม่เห็นด้วย ก็ต้องมาพิจารณาว่า มีข้อเสนอ หรือ ประเด็นอะไรบ้าง และต้องแยกตามประเภทกิจการ ว่ากิจการประเภทไหนพร้อมปรับขึ้นค่าแรง/ไม่ปรับขึ้น หรือมีปัญหาในเรื่องนี้ โดยในวันที่ 13 พ.ค.นี้ จะพิจารณาข้อเสนอทั้งหมด ดังนั้น อยากให้ทุกภาคเอกชนใจเย็น รอผลการพิจารณาว่าจะดำเนินการเช่นใด

“การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ ทุกกิจการ ในวันที่ 1 ต.ค.2567 นี้ หากมีภาคเอกชน หรือผู้ประกอบการกลุ่มใดไม่เห็นด้วย หรือมีข้อเสนอแนะอย่างไร ทางคณะกรรมการค่าจ้างฯ พร้อมรับฟังความคิดเห็น และดูผลกระทบที่เกิดขึ้นในแต่ละกิจการ ซึ่งหากธุรกิจ SMEs ใดยังไม่พร้อม ต้องได้รับการช่วยเหลือก็ต้องดูความเหมาะสม และความพร้อมของแต่ละกิจการร่วมด้วย “ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้าน รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ จะเป็นการกระชาก ค่าจ้างสูงขึ้นไป จากนโยบายจากการหาเสียง ไม่ใช่ปรับค่าแรงตามกลไกที่ควรจะเป็น ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการและเศรษฐกิจประเทศเหมือนกับการกระชากปรับขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ เมื่อปี 54

ทั้งนี้ บทพิสูจน์ออกมาชัดเจนว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำตามสภาพเศรษฐกิจ การตกลงระหว่างรัฐ แรงงานและนายจ้าง เห็นพ้องต้องกันว่าปรับไปตามภาวะของเศรษฐกิจในพื้นที่ และความต้องการของตลาดแรงงานในแต่ละจังหวัด นี่คือหลักการ ดังนั้นการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศอีกหนึ่งครั้ง คือการกระชากด้วยนโยบายของการหาเสียง ไม่ใช่เป็นหลักธรรมชาติของการปรับไปตามกลไกลทางธุรกิจ หรือการจ้างงานที่ควรจะเป็น

ขณะที่ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่านโยบายค่าแรงขั้นต่ำทันที 400 บาท ส่งผลให้ผู้ประกอบการ มีความกังวลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลผสม ที่อาจทำให้การขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ขาดความเป็นเอกภาพ อีกทั้ง ยังกังวลนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต อาทิ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และนโยบายด้านพลังงานที่เป็นการปรับลดลงและช่วยได้ในระยะสั้น แต่ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องการปรับโครงสร้างพลังงานของประเทศ

ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศทุกกิจการ ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ซึ่งหากขึ้น 400 บาททันที ลูกจ้างดีใจ แต่ผู้ประกอบการ ที่ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวต้องมีต้นทุนการจ้างที่เพิ่มขึ้นกว่า 30% สุดท้ายอาจนำไปสู่การเลิกกิจการและเลิกจ้าง การขึ้นค่าแรงทันทีจึงเป็นการแก้ปัญหาหนึ่งแต่ไปสร้างปัญหาใหม่ ฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลจะทำได้ทันทีโดยไม่สร้างผลกระทบใคร คือ มาตรการลดค่าครองชีพ เพื่อเพิ่มเงินในกระเป๋าและเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมทั้งการใช้มาตรการเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบให้เกิดการกระตุ้นการใช้จ่าย อาทิ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

สำหรับข้อเสนอของหอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น มี 4 ข้อเสนอต่อนโยบายการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล ประกอบด้วย 1. การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำประจำปีควรปรับตามที่กฎหมายบัญญัติกำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ส่วนการยกระดับรายได้ลูกจ้างให้สูงขึ้น ก็สามารถทำได้โดยกำหนดอัตราค่าแรงตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งกฎหมายบัญญัติกำหนดไว้แล้วเช่นกัน

2.ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยไม่คำนึงถึงผลการศึกษาและการรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าแรงขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) อีกทั้ง ปัจจุบัน รัฐบาลได้ดำเนินการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2567 ไปแล้ว 2 ครั้ง จึงไม่ควรมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีเป็นครั้งที่ 3

3.อัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็นเพียงอัตราค่าจ้างของแรงงานแรกเข้าที่ยังไม่มีฝีมือ แต่การปรับอัตราจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานดังนั้น รัฐบาลควรเร่งส่งเสริมมาตรการทางภาษี ลดอุปสรรคต่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงาน ให้ความสำคัญกับการ UP-Skill & Re-Skill และ New Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity)

    4.การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรให้มีการรับฟังความคิดเห็น และศึกษาถึงความพร้อมของแต่ละพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ รวมทั้งควรให้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจก่อนปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ดังกล่าว.

    Login

    Welcome! Login in to your account

    Remember me Lost your password?

    Lost Password